โกวเล้งเคยกล่าววาทะหนึ่งที่ผมชอบมาก
“ข้าพเจ้ามิได้นิยมชมชอบในรสชาติของสุรา แต่ข้าพเจ้าชอบบรรยากาศของการร่ำสุรา”
หลายคนชอบดื่มเหล้าเพื่อให้รู้สึก “กรึ่มๆ” เพราะมันทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้น กล้าพูดคุยมากขึ้น อารมณ์ดีขึ้น พร้อมจะสนุกมากขึ้น
เรานึกว่าอารมณ์ที่ดีขึ้นนี้เกิดจากแอลกอฮอล์ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ซะทีเดียว มันเกิดจากการหลั่งของโดพามีนในสมองต่างหาก
จะกรึ่มหรือไม่ (being high) ขึ้นอยู่กับ “ความเร็ว” ของแอลกอฮอล์ที่เข้าสู่สมอง
ส่วนจะเมาหรือไม่ (being drunk) ขึ้นอยู่กับ “ปริมาณ” ของแอลกอฮอล์ในร่างกาย
แต่คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่าความสุขและความสนุกเกิดจากปริมาณของแอลกอฮอล์ แค่ดื่มนิดเดียวยังสนุกขนาดนี้ ถ้าดื่มมากกว่านี้จะสนุกขนาดไหน ก็เลยเติมเหล้าเข้าไปอีก แต่การทำแบบนี้สุดท้ายแล้วโดพามีนจะหยุดหลั่ง ความกรึ่มจะหายไป และเราจะเข้าสู่สภาวะ “เมา” ซึ่งต่างจากสภาวะกรึ่มโดยสิ้นเชิง นั่นคือสมองทำงานช้าลง มีอาการเซื่องซึม พูดจาไม่ได้ศัพท์ อวัยวะทำงานไม่ประสานกัน แทนที่จะสนุกกลับกลายเป็นทรมาน พออาการหนักเข้าก็ต้องไปนั่งกอดคอกับโถส้วม
ดังนั้น ถ้าอยากมีบรรยากาศจากการร่ำสุราที่ดีอย่างที่โกวเล้งว่าไว้ เราควรดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอลเข้มข้น (เช่นค็อกเทล) เพื่อให้มันเข้าสู่สมองอย่างรวดเร็วจนโดพามีนหลั่ง แต่ควรดื่มเพียงเล็กน้อยเพื่อให้เราสนุกได้โดยไม่ต้องทุกข์ทนกับความเมามายในภายหลังครับ
ป.ล.ปกติผมเป็นคนไม่ดื่มเหล้า นานๆ ถึงจะดื่มที นี่จึงไม่ใช่บทความที่ชี้ชวนให้มาดื่มเหล้ากันเถอะ แค่จะบอกว่าถ้ามันถึงโอกาสที่ต้องดื่มจริงๆ เราก็ควรจะดื่มอย่างมีความรู้เท่านั้นเอง
ป.ล.2 โกวเล้งเสียชีวิตด้วยโรคตับแข็ง
ขอบคุณเนื้อหาส่วนใหญ่จากหนังสือ The Molecule of More โมเลกุลแห่งความพอใจที่ไม่พอจริง Daniel Z. Lieberman, MD และ Michael E. Long เขียน นที สาครยุทธเดช แปล สำนักพิมพ์ Sophia