The Black Swan ตอนที่ 10 – แก้เผ็ดหงส์ดำ

20200705

ตอนที่แล้วเราคุยกันไปแล้วว่ากราฟระฆังคว่ำหรือ Bell Curve นั้น จะใช้งานได้เฉพาะใน Mediocristan เท่านั้น (ดินแดนที่ค่าเฉลี่ยเป็นใหญ่) แต่หากนำมาใช้ใน Extremistan ที่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ กราฟระฆังคว่ำจะเป็นเครื่องมือที่ไม่มีความหมายไปในทันที

ปัญหาก็คือนักเศรษฐศาสตร์และนักวางแผนการเงินนั้นยังใช้ Bell Curve ในการประเมินความเสี่ยงของการลงทุนอยู่เลย แล้วประชาชนตาดำๆ ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็เอาเงินที่เก็บมาทั้งชีวิตไปฝากไว้กับ “ผู้เชี่ยวชาญ” เหล่านี้เพราะเชื่อว่ากองทุนนี้ “ความเสี่ยงต่ำ”

ถ้าตลาดหุ้นและตลาดทุนใช้ Bell Curve ในการประเมินความเสี่ยงได้จริง เหตุการณ์อย่าง market crash ซึ่งตัวเลขหลุดออกจากค่าเฉลี่ยไปไกลถึง 20 standard deviations จะเกิดขึ้นได้แค่หนึ่งครั้งในรอบหลายพันล้านปีเท่านั้น

การใช้ Bell Curve ผิดที่ผิดทางของบรรดา “ผู้เชี่ยวชาญความเสี่ยง” จึงทำให้เรามักประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าความเป็นจริง เหมือนกำลังพาตัวเองไปนั่งบนกองระเบิดไดนาไมต์แล้วพอมันระเบิดขึ้นมาเราก็แปลกใจและคิดว่ามันเป็น Black Swan

ถ้าคุณกำลังจะซื้อกองทุนแล้วอ่านเจอคำอธิบายอย่าง sigma, standard deviation, variance, correlation, และ Sharpe ratio ให้ระวังตัวไว้เลยว่ากองทุนนั้นกำลังใช้ Bell Curve ในการประเมินความเสี่ยงอยู่

—–

เรียนรู้จากผู้ใหญ่

ผู้ใหญ่นั้นผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ได้พบเจอ Black Swans มาหลายตัวแต่ก็ยังรอดมาได้ ดังนั้นเราจึงควรฟังและเรียนรู้จากเขาให้มากๆ

และ “ผู้ใหญ่” ที่มีอายุยืนยาวที่สุดก็คือ “ธรรมชาติ” หรือ Mother Nature นั่นเอง ถ้าธรรมชาติไม่แน่จริงโลกนี้คงสิ้นสลายไปนานแล้ว

เรื่องแรกที่เราเรียนรู้จากธรรมชาติได้ ก็คือธรรมชาตินั้นจะมี redundancy หรือการมีมากเกินความจำเป็นเสมอ

ลองดูร่างกายมนุษย์ก็ได้ เรามีตาสองดวง หูสองหู ปอดสองข้าง ไตสองไต แม้กระทั่งสมองก็มีสองซีก (อาจจะยกเว้นผู้บริหารหรือนักการเมืองบางคน) ทั้งๆ ที่ตาดวงเดียวก็มองเห็นได้ ไตอันเดียวก็มีชีวิตอยู่ได้ แต่ธรรมชาติก็ยังเลือกที่จะมี “อะไหล่” เผื่อเอาไว้แม้ว่ามันจะต้องสิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้นก็ตาม

สิ่งที่ตรงข้ามกับ redundancy คือ naive optimization หรือการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างไร้เดียงสา

ถ้ามองด้วยเลนส์ของนักเศรษฐศาสตร์ การมีปอดสองข้างและมีไตสองไตนี่มันช่างไม่มีประสิทธิภาพเอาเสียเลย การมีอวัยวะเพิ่มขึ้นมาสองชิ้นในร่างกายทำให้การเดินทางในทุ่งสะวันนาของ Sapiens ยุคบุกเบิกนั้นต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอีกไม่รู้เท่าไหร่

ถ้ามองด้วยเลนส์ของนักเศรษฐศาสตร์เราไม่จำเป็นต้องมีไตก็ได้ ขายมันทิ้งซะ แล้วค่อยใช้ไตส่วนกลางแบบ sharing economy หรือตอนกลางคืนที่เรานอนหลับเราก็ให้คนอื่นยืมดวงตาเราไปใช้ก็ได้

