ความทุกข์ของลูกคนรวย

Blythe Grossberg เป็นผู้เขียนหนังสือ I Left My Homework in the Hamptons: What I Learned Teaching the Children of the One Percent

The One Percent ในที่นี้หมายถึงคนที่รวยระดับ Top 1% ของโลก

Grossberg เล่าถึงชีวิตการเป็นติวเตอร์ให้กับกลุ่มอีลีท (elite) ในย่านแมนฮัตตัน ที่แสดงให้เห็นว่าความร่ำรวยแบบสุดโต่งนั้นมีผลต่อเด็กๆ อย่างไรบ้าง

“เบน” พักอยู่ในโรงแรมห้าดาวและสั่งอาหาร room service ทุกมื้อ

“โอลิเวีย” สะสมรองเท้าผ้าใบแบรนด์หรูที่เคยถูกสวมใส่โดยเหล่าดารา

“ดาโกต้า” ขึ้นเครื่องบินไปกรุงโรมเพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญกับดราม่าที่โรงเรียน

นี่คือความเป็นไปของครอบครัวที่มั่งคั่งที่สุดในนิวยอร์ค ที่ความเป็นเลิศทางวิชาการต้องมาก่อน ความร่ำรวยไม่ได้ช่วยให้ลดความกังวล และพ่อแม่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกได้เข้ามหาวิทยาลัย Ivy League อย่าง Harvard, Yale, และ Princeton

หลังจากได้ติวลูกหลานในครอบครัวเหล่านี้ สิ่งที่ Grossberg ได้ค้นพบมีดังนี้ครับ

  • เด็กๆ มีตารางเวลาที่แน่นราวกับ CEO ที่แต่ละวันเริ่มต้นด้วยการซ้อมตีสควอชตอนตี 5 และจบลงด้วยการติวหนังสือตอนดึกดื่น เพราะการทำกิจกรรมเยอะๆ นั้นจะเป็นแต้มต่อสำหรับการได้รับการพิจารณาเข้ามหาลัยระดับท็อป
  • เด็กหลายคนมีความเครียดและอาการซึมเศร้าจนบางทีต้องหันไปพึ่งยาหรือของมึนเมา
  • พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า เพราะไม่คิดว่าจะสามารถ contribute อะไรได้อีก เพราะพ่อแม่เองก็ได้เตรียมทุกอย่างไว้ให้หมดแล้ว
  • พ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ให้ความสำคัญกับ “ความสำเร็จ” มาก มากเสียยิ่งกว่าความผูกพันทางใจ (emotional connection) แต่สิ่งที่เด็กต้องการจากพ่อแม่คือ emotional connection ที่พวกเขาแทบไม่เคยได้รับจากพ่อแม่
  • พ่อแม่ของเด็กกลัวว่าชีวิตในวันข้างหน้ามันจะเป็น zero-sum game คือถ้ามีคนได้ประโยชน์ก็จะต้องมีคนเสียประโยชน์ ดังนั้นพ่อแม่จึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกได้อยู่ในฝั่งที่จะได้ประโยชน์

แล้วเราจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้อย่างไร?

สิ่งที่ Grossberg ลองแล้วได้ผล คือให้เด็กกลุ่มนี้ได้ไปพบเจอกับคนที่ “อยู่นอกแวดวง” ให้รู้จักกับชีวิตของคนที่ไม่ได้โชคดีเท่าพวกเขา

เด็กๆ เคยไปอาสาช่วยงานที่ศูนย์เปลี่ยนสัญชาติ (citizenship center) เพื่อช่วยให้คำแนะนำกับคนร้อยพ่อพันแม่ว่าหากอยากจะเปลี่ยนมาใช้สัญชาติอเมริกันจะต้องทำอะไรบ้าง

หลังจากจบงานนั้น เด็กๆ มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เด็กคนหนึ่งที่ได้ที่โหล่ของห้องพบว่าตัวเองเป็นคนที่อธิบายได้ดีและน่าจะเป็นครูได้ ส่วนเด็กอีกคนที่ตอนแรกจะเลิกเรียนภาษาสเปนก็ค้นพบว่าตัวเองพูดสเปนได้คล่อง และช่วยเหลือชาวต่างชาติที่พูดภาษาสเปนได้เป็นอย่างดี


บทความนี้อาจจะดูเหมือนไม่ได้เกี่ยวกับคนไทยหรือผู้อ่าน Anontawong’s Musings เท่าไหร่นัก เพราะพวกเราเองคงไม่ใช่ Top 1%

แต่มีอย่างน้อยสามแง่คิดที่ผมได้จากเรื่องราวนี้

หนึ่ง แม้จะไม่ใช่ Top 1% แต่เราเองก็อาจจะมีแนวโน้มที่จะให้คุณค่ากับ “ความสำเร็จ” โดยเฉพาะความสำเร็จในหน้าที่การงาน จนไม่ค่อยเหลือแรงและเวลามาสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนที่เรารักมากที่สุด

สอง ลูกของเรานี่ถือว่ามีบุญ ยิ่งปิดเทอมก็มีเวลาว่าง นั่งๆ นอนๆ ไม่ต้องรับแรงกดดันเพื่อบรรลุความฝันของพ่อแม่

และสาม ต่อให้ร่ำรวยแค่ไหน คนเราก็หาเรื่องทุกข์ใจได้อยู่ดีครับ