“Someone is sitting in the shade today because someone planted a tree a long time ago.”
– Warren Buffett
ถ้าผมเป็นฝรั่งมาเที่ยวเมืองไทย สิ่งหนึ่งที่ผมน่าจะกลับไปเล่าให้เพื่อนๆ ฟังก็คือปรากฎการณ์ในแบงค็อกตอน 8 โมงเช้าและ 6 โมงเย็น
ไม่ว่าจะวิ่งอยู่ในสวนลุม รีบเดินไปขึ้น BTS หรือกำลังนั่งกินข้าวอยู่ ถ้ามีเสียงเพลงชาติไทยดังขึ้น คนไทยทุกคนจะหยุดกิจกรรมของตัวเองแล้วยืนตรง
ทุกอย่างราวกับถูกหยุดเวลาไว้ชั่วขณะ
ครั้งหนึ่งตอนผมกำลังเดินไปขึ้นรถไฟฟ้ากลับบ้าน เห็นพี่ที่เคยทำงานอยู่ออฟฟิศเดียวกัน เดินอยู่ลิบๆ
พอเพลงชาติไทยดังขึ้น ทุกคนหยุด แต่พี่เขาไม่หยุด
อาจเป็นเพราะพี่เขารีบจริงๆ หรืออาจเป็นเพราะเขามองเพลงชาติไทยในมุมอื่นก็ได้
สำหรับคนบางคน โดยเฉพาะเด็กที่จบนอกมาหรือสนใจประวัติศาสตร์ด้านการเมือง อาจมองว่าการบังคับให้คนไทยหยุดยืนตรงเคารพธงชาติ เป็นการ “กดขี่” อย่างหนึ่ง เพราะนโยบายนี้มีมาตั้งแต่ยุคที่จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
จาก Wikipedia: เพลงชาติไทย
เพลงชาตินับเนื่องเป็นหนึ่งอาณัติสัญญาณในการเคารพธงชาติ กล่าวคือ
1.เมื่อมีการชักธงชาติขึ้นและลง ให้แสดงความเคารพโดยการยืนตรง หันไปทางเสาธง อาคาร หรือสถานที่ที่มีการชักธงชาติขึ้นและลง จนกว่าจะเสร็จการ
2. ในกรณีที่ได้ยินเพลงชาติหรือสัญญาณการชักธงชาติ จะเห็นหรือไม่เห็นการชักธงชาติก็ตาม ให้แสดงความเคารพโดยหยุดนิ่งในอาการสำรวม จนกว่าการชักธงชาติหรือเสียงเพลงชาติ หรือสัญญาณการชักธงชาติจะสิ้นสุดลง[13]
แนวปฏิบัติดังกล่าวนี้ ได้ริเริ่มให้มีขึ้นครั้งแรก จากการบรรเลงเพลงชาติ ตามสัญญาณจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ในเวลา 08.00 น. โดยบัญชาของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ราวปี พ.ศ. 2485 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
จอมพลป.พิบูลสงครามถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจล้นฟ้า สนับสนุนชาตินิยม และพยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างอัตลักษณ์แห่งความเป็นไทย
จาก Wikipedia: แปลก พิบูลสงคราม
นับแต่จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2481 ได้มีนโยบายในการสร้างชาติ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นลัทธิชาตินิยม เช่น ออกกฎหมายคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ มีการสงวนอาชีพบางอย่างไว้เฉพาะคนไทย และปลูกฝังให้ประชาชนนิยมใช้สินค้าไทย ด้วยคำขวัญว่า “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ”… มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 และเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยเริ่มเปลี่ยนในปี พ.ศ. 2484 ทำให้ ปี พ.ศ. 2483 มีเพียง 9 เดือน
เพลงชาติที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็ถูกแต่งขึ้นในสมัยจอมพลป.ครองอำนาจ แม้กระทั่งท่อนแรกของเพลงชาติที่ว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” ก็เป็นประโยคที่ดูจะเหมารวมไปหน่อย เพราะสยามประเทศนั้นไม่ได้มีแต่คนเชื้อชาติไทย แต่มีทั้งเชื้อชาติ มอญ จีน มลายู เขมร ลาว ฯลฯ ด้วย
จึงเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ ที่จะมีคนบางคนจะต่อต้านนโยบายนี้ด้วยการไม่ยอมหยุดยืนตรงเคารพธงชาติ
แล้วผมมองยังไง?
ส่วนตัวผมก็ยังชอบการยืนตรงเคารพธงชาตินะครับ
ถ้าจะต้องให้เหตุผล ก็น่าจะมีสามข้อ
1. เป็นเอกลักษณ์ที่บ้านอื่นไม่มีกัน
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า ถ้าชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวมาเมืองไทย แล้วเจอคนไทยยืนตรงเคารพธงชาติ มันจะเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ของเขาแน่นอน เขาจะมีเรื่องราวให้กลับไปเล่าคนที่บ้านเพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง และผมไม่ห่วงว่าเขาจะมองว่าคนไทยหัวอ่อน เพราะคงมีนักท่องเที่ยวไม่มากนักหรอกที่จะมาสืบเสาะว่านโยบายนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และถึงแม้จะเข้าใจถึงที่มา เขาก็คงใจกว้างพอที่จะไม่มาตัดสินเราด้วยเรื่องอย่างนี้
2. มันสนุกดี
ผมรู้สึกเหมือนพวกเราคนไทยกำลังมีกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน กิจกรรมที่รู้และเข้าใจกันเฉพาะพวกเราเท่านั้น เป็นโอกาสแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวให้แขกที่มาเยี่ยมได้รู้ เป็นโชว์ที่เราซุ่มซ้อมด้วยกันมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล
3. เราให้ความหมายใหม่กับมันได้
แม้ต้นทางของนโยบายนี้จะดูเป็นการบังคับให้คนทุกคนอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐ แต่จอมพลป.ก็จากไปตั้งนานแล้ว และในเมื่อการยืนตรงเคารพธงชาติมันไม่ได้สร้างความเสียหายหรือทำให้ใครเดือดร้อน ทำไมเราไม่เลือกที่จะมองการยืนตรงเคารพธงชาติด้วยทัศนคติที่เป็นบวก?
แม้ประเทศไทยจะมีเรื่องน่าเบื่อหน่ายแค่ไหน ผมก็ยังรู้สึกว่าเมืองไทยน่าอยู่มากๆ เราไม่ต้องเจอสงครามกลางเมืองเหมือนอย่างตะวันออกกลาง ไม่ต้องกลัวการก่อการร้ายเท่าสหรัฐหรือยุโรป ไม่ต้องอดยากเหมือนบางประเทศในแอฟริกา ทั้งนี้เพราะบรรพบุรุษและบรรพกษัตริย์ของเราได้วางรากฐานเอาไว้ดี ทั้งการเลือกถิ่นฐาน การคัดสรรวัฒนธรรมและประเพณี และการปกป้องดินแดนนี้ให้ไม่ต้องตกอยู่ใต้อาณัติของชาติอื่น
“Someone is sitting in the shade today because someone planted a tree a long time ago.”
การยืนตรงเคารพธงชาติสำหรับผม จึงไม่ใช่เรื่องของการยอมจำนนต่ออำนาจรัฐหรือเผด