เมื่อการเป็นนายของตัวเองไม่ได้หอมหวานเท่าแต่ก่อน

เมื่อการเป็นนายของตัวเองไม่ได้หอมหวานเท่าแต่ก่อน

ประมาณปี 2013-2017 คือช่วงที่กระแสการลาออกจากงานประจำนั้นมาแรงมาก มีหนังสือหลายเล่มออกมาเขียนเชียร์ว่าการได้เป็นนายของตัวเองนั้นดีกว่าอย่างไร

จะว่าไป หนังสือเล่มแรกของผมที่ชื่อว่า “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2017 ก็เกิดขึ้นเพราะอยากจะทวนกระแสนี้

ผ่านมา 5 ปี มีอะไรเกิดขึ้นมากมาย วันนี้เลยอยากจะมาแชร์มุมมอง เผื่อว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่กำลังคิดอยากลาออกจากงานประจำไปเป็นนายของตัวเอง ซึ่งในที่นี้อาจจะหมายถึงการรับงานฟรีแลนซ์เป็นหลักนะครับ

.

เมื่อการ Work from Home กลายเป็นเรื่องปกติ

ข้อดีสำคัญที่สุดประการหนึ่งของงานฟรีแลนซ์ คือไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ไม่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อฝ่ารถติด ไม่ต้องตอกบัตร ไม่ต้องใส่ยูนิฟอร์ม

แต่การมาของโควิด ทำให้คนทำงานประจำต้อง WFH เป็นเวลายาวนาน และแม้จะมีวัคซีนแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่องค์กรส่วนใหญ่จะใช้นโยบาย Hybrid workplace คือเข้าออฟฟิศแค่บางวัน หรือบางที่ก็ไม่ต้องเข้าเลย

ดังนั้น “ข้อได้เปรียบ” ของการเป็นฟรีแลนซ์ในมิตินี้จึงแทบจะหมดไปเป็นที่เรียบร้อย

.

สงครามราคา

ผมเองไม่ได้อยู่ในวงการฟรีแลนซ์อย่างการรับจ้างถ่ายภาพหรือทำรูปกราฟิก แต่สัญญาณที่พอจะจับได้ก็คือค่าชิ้นงานเหล่านี้ราคาคงที่มาหลายปีแล้ว ในขณะที่ค่าครองชีพก็ขึ้นเอาๆ

มีน้องคนหนึ่งกลับไปเปิดสตูดิโอถ่ายรูปที่บ้านเกิด แต่ปรากฎว่าไม่นานก็ต้องปิดตัวลง เพราะคู่แข่งพร้อมตัดราคา รับงานถ่ายรูปพรีเวดดิ้งราคาแค่หลักพัน

ผมว่าคนไทยเราถูก train ให้ “หาของถูกที่สุดในตลาด” เวลาเราซื้อของออนไลน์ สินค้าหนึ่งรุ่นมีคนขายหลายสิบเจ้า เราก็จะดูเจ้าที่ราคาถูกก่อน แล้วค่อยดูว่าเขาขายมาแล้วกี่ชิ้นและมีรีวิวเป็นอย่างไรบ้าง

คนไทยในฐานะลูกค้าก็เลยเคยตัวกับการหา “ของดีราคาถูก” ซึ่งบางทีมันก็ลามไปถึงธุรกิจบริการด้วย

แต่การขายของ (products) กับการขายบริการ (service) นั้นมีข้อแตกต่างที่สำคัญคือ variable cost

คนที่จำเป็นต้องขายของราคาถูกนั้น ก็จะยอมได้กำไรต่อชิ้นน้อยลง และเน้นขายปริมาณให้มากขึ้น

ขายของ 1 ชิ้นอาจใช้เวลาแพ็คของ 5 นาที ส่งของ 30 นาที รวมเป็น 35 นาที

ขายของ 10 ชิ้นใช้เวลาแพ็คของ 50 นาที ส่งของ 40 นาที รวมเป็น 90 นาที

ขาย 10 ชิ้น รายได้มากขึ้น 10 เท่า แต่ใช้เวลามากขึ้นไม่ถึง 3 เท่า

แต่งานขายฝีมืออย่างงานถ่ายรูปหรือทำกราฟิกนั้น ถ้าอยากได้รายได้มากขึ้น 10 เท่า ก็มักต้องใช้เวลามากขึ้น 10 เท่าเช่นกัน

สงครามตัดราคาเพื่อหาของดีราคาถูกในธุรกิจบริการจึงเป็นเกมที่ทุกคนจะพ่ายแพ้ (race to the bottom) เพราะคนตั้งใจทำงานคุณภาพดีก็อยู่ไม่ได้ ส่วนลูกค้าก็จะเจอของถูกแต่ไม่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

.

