
บนเกาะโอกินาว่าประเทศญี่ปุ่น ผู้คนในเมืองมีอายุเฉลี่ยสูงกว่าคนอเมริกัน 7 ปี และมีสัดส่วนคนอายุเกิน 100 ปีมากกว่าคนอเมริกาถึง 5 เท่า
สามปัจจัยที่ทำให้ชาวโอกินาว่าอายุยืนก็คืออาหารที่กิน กิจกรรมที่ทำ และ ความสัมพันธ์ที่มี
อาหารที่กินนั้นจะเน้นผัก ถั่ว เต้าหู้ และกินไม่เยอะจนเกินไป
กิจกรรมที่ทำนั้นมอบความหมายให้ชีวิต เป็น Ikigai เป็นเหตุผลให้ลุกจากเตียงทุกเช้า
ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ ชาวโอกินาว่าก็มีกลุ่มเพื่อนสนิทที่เรียกว่า “ไมโอ” ซึ่งคุ้นเคยกันตั้งแต่วัยเด็กจนวันที่อายุแตะหนึ่งศตวรรษ
เรื่องอาหารการกินเรารู้ดีอยู่แล้ว เรื่องอิคิไกก็เป็นกระแสในช่วงสองปีที่ผ่านมา ผมเลยอยากจะชวนคุยเรื่องความสัมพันธ์ในบทความนี้
ด้วยสังคมเมืองที่ทุกคนต่างต้องพยายามเอาตัวรอด ทำงานบวกเดินทางวันละสิบกว่าชั่วโมง เราจึงแทบไม่มีเวลานั่งคุยกับคนในครอบครัวเลย
ยิ่งพอมีสมาร์ทโฟน เราเลยใช้เวลา “ฟัง” และ “คุย” กับคนที่เราไม่ได้คุ้นเคยมากกว่าคนที่นั่งอยู่ข้างๆ เรา
ช่วงที่มีโควิดและเราต้องทำงานจากที่บ้าน เชื่อว่าหลายคนโหยหาออฟฟิศ เพราะทำงานที่บ้านนั้นเหนื่อยกว่าที่คิด แค่ห้าโมงเย็นก็หมดแรง
ผมมีสมมติฐานว่าจอคอมมันดูดพลังงานเรา แต่เวลาเรามาออฟฟิศเราสามารถส่งต่อและรับพลังงานจากเพื่อนๆ ที่ออฟฟิศได้
มนุษย์ไม่ได้ถูกวิวัฒนาการมาให้มีปฏิสัมพันธ์บนหน้าจอ ต่อให้มีเพื่อนบนเฟซหรือ followers บนทวิตเตอร์มากแค่ไหนก็ไม่อาจทำให้เราหายเหงาได้ เผลอๆ ยิ่งมีคนรู้จักบนโซเชียลมีเดียมากเท่าไหร่อาจยิ่งเหงากว่าเดิมด้วยซ้ำ
เพราะ “follow” ไม่ได้แปลว่า “รู้จักมักคุ้น” และ “Top fan” ไม่ได้แปลว่า “สนิทใจ”
บางคนอาจบอกว่าตัวเองไม่มีเพื่อนสนิท แต่นั่นเป็นเพราะเราไม่เคยคิดลงทุนในความสัมพันธ์รึเปล่า
หยุดยาวนี้ เราจะใช้เวลาไปอย่างไร จะอยู่กับมือถือนานเท่าไหร่ และจะมีเวลาแค่ไหนในการพูดคุยกับคนที่เรารักและรักเราครับ