ยกตัวอย่างที่ดูสุดโต่งให้เห็นเพื่อจะบอกว่า optimization ไม่ได้นำมาซึ่งผลดีเสมอไป ประเทศไหนที่ specialize ในด้านใดด้านหนึ่งเกินไป หากราคาของสิ่งนั้นตก ประเทศก็จะทรุดไปด้วยทันที

การมีหนี้ก็เช่นกัน หลักสูตร MBA มักจะให้เราเอาเงินไปต่อเงิน กู้หนี้ยืมสินเพื่อนำไปทำธุรกิจ นี่ก็เป็นวิธีการมองแบบ optimization แต่ถ้าเป็นคุณย่าของเรา เขาจะบอกให้เรามีเงินเย็นมากพอที่จะอยู่ได้นานเป็นปีๆ ก่อนที่เราคิดจะทำอะไรก็ตามที่เสี่ยงๆ (ซึ่งสอดคล้องกับยุทธการ Barbell ที่กล่าวถึงในสองบทที่แล้วที่ผู้เขียนให้เรามีเงินสดอยู่ในมือไว้มากๆ แล้วกันเงินส่วนน้อยไปลงทุนกับเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงไปเลย)

อีกสิ่งหนึ่งที่ Mother Nature สอนเราก็คือมันไม่เปิดโอกาสให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีขนาดใหญ่มากเกินไปหรือมีอิทธิพลต่อระบบมากเกินไป

สัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็คือช้าง แต่ถ้าช้างโดนฆ่าสักตัวสองตัว มันก็ไม่ได้ทำให้ระบบนิเวศพังไปด้วย

แต่มนุษย์กลับปล่อยให้ธนาคารบางเจ้าใหญ่เกินไป พอธนาคารใหญ่ๆ อย่าง Lehman Brothers ล้ม ก็เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ส่งผลกระทบลุกลามเศรษฐกิจไปทั่วประเทศ

——

แก้เผ็ดหงส์ดำ

ผมเป็นคนขี้สงสัยในเรื่องที่ผู้คนเชื่อเอาง่ายๆ (I am skeptical when others are gullible) และเป็นคนเชื่อง่ายในเรื่องที่คนอื่นสงสัย

ผมขี้สงสัยเวลาความ random นั้นรุนแรง แต่หากความ random นั้นต่ำ (mediocristan) จะเป็นคนเชื่อง่ายก็ไม่เป็นไร

การมีข้อมูลมากมายไม่ได้ช่วยให้เราแน่ใจว่าอะไรถูกต้องอย่างแน่แท้ เพราะข้อมูลค้านแค่เพียงชิ้นเดียวก็ทำให้เรื่องที่เคยเชื่อกลับตาลปัตรได้แล้ว

กับหลายๆ เรื่องจง convervative ให้สุดโต่ง แต่กับบางเรื่องจง aggressive ให้สุดทางเช่นกัน ผมจะ conservative ในเรื่องที่คนอื่นๆ บอกให้เสี่ยง และจะ aggressive กับเรื่องที่คนอื่นๆ บอกว่าให้ระวัง

ผมเป็นกังวลกับ “หุ้นที่อนาคตสดใส” โดยเฉพาะหุ้น “blue chip” ที่ฟังดูปลอดภัย ในขณะที่ผมไม่กังวลกับหุ้นปั่นเท่าไหร่เพราะผมรู้อยู่แล้วว่ามันเสี่ยงและผมสามารถวางเกมเพื่อจำกัดความเสี่ยงได้ แต่หุ้น blue chip นั้นมากับความเสี่ยงที่ผมไม่อาจมองเห็น

ผมไม่ห่วงการก่อการร้ายมากเท่าโรคเบาหวาน และเอาเข้าจริงๆ ผมไม่ได้กังวลเรื่องอะไรมากมายนักนอกจากเรื่องที่ผมพอจะควบคุมได้เท่านั้น

ผมมีกฎในการตัดสินใจเพียงง่ายๆ เพียงข้อเดียว นั่นคือผมจะ aggressive หรือกล้าเสี่ยงมากๆ หากรู้ว่ามีโอกาสจะเจอ Positive Black Swans (หงส์ดำที่เป็นคุณ) และรู้ว่าแม้จะคาดการณ์ผิดก็ยังจำกัดความสูญเสียเอาไว้ได้

ในทางกลับกัน ผมจะสุดยอด conservative ในบริบทที่รู้ว่าผมอาจมีความเสี่ยงที่จะเจอ Negative Black Swan

ถ้าความผิดพลาดในการทำนายอาจส่งผลเป็นคุณ ผมพร้อมจะกล้าเสี่ยง แต่หากความผิดพลาดอาจส่งผลเป็นลบผมก็จะพารานอยด์เป็นพิเศษ

