Lindy Effect – ยิ่งแก่ยิ่งอยู่นาน

20200702

สัปดาห์ที่ผ่านมา “ปรายฝน” ลูกสาวของผมที่อยู่ชั้นอนุบาล 2 ชอบร้องเพลงนี้เป็นพิเศษ

“สบายดีรึเปล่า ข่าวคราวไม่เคยรู้ …เธอไม่อยู่ เฝ้าดูและมองหา”

( “…” คืองึมงัมเพราะจำเนื้อร้องไม่ได้)

เพลง “สบายดีหรือเปล่า” เป็นของวง XYZ ออกมาตั้งแต่ปี 2530

ลูกสาวผมกำลังร้องเพลงที่แก่กว่าตัวเองถึง 28 ปี!

—–

คอนเซ็ปต์หนึ่งที่สำคัญในหนังสือ Antifragile ของ Nassim Nicholas Taleb คือ The Lindy Effect

ปรากฎการณ์นี้บอกไว้ว่า อะไรที่อยู่มานาน ก็มีแนวโน้มว่าจะยิ่งอยู่ได้นานขึ้นอีก

“ส้อม” อยู่มาแล้ว 1700 ปี

“ล้อ” อยู่มาแล้ว 2300 ปี

“รองเท้า” อยู่มาแล้ว 2800 ปี

ของสมัยนี้มาเร็วไปเร็วแค่ไหน แต่ผมเชื่อว่าสิ่งประดิษฐ์อย่างล้อ ช้อนส้อม รองเท้า จะอยู่ไปอีกเป็นร้อยเป็นพันปี

Lindy Effect นั้นไม่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตอย่างสัตว์ พืช และมนุษย์

ถ้าผมอายุ 50 ปี ผมน่าจะอยู่ได้อีก 30 ปี

ถ้าผมอายุ 60 ปี ผมน่าจะอยู่ได้อีก 20 ปี

ถ้าผมอายุ 70 ปี ผมน่าจะอยู่ได้อีก 10 ปี

ยิ่งผมอยู่มานาน “เวลาที่เหลือ” ยิ่งสั้นลง

แต่สำหรับสิ่งประดิษฐ์ ยิ่งอยู่มานานเท่าไหร่ เวลาที่เหลือยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

หนังสือเล่มไหนขายดีมา 10 ปี ก็มีแนวโน้มที่จะขายได้อีก 10 ปี เช่น Outliers ของ Malcolm Gladwell

หนังสือที่เล่มไหนขายดีมา 30 ปีแล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะขายได้อีก 30 ปี เช่น 7 Habits of Highly Effective People

หนังสือที่เล่มไหนขายดีมา 80 ปีแล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะขายได้ไปอีก 80 ปี เช่น How to win friends and influence people ของ Dale Carnegie

แล้วเราจะใช้ Lindy Effect ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร?

สำหรับผม หนึ่ง มันจะทำให้เราไม่ “เห่อของใหม่” จนเกินควร เพราะของใหม่ส่วนใหญ่ผ่านมาแล้วมันก็จะผ่านไป

สอง มันทำให้เราเห็นคุณค่าของเก่ามากขึ้น เพราะมันได้รับการพิสูจน์จากวันเวลาแล้วว่าเวิร์ค

สาม เวลามองไปที่อนาคต เราไม่จำเป็นต้องพยายามคิดถึงว่า “อะไรจะเปลี่ยนไปบ้าง” เพราะเรามองไม่ออกและคาดเดาไม่ถูกหรอก (สองเดือนที่แล้วหลายคนกังวลเรื่อง New Normal แต่ผมกลับกังวลเรื่อง Old Normal มากกว่าเพราะมันจะทำให้เราประมาท)

การคาดการณ์ว่าอะไรจะเปลี่ยนไปบ้างนั้นยากเกินไป การคาดการณ์ว่าอะไรจะไม่เปลี่ยนไปบ้างนั้นง่ายกว่าเยอะ เหมือนที่ Jeff Bezos เคยบอกไว้ว่า เขาไม่รู้หรอกว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ เข้ามา แต่สิ่งที่เขารู้คือลูกค้ายังต้องการสินค้าราคาถูก ยังต้องการประสบการณ์การซื้อที่สะดวกและง่ายดาย ยังต้องการการบริการลูกค้าชั้นเยี่ยมอยู่ สิ่งเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนแน่นอน และนั่นคือสิ่งที่เขาและ Amazon ควรจะโฟกัส

เมื่อเราไม่ต้องคอยวิ่งตามสิ่งใหม่ หรือกังวลกับอนาคตที่คาดเดาไม่ได้ เราก็จะสามารถทุ่มเทแรงและสติปัญญาให้กับสิ่งที่ได้รับการพิสูจน์แล้วจากวันเวลาและมีแนวโน้มว่าจะอยู่ไปได้อีกนาน

เมื่อทำได้อย่างนี้ เราก็จะมีความมั่นคงในชีวิตและจิตใจมากขึ้นครับ

—–

หนังสือ “ช้างกูอยู่ไหน” ว่าด้วยการลดทอนสิ่งที่ไม่ใช่ ตามหาได้ที่ whatisitpress.com และร้านหนังสือทั่วไปครับ นายอินทร์จะหาง่ายหน่อย ส่วนที่ซีเอ็ดจะหายากหน่อยครับ