ผมเป็นคนที่น้ำหนักคงเส้นคงวามาก
ช่วงปี 2541-2559 ผมน้ำหนัก 60 กิโล บวกหรือลบ 2 กิโล มาตลอด เคยพยายามจะเพิ่มน้ำหนักด้วยการกินเยอะๆ แต่ก็ทำไม่เคยสำเร็จซักที
จนเมื่อปลายปีที่แล้วไม่มีเวลาออกกำลังกาย บวกกับอายุที่มากขึ้น น้ำหนักเลยขึ้นมาประมาณ 62 กิโลนิดๆ เมื่อตอนต้นปีเลยตั้งเป้าว่าอยากจะหนักซัก 65 กิโลกรัมด้วยการเล่นเวท ทานเวย์โปรตีน และกินไข่วันละ 2 ฟองไปด้วย
แต่เล่นไปได้ซักประมาณ 2 เดือนก็ตัดสินใจหยุดเล่นเวทไป เพราะเกิดอาการปวดหัวจี๊ดๆ ที่ยาวนานเป็นชั่วโมง (คนละอาการกับที่ผมเล่าถึงเมื่อวานนี้) พอหยุดเล่นเวทอาการปวดหัวนี้ก็หายไป
แต่สงสัยเวย์โปรตีนยังทำงานได้ดี แถมที่ออฟฟิศก็มีขนมให้กินเยอะมาก น้ำหนักก็เลยขึ้นเอาๆ จนปลายเดือนกรกฎาคมผมน้ำหนัก 69 หรือขึ้นมา 7 กิโลภายในเวลา 7 เดือน กางเกงสแล็คทุกตัวคับจนต้องแขม่วท้องเวลาใส่สูทไปงานแต่งงานต้องลุ้นตลอดว่าซิปจะแตกรึเปล่า
แต่แม้จะน้ำหนักมากที่สุดในชีวิต แต่ผมไม่เคยรู้สึกกลัวเลยซักนิดว่าจะกลายเป็นคนอ้วน
ผมก็เลยยังกินขนมขบเคี้ยวเหมือนเดิม เพียงแต่อาจลดปริมาณลงบ้าง ส่วนตอนเย็นถ้าไม่หิวก็จะไม่กินอะไรหนักๆ บางทีแค่โยเกิร์ตและผลไม้ก็พอแล้ว
หนึ่งเดือนที่ผ่านมา น้ำหนักเลยลดจาก 69 มาอยู่ที่ 67 กิโลกรัม
แล้วผมก็ได้ตระหนักว่า ไอ้ความมั่นใจที่มันฝังรากลึกว่า “ยังไงเราก็ไม่ใช่คนอ้วน” นี่แหละ ที่ทำให้ผมลดน้ำหนักได้โดยที่แทบไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย
—–
เราคงเคยได้ยินได้ฟังเรื่องของเศรษฐีที่เคยล้มละลาย แต่ก็กลับมาตั้งต้นได้ใหม่และบางทีก็รวยยิ่งกว่าเดิม
หรือเราอาจจะมีเพื่อนบางคนที่หน้าตาไม่ได้หล่อเหลาอะไรเลย แต่ควงสาวสวยตลอด
และอาจจะมีเพื่อนสาวบางคนที่ต่อให้กินให้ตายยังไงก็ไม่อ้วน
ผมมีสมมติฐานว่าสามคนนี้อาจมีอะไรเหมือนกัน นั่นคือ self-image หรือ “ภาพของตัวเองที่อยู่ในหัว” ที่มันชัดมากเสียจนเขามั่นใจว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาก็ยังสามารถทำสิ่งที่อยู่ในหัวให้กลายเป็นความจริงได้
เศรษฐีก็มี self-image ของเศรษฐี ต่อให้เจอสถานการณ์เลวร้ายแค่ไหน เขาก็ยังกลับมารวยใหม่ได้
เพื่อนที่หน้าตาไม่ดีคนนั้น ก็คงมี self-image ว่าตัวเองเป็นคนที่มีเสน่ห์ และการที่เขามีแฟนสวยๆ มาหลายคนมันก็ทำให้เขายิ่งเชื่อมั่นเข้าไปอีกว่าเขามีดีพอที่จะหาแฟนสวยๆ ได้ตลอด