การเป็นตัวท็อปในวงการ

บางคนอาจบอกว่า ถ้าผลงานของเราดีจนติดตลาด ลูกค้าบอกต่อหรือกลับมาซื้อซ้ำ เราก็ไม่จำเป็นต้องลงไปแข่งในสงครามราคา

เราสามารถ “จับตลาดบน” ที่ลูกค้าพร้อมจะจ่ายเพื่อให้ได้งานคุณภาพ

แต่การจะได้เป็นตัว “ตัวท็อปในตลาด” ที่สามารถตั้งราคาได้ตามใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

กราฟิกดีไซเนอร์ตัวท็อปในวงการอาจจะมีซัก 100 คน แต่เมืองไทยน่าจะมีกราฟิกดีไซเนอร์อย่างน้อย 5,000 คน ดังนั้นคุณต้องเป็น Top 2% หรือ 1 ใน 50 ถึงจะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ

เมื่อเทียบกับการทำงานประจำ คนที่จะมีอนาคตในหน้าที่การงานที่ดี ไม่จำเป็นต้องเป็น Top 2% ก็ได้ แค่เป็น Top 20% หรือ 1 ใน 5 ก็ถือว่าเป็น “ตัวท็อปในทีม” ที่มีโอกาสเติบโตที่ดีมากๆ แล้ว

.

กำแพง 24 ชั่วโมง

ถ้าเราอยู่ในธุรกิจบริการ การเป็นตัวท็อปในวงการก็เป็นทุกขลาภอย่างหนึ่ง คืออาจมีลูกค้าอยากใช้บริการของเราเยอะ แต่มนุษย์นั้นมีขีดจำกัด ต่อให้ขยันแค่ไหนก็ทำงานได้ไม่เกินวันละสิบกว่าชั่วโมง

สิ่งที่จะตามมาคือทำงานแบบไม่ได้หลับไม่ได้นอน ได้เงินเยอะก็จริงแต่สุขภาพก็เสียไปไม่ใช่น้อย

วิธีแก้อย่างหนึ่งคือจ้างทีมงาน แต่ถ้าลูกค้ายังต้องการให้เราเป็นผู้เล่นตัวหลัก เราก็หลุดไม่พ้นกับดักนี้อยู่ดี

.

ต่อให้เป็นตัวท็อปก็ใช่ว่าจะปลอดภัย

ลองถามตัวท็อปถ่ายรูป pre-wedding ดูก็ได้ว่าสองปีที่ผ่านมาโควิดทำรายได้หดหายไปแค่ไหน และยิ่งถ้าเป็นทีมใหญ่ มีลูกน้องเยอะ การจัดการเรื่องพวกนี้น่าจะเครียดกว่าการเป็นพนักงานกินเงินเดือนเสียอีก

.

เรื่องราวของคนเรียนไม่จบแต่ประสบความสำเร็จนั้นมี suvivorship bias

เรื่องที่ฟังกันจนเบื่อ คือคนอย่างบิล เกตส์ สตีฟ จ๊อบส์ หรือมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก นั้นเรียนไม่จบแต่ก็ประสบความสำเร็จได้

เราจึงมักจะลืมความจริงที่ว่า คนที่เรียนไม่จบแล้วไม่ประสบความสำเร็จนั้นมีเยอะกว่าเป็นพันเท่า เพียงแต่พวกเราไม่เคยได้ยินเรื่องราวของพวกเขาเลย

คนที่ทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จจนโด่งดังและเกิดเป็นเรื่องราวบันดาลใจนั้นอาจจะมีแค่ 1% ส่วนอีก 99% อาจจะสำเร็จแค่กลางๆ หรือล้มเลิกไปนานแล้ว และคนเหล่านี้ก็ไม่เคยมีใครไปทำข่าวหรือถอดรหัสความล้มเหลวของพวกเขาเช่นกัน

.

โอกาสในการพัฒนาตัวเอง

ถ้าเราไม่ใช่คนที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศเป็นทุนเดิม การที่เราจะผลักดันตัวเองให้เก่งขึ้นไปเรื่อยๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตราบใดที่เรายังต้องวิ่งหางาน วิ่งหาเงิน เวลาที่จะเอามา craft ฝีมือหรือผลงานของตัวเองก็ย่อมมีไม่มาก

ยิ่งถ้าเจอลูกค้าที่ไม่มีรสนิยม หรือเน้นของราคาถูก ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่เราจะย่ำอยู่กับที่ หรือสร้างผลงานที่เราเองก็ไม่ได้ภูมิใจ

ในขณะที่ถ้าเราทำงานประจำ แล้วได้เจอคนเก่งๆ เช่นหัวหน้าหรือรุ่นพี่ที่สอนเราหรือเป็นแบบอย่างที่ดี เราจะโดนผลักดันให้เก่งขึ้นไปโดยปริยาย ต่อให้ตัวตนของเราจะไม่ใช่คนขยันหรือฉลาดอะไรนักก็ตาม

.

อิสระทางเวลาต้องแลกมาด้วยการไม่มีสังคม

อีกหนึ่งข้อดีของการเป็นนายตัวเอง คือเราจะทำงานเมื่อไหร่ก็ได้ เราสามารถหยุดในวันที่คนอื่นเขาไม่ได้หยุดกัน เวลาไปเที่ยวก็ไม่ต้องไปแย่งกันกินแย่งกันใช้กับใคร

ซึ่งมันก็มีข้อดีของมันประมาณหนึ่ง แต่ถ้าเพื่อนส่วนใหญ่ของเราเป็นพนักงานประจำ เราว่างแต่พวกเขาไม่ว่าง เราก็จะต้องเดินห้างหรือกินข้าวคนเดียว ซึ่งมันก็เป็นวิถีชีวิตที่ค่อนข้างเปล่าเปลี่ยวอยู่เหมือนกัน

ขณะที่คนทำงานประจำนั้น แม้ต้องแย่งกันกินแย่งกันใช้กับคนอื่นบ้าง แต่วิถี WFH และ food delivery service ก็ลดความเข้มข้นตรงนี้ไปเยอะ เอาเข้าจริงแล้วคนทำงานประจำที่ WFH นานๆ นั้นน่าจะอยากออกไป “แย่งกันกินแย่งกันใช้” บ้างด้วยซ้ำ เพราะการทำงานคนเดียวมันเฉา โชคดีที่อย่างน้อยช่วงนี้ก็กลับมาเจอกันที่ออฟฟิศ หรือนัดกันไปทำงานตามร้านกาแฟได้

การได้เดินห้างวันธรรมดาคือความสะดวก แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะเติมเต็มมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม

.

แม้จะหลุดพ้นจากเจ้านายงี่เง่า ก็ยังหนีไม่พ้นลูกค้างี่เง่า

การเป็นนายของตัวเอง คือการไม่ต้องมาทนกับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าหัวหน้างี่เง่า

แต่คนงี่เง่านั้นมีอยู่ทุกหนแห่ง ต่อให้เป็นเจ้าของธุรกิจหรือเป็นฟรีแลนซ์ เวลาเจอลูกค้างี่เง่าก็ปวดหัวไม่แพ้กัน เผลอๆ ปวดหัวกว่าด้วยซ้ำ

เจอเจ้านายงี่เง่า แต่ถ้าองค์กรไม่งี่เง่า ก็ยังได้เงินเดือนตรงเวลา

เจอลูกค้างี่เง่า บางทีได้เงินช้า หรือได้น้อยกว่าที่คุยกันไว้

.

พนักงานประจำนั้นมี Optionality มากกว่าฟรีแลนซ์

Optionality ถ้าแปลง่ายๆ คือการมีทางเลือก

ถ้าเราเป็นพนักงานประจำและจัดสรรเวลาได้ดี ก็ยังหารายได้เสริมจากการเป็นฟรีแลนซ์ได้

แต่ถ้าเราเป็นฟรีแลนซ์ และอยากหางานประจำเป็นรายได้เสริม เช่นงาน part-time ที่ได้เงินเท่ากันทุกเดือน ดูจะทำได้ยากกว่า

เพราะองค์กรส่วนใหญ่ก็อยากหาคนที่ commit กับเขา ถ้าเราไม่พร้อม commit กับใคร เขาก็ไม่อยาก commit กับเราเช่นกัน

Optinality ในอีกมุมหนึ่งก็คือ ถ้าเราเป็นพนักงานประจำ เราจะลาออกไปเป็นฟรีแลนซ์เมื่อไหร่ก็ได้

แต่ถ้าเราเป็นฟรีแลนซ์มา 4-5 ปี การกลับไปทำงานประจำนั้นยากกว่ามาก เพราะห่างหายจากวงการไปนาน ต้องไปแข่งกับเด็กรุ่นใหม่ที่เก่งกว่าและเรียกเงินเดือนถูกกว่า และถ้าเราได้รับเข้าทำงาน ก็อาจจะได้หัวหน้าที่เด็กกว่าและไม่ได้มีความเป็นผู้ใหญ่มากเท่าไหร่

ทั้งหมดทั้งมวลที่เขียนมา ไม่ใช่เพื่อจะโจมตีงานฟรีแลนซ์ เพียงแต่อยากบอกว่าให้คิดให้รอบด้าน อย่าไปอ่านบทความสร้างแรงบันดาลใจแล้วกระโจนไปโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ

เราควร “เป็นฟรีแลนซ์เมื่อพร้อม” จะได้ไม่ไปเพิ่มคู่แข่งในตลาดให้คนที่เขาอยู่มาก่อนแล้วต้องลำบากกว่าเดิมครับ

—–

Disclaimer: ผู้เขียนเป็นพนักงานประจำในสาย HR ดังนั้นจึงไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจชีวิตและความเป็นไปของ freelance เท่าไหร่นัก นี่จึงเป็นเพียงมุมมองของคนนอก ควรฟังไว้หู หากใครมีมุมมองที่อยากเสริมหรือเห็นแย้ง สามารถใช้พื้นที่ในช่องคอมเม้นท์ได้เต็มที่ครับ