ฟังแล้วอาจจะไม่ได้ดูหวือหวาอะไร แต่นี่แหละคือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ทำกัน

—–

อย่ากลัวตกรถไฟ

ผมเคยได้รับคำแนะนำที่เปลี่ยนชีวิตของผม เป็นเพื่อนร่วมห้องตอนเรียนอยู่ที่ปารีสชื่อ Jean-Olivier Tedesco

ตอนเห็นผมกำลังจะวิ่งไปขึ้นรถไฟใต้ดิน เขาพูดว่า

“I don’t run for trains” – ผมไม่รีบวิ่งไปขึ้นรถไฟหรอกนะ

ดูแล้วเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันก็ติดตัวผมเรื่อยมา เมื่อผมปฏิเสธที่จะวิ่งเพื่อไปขึ้นรถไฟให้ทัน ผมก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจเหนือตารางเวลาและชีวิตของผม

การตกรถไฟจะเจ็บปวดก็ต่อเมื่อคุณพยายามวิ่งไปขึ้นมันให้ทันเท่านั้น

เช่นเดียวกัน การไม่ได้ดำเนินชีวิตบนเส้นทางที่สังคมว่าดีมันจะเจ็บปวดก็ต่อเมื่อคุณพยายามไปทำตามความคาดหวังของคนอื่นเท่านั้น

อย่าไปกลัวตกรถไฟเพียงเพราะคนอื่นๆ ต่างก็กระเสือกกระสนไปขึ้นรถไฟขบวนนั้น

เลือกให้ดีว่าจะเล่นเกมไหน แล้วโอกาสแพ้คุณจะน้อย

—–

คำทิ้งท้าย

ไอเดียต่างๆ ที่ผมได้เล่ามา ข้อจำกัดของความรู้ โอกาสอันมหาศาลและความเสี่ยงอันโหฬารนั้นแทบไม่มีความหมายเมื่อเราคำนึงถึง “ภาพใหญ่”

ผมอดแปลกใจไม่ได้ที่เห็นคนบางคนอารมณ์เสียไปทั้งวันเพราะกับข้าวไม่อร่อย กาแฟชืดเกินไป หรือโดนใครพูดจาไม่ดีใส่

เรามักลืมไปว่า “การได้มีชีวิตอยู่” เป็นเรื่องโชคดีขนาดไหน

ลองนึกถึงละอองฝุ่นเทียบกับดาวเคราะห์ที่ใหญ่กว่ามันนับพันล้านเท่า ขนาดของละอองฝุ่นนั้นคือความน่าจะเป็นที่คุณจะได้เกิดมา และขนาดของดาวเคราะห์คือความน่าจะเป็นที่คุณจะไม่ได้มานั่งอยู่ตรงนี้

ดังนั้นอย่าไปเอาเป็นเอาตายกับเรื่องเล็กน้อย อย่าเป็นคนที่เพิ่งได้รับของขวัญเป็นพระราชวังแต่กลับขุ่นใจกับรอยเปื้อนบนอ่างล้างหน้า

ขอให้ระลึกไว้เสมอว่าตัวคุณเองก็คือ Black Swan เช่นกัน

—จบบริบูรณ์—


ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ตามอ่านบทสรุปทั้ง 10 ตอนจากหนังสือ The Black Swan ครับ!

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ The Black Swan – The Impact of the Highly Improbable โดย Nassim Nicolas Taleb

The Black Swan ตอนที่ 1 – โควิดเป็นหงส์ดำรึเปล่า
The Black Swan ตอนที่ 2 – ความเปราะบางของความรู้
The Black Swan ตอนที่ 3 – ไก่งวงหน้าโง่
The Black Swan ตอนที่ 4 – อันตรายของ “story”
The Black Swan ตอนที่ 5 – หลักฐานอันเงียบงัน
The Black Swan ตอนที่ 6 – โยนเหรียญเสี่ยงทาย
The Black Swan ตอนที่ 7 – บิลเลียดสุดขอบจักรวาล
The Black Swan ตอนที่ 8 – ยุทธการ Barbell
The Black Swan ตอนที่ 9 – Bell Curve เจ้าปัญหา

สรุปหนังสือ Sapiens – A Brief History of Humankind by Yuval Noah Harari (20 ตอน)

สรุปหนังสือ Brave New Work by Aaron Dignan (15 ตอน)

“ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมที่ว่าด้วยการค้นหาสิ่งที่สำคัญกับเราอย่างแท้จริง มีขายที่ whatisitpress.com ครับ อ่านรายละเอียดได้ที่ bit.ly/eitrfacebook และอ่านรีวิวได้ที่นี่ครับ markpeak.net/elephant-in-the-room/