ถ้าอยากตัดสินใจผิดพลาด ให้ถามความเห็นของทุกคน

“If you want to make the wrong decision, ask everyone.”
-Naval Ravikant

ในการทำงาน แนวคิดหนึ่งที่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ คือการฟังความเห็นของทุกคนและหาจุดตรงกลาง (compromise) ที่ทุกคนจะพอใจและสบายใจ

แนวคิดนี้มีข้อดีเพียงข้อเดียว คือมันทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นผู้นำที่เป็นประชาธิปไตย

แต่ข้อเสียนั้นมีมากกว่าข้อดีพอสมควร

หนึ่ง มันทำให้การตัดสินใจล่าช้า ในยุคที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบนี้ สิ่งที่ถูกวันนี้ เดือนหน้ามันอาจจะผิดแล้วก็ได้

สอง มันไม่ได้ทำให้เราได้ไอเดียที่ดีที่สุด เพราะทุกคนมองเห็นไม่เท่ากัน ความรู้ไม่เท่ากัน เข้าใจเป้าหมายขององค์กรไม่เหมือนกัน เมื่อพยายามหา “ตรงกลาง” ของทุกคน สิ่งที่ได้ออกมาจึงแสนธรรมดาและไม่คุ้มค่ากับแรงและเวลาที่เสียไป

สาม เมื่อเราพยายามจะทำให้ทุกคนพอใจ สิ่งที่ได้คือจะไม่มีใครพอใจเลย

สี่ การที่เราพยายามรับฟังความคิดเห็นของทุกคน จริงๆ แล้วมันอาจถูกขับมาจากความกลัวมากกว่าความกล้า กลัวว่าเราจะดูไม่ดี กลัวว่าจะดูเป็นเผด็จการ

ห้า อย่าลืมว่าเป้าหมายหลักของการทำธุรกิจคือการสร้างประโยชน์และสร้างกำไร ดังนั้นเราต้องเอาประโยชน์ของบริษัทเป็นที่ตั้งเสมอ ถ้าเราเอาอย่างอื่นเป็นที่ตั้ง (เช่นการพยายามทำให้ตัวเองดูดี หรือการพยายามตัดสินใจแบบประชาธิปไตย) ก็อาจจะทำให้เราไปผิดทาง และเป็นการทำร้ายทุกคนในบริษัทไปโดยปริยาย

แล้วจะทำอย่างไร?

ผมเชื่อว่าหน้าที่ของผู้นำคือการตัดสินใจ ซึ่งก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและประสบการณ์ที่เรามี

การหาข้อมูลเป็นเรื่องจำเป็น เราควรจะทำการบ้าน และควรฟังคนที่ควรฟัง แต่ไม่ใช่ฟังทุกคน

จากนั้น เมื่อเราคิดว่ามีข้อมูลเพียงพอแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องแน่ใจ 100% ก็ได้ ก็ผสมผสานกับประสบการณ์ที่แปรรูปไปเป็นสัญชาตญาณ แล้วก็ฟันธง

ถ้าผลออกมาดีก็ให้เครดิตทีม ถ้าผลออกมาไม่ดีก็ยืดอกรับไว้เอง แล้วกลับมาหาให้เจอว่าตัดสินใจพลาดตรงไหน

เมื่อเราปรับปรุง (refine) วิชาตัดสินใจของเราให้แข็งแรงแล้ว สุดท้ายผลงานที่ดีจะคุ้มครองเราเองครับ