เมื่อวันพุธที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสพูดคุยผ่าน Zoom กับน้องๆ นักศึกษากลุ่มหนึ่ง
ช่วงท้ายมีคนส่งคำถามเข้ามาว่า มีเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่ห่างกันไป ถ้าไม่คุยกับเขาก่อนปิดเทอมนี้เขาก็จะไม่กลับมาอีกแล้ว แต่ถ้าคุยก็กลัวจะต้องผิดหวังและเสียใจ เขาควรจะทำอย่างไรดี
ผมตอบไปว่า ถ้าไม่คุยกับเขาก่อนปิดเทอมนี้เขาจะไม่กลับมาอีกแล้วนี่มันก็แอบจะ over-dramatize ไปหน่อยนะ ยังไงตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่และมีช่องทางติดต่อกันอยู่มันคงไม่ได้มีเส้นตายขนาดนั้นหรอก
ส่วนถ้าคุยแล้วกลัวจะผิดหวัง ผมก็แนะนำไปว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้คือบอกสิ่งที่เรารู้สึก ส่วนเขาจะตอบรับยังไงมันอยู่นอกเหนือความควบคุมและไม่ใช่หน้าที่ของเราแล้ว
ดังนั้นก็คุยไปเถอะ จะได้ไม่มีอะไรค้างคาใจ
“เรื่องสำคัญ” ไม่ได้สำคัญที่ตัวมันเองแต่สำคัญที่คนให้ค่า
ในช่วงวัยรุ่น สิ่งที่เราให้ค่าคือความสนุก ความอินเทรนด์ การเป็นที่ยอมรับ ความสัมพันธ์ ความรัก ดังนั้นไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่เขาจะกระวนกระวายทุรนทุรายกับ “เพื่อนสนิท” ที่ห่างเหินกันไป
แต่มองด้วยสายตาของคนที่ผ่านช่วงวัยนั้นมาเกือบยี่สิบปี จะเข้าใจว่าสุดท้ายแล้วมันไม่ได้สำคัญขนาดนั้นหรอก
เรื่องที่เราเคยจะเป็นจะตายกับมัน ไม่ว่าจะอกหัก ทีมบอลแพ้ ศิลปินโปรดแยกวง ตอนนั้นเราฟูมฟายมาก แต่ตอนนี้เรากลับขำตัวเองตอนนั้นว่าเป็นอะไรมากมั้ย
ผมจึงได้ข้อสรุปว่า เมื่อเวลาผ่านไปเรื่องใหญ่จะกลายเป็นเรื่องเล็ก
แม้กระทั่งสำหรับผู้ใหญ่วัยทำงาน เรื่องที่เรามองเป็นเรื่องใหญ่ในวันนี้ ทั้งการทำงานผิดพลาด โดนหักหลัง ทำโครงการล่ม โดนเลย์ออฟ เราอาจกินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่เรื่องเหล่านี้มันผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ความเสียหายแค่ชั่วคราว
ในทางกลับกัน
เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องเล็กๆ ก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้เช่นกัน
นั่งใช้คอมผิดท่าจนเป็น office syndrom เรื้อรัง
ใช้บัตรเครดิตผ่อน 0% 10 เดือน จนแทบไม่มีเงินเก็บ
คุยกับมือถือมากกว่าคุยกับลูก สุดท้ายลูกไม่คุยด้วย
เพราะเรื่องเล็กๆ ที่เราทำอยู่ทุกวันมันมี compound interest
เหมือนกบในหม้อที่น้ำร้อนขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายก็ถูกต้มในน้ำเดือด
เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องใหญ่จะกลายเป็นเรื่องเล็ก ส่วนเรื่องเล็กจะกลายเป็นเรื่องใหญ่
นี่คือความย้อนแย้งของชีวิตที่เราควรระลึกเอาไว้เสมอครับ