ส่วนเพื่อนที่กินอะไรก็ไม่อ้วน ก็เพราะเขามี self-image ของคนที่กินอะไรก็ไม่อ้วนอยู่นั่นเอง
ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงสมมติฐาน เป็นการเดาของผมล้วนๆ ไม่มีวิทยาศาสตร์อะไรมารองรับนะครับ
เพียงแต่ผมคิดว่ามันน่าสนใจอยู่สองประเด็น
ประเด็นที่หนึ่ง ถ้า self-image เราชัดมาก ความมั่นใจที่ฝังรากลึกมันจะเป็นตัวขับเคลื่อนการกระทำของเราเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับ self-image นั้นเสมอ
ไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบ
คนที่คิดว่าตัวเองไม่มีเสน่ห์ จึงหาแฟนไม่ได้ร่ำไป
คนที่คิดว่าตัวเองหัวไม่ดี ก็จะยอมจำนนและไม่ขวนขวาย จนเขาไม่ก้าวหน้าซักที
คนที่คิดว่าตัวเองมีเงินไม่เคยพอใช้ ก็จะไม่เคยมีเงินพอใช้จริงๆ ต่อให้หามาได้เท่าไหร่ก็ตาม
ประเด็นที่สอง คือเราสามารถ transfer ความมั่นใจในด้านหนึ่งของชีวิตมาสู่อีกด้านหนึ่งของชีวิตได้รึเปล่า?
ผมเชื่อว่าทุกคนจะมี “ความมั่นใจลึกๆ” อย่างน้อย 3 เรื่อง และจะมีความ “ไม่มั่นใจเอาซะเลย” อีกอย่างน้อย 3 เรื่อง
สมมติว่านายเอเป็นคนพูดหน้าชั้น (public speaking) ไม่เก่งเลย ถึงเวลาต้องพรีเซนต์ทีไรก็จะตัวสั่นมือเย็น ขึ้นไปพูดก็ตะกุกตะกักลืมโน่นลืมนี่ แก้อย่างไรก็ไม่หายซักที
ขณะเดียวกันนายเอกลับเป็นคนที่เตะบอลเก่งมาก เวลาอยู่ในสนามนายเอจะมีเพลย์เมกเกอร์ที่ทุกคนคอยแต่จะส่งบอลให้ และเป็นคนส่งบอลทะลุช่องให้เพื่อนได้ยิงเสมอๆ
คำถามคือถ้านายเอกำลังจะออกไปพรีเซนต์ แต่คิดเสียว่าตัวเองกำลังจะก้าวลงสนามบอลในฐานะเพลย์เมกเกอร์ เขาจะมีความมั่นใจมากขึ้นมั้ย? จะประหม่าน้อยลงรึเปล่า? จะพูดได้ดีขึ้นรึเปล่า?
ผมว่ามันต้องช่วยบ้างแหละ
อีกครั้ง นี่เป็นสมมติฐานล้วนๆ อาจจะผิดก็ได้ อาจจะถูกก็ได้ แต่ผมจะลองนำไปทดลองใช้ดู เลยอยากชวนคุณผู้อ่านมาร่วมพิสูจน์นะครับ
เพราะถ้าทำได้จริง มันอาจเปลี่ยนชีวิตเราได้เลยนะครับ
—–
ขอบคุณคุณผู้อ่านที่อุดหนุนหนังสือเล่มแรกของผม “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” จนตอนนี้ติดอันดับ Bestseller ของซีเอ็ดครับ (https://goo.gl/e326HZ) หากใครยังไม่ได้จับจอง ยังสามารถหาซื้อได้ที่ซีเอ็ด นายอินทร์ คิโนะคุนิยะ เอเชียบุุ๊คส์ บีทูเอส ศูนย์หนังสือจุฬา หรือสั่งตรงกับผมก็ได้ครับ อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ครับ bit.ly/tgimannounce