อย่างมงายกับตรรกะ

20200618

ขอสานต่อจากบทความเมื่อวาน ที่ผมบอกว่า OKR ไม่ใช่เป้าหมาย เป็นเพียงแค่เครื่องมือที่พาเราไปสู่เป้าหมายเท่านั้น

เงินก็ไม่ใช่เป้าหมาย เป็นเพียงเครื่องมือที่นำไปสู่เป้าหมายเท่านั้นเช่นกัน

ถ้าเราเผลอไปยึดถือเครื่องมือเป็นเป้าหมายเสียเอง เราจะหลงทาง

และถ้าเรายึดถือเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งมากเกินไป เราก็จะเจอทางตัน เพราะทุกเครื่องมือมีข้อจำกัดของมัน

คนที่จบวิศวะมา มักจะใช้ตรรกะและการคำนวณเป็นเครื่องมือ สิ่งที่ตามมาก็คืออาการ over-engineer หรือพยายามใส่อะไรเข้ามาเยอะเกินงามและเกินความจำเป็น

คนที่จบสายศิลป์มาอาจพึ่งพาความรู้สึกและอารมณ์มากเกินไป จนพาตัวเองไปเจอปัญหาที่ควรหลีกเลี่ยงได้

คนที่เพิ่งอินกับการปฏิบัติธรรม ก็อาจพยายามมากเสียจนจนกลายเป็นคนเฉื่อยเนือย ยกหนอย่างหนอจนทำอะไรไม่ทันการ

ไม่ได้บอกว่าธรรมะไม่ดี ไม่ได้บอกว่าเราไม่ควรใช้อารมณ์หรือตรรกะ แค่จะบอกว่าเราควรจะมีเครื่องมือหลายๆ อย่างติดมือเอาไว้

เพราะถ้าเรามีแค่ค้อนอยู่ในมือ เราจะมองทุกอย่างเป็นตะปูไปเสียหมด

“If all you have is a hammer, everything looks like a nail”
-English proverb

KPI หรือ OKR เป็นตัวชี้วัดที่มีประโยชน์ แต่ถ้าองค์กรใดใช้มันเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียวในการประเมินคุณค่าของพนักงาน องค์กรนั้นก็จะขาดความเป็นมนุษย์

ตรรกะเป็นกระบวนการคิดที่เป็นระบบ แต่อาจใช้กับคู่รักที่ทะเลาะกันไม่ได้ หลายครั้งที่ความสัมพันธ์มันพังทลายไม่ใช่เพราะว่าเราใช้อารมณ์มากเกินไป แต่เพราะเราใช้เหตุผลกันมากเกินไปต่างหาก

วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือที่ดี แต่เรื่องที่วิทยาศาสตร์ยังเข้าไม่ถึงนั้นมีอีกมาก คนที่ดูแคลนหรือดูเบาสิ่งใดเพียงเพราะวิทยาศาสตร์ยังพิสูจน์ไม่ได้ย่อมสูญเสียโอกาสไปไม่น้อย

อุปกรณ์อย่างทีวีหรือไอแพดเป็นเครื่องมือทุ่นแรงที่พ่อแม่หลายคนใช้กับลูกเล็ก เปิดอะไรให้ดูเค้าก็นั่งนิ่งอยู่กับที่ แต่ถ้าเรา outsource การเล่นกับลูกไปให้ไอแพดมากเกินไป วันหนึ่งพ่อแม่อย่างเราก็จะถูกลูก outsource เช่นกัน

ดังนั้น นอกจากมองให้ออกว่าสิ่งใดเป็นเป้าหมาย สิ่งใดเป็นเครื่องมือแล้ว เราต้องมีเครื่องมือหลายชิ้นติดตัวเอาไว้ด้วย อย่างมงายกับเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งมากจนเกินไป

อย่างมงายกับตรรกะ อย่างมงายกับ OKR อย่างมงายกับเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์

เข้าใจข้อจำกัดของมันและใช้มันให้ถูกบริบท แล้วเราจะรับมือกับความท้าทายที่หลายหลากของชีวิตได้ครับ

—–

หนังสือ “ช้างกูอยู่ไหน” ว่าด้วยการลดทอนสิ่งที่ไม่ใช่ ตามหาได้ที่ whatisitpress.com และร้านหนังสือทั่วไปครับ นายอินทร์จะหาง่ายหน่อย ส่วนที่ซีเอ็ดจะหายากหน่อยครับ