การให้และรับฟีดแบ็คด้วยสูตร 4A ของ Netflix

Netflix เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีคนอยากร่วมงานด้วยมากที่สุดเนื่องจากให้เงินเดือนดีมากและธุรกิจก็เติบโตอย่างรวดเร็ว

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของ Netflix ก็คือวัฒนธรรมที่คนคุยกันแบบตรงไปตรงมา ไม่มีการนินทาลับหลัง

Netflix จะสอนพนักงานทุกคนให้พูดในสิ่งที่ตัวเองคิด หากในที่ประชุมเรารู้สึกไม่เห็นด้วยกับใครก็ตาม แม้ว่าคนนั้นจะเป็นหัวหน้าหรือเป็น CEO มันเป็นหน้าที่ของเราที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยนั้นออกมา หากเราคิดต่างแต่เก็บเงียบไว้คนเดียว บริษัทจะถือว่าเราเป็นพนักงานที่ทรยศ (disloyal) ต่อบริษัทเลยทีเดียว

โดยหลักการในการให้ฟีดแบ็คที่ Netflix นั้นเรียกว่า 4A

A สองตัวแรกสำหรับคนให้ฟีดแบ็ค

A – Aim to Assist คือเป็นการติเพื่อก่อ เป็นการติด้วยความมุ่งหวังที่จะช่วยจริงๆ ไม่ใช่ต่อว่าเพื่อความสะใจหรือเอามันส์ เช่นฟีดแบ็คว่า “เวลานั่งประชุม คุณ-ชอบนั่งกระดิกขา ซึ่งน่ารำคาญมาก” อันนี้ถือว่าไม่ได้ติเพื่อก่อแต่ติเพื่อตำหนิ ควรจะเปลี่ยนเป็น “เวลาอยู่ในห้องประชุม คุณนั่งกระดิกขาและมันก็ค่อนข้าง distract คนอื่น ลองระวังตรงนี้ให้มากขึ้นอีกนิดน่าจะช่วยให้บุคลิกของคุณดีขึ้นนะ” อันนี้ถึงจะเรียกว่า aim to assist ได้

A – Actionable คำติชมนั้นผู้รับต้องเอาไปทำอะไรต่อได้จริงๆ ไม่ใช่แค่ฟังดูดีในหลักการแต่ทำอะไรกับมันไม่ได้ เช่นเวลาบอกว่า “อยากให้ทำงานเสร็จเร็วกว่านี้” นั้นกว้างเกินไป action ลำบาก แต่ถ้าบอกว่า “อยากให้ส่งรีพอร์ตก่อนบ่ายสองทุกวันจันทร์เพื่อให้คนอื่นมีเวลาพอที่จะเอาไปใช้ทำสไลด์ต่อ” อันนี้ถึงจะเรียกว่า actionable

A สองตัวที่เหลือเป็นฝั่งคนรับฟีดแบ็ค

Appreciate – จงเห็นคุณค่าและแสดงความขอบคุณคนที่ให้ฟีดแบ็คเรา เพราะคนนั้นต้องมีความกล้าและตั้งใจจะช่วยเหลือเราจริงๆ นี่คือของขวัญที่เขามอบให้เรามา

Accept or Discard – เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นฟีดแบ็คที่สอดคล้องกับความจริงและช่วยให้เราดีขึ้นได้ เราก็รับมันไว้เพื่อปรับปรุงให้เราเก่งและดียิ่งขึ้น แต่ถ้ามันเป็นฟีดแบ็คที่เราคิดว่าไม่ได้ช่วยอะไร ก็สามารถวางมันไว้ตรงนั้น ไม่ต้องเก็บมาใส่ใจหรือเครียดกับมันจนเกินเหตุ

และนี่คือการให้ฟีดแบ็คสไตล์ Netflix – Aim to assist, Actionable, Appreciate และ Accept or Discard

ลองเอาไปปรับใช้ที่ทีมของเราดูนะครับ


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ No Rules Rules by Reed Hastings & Erin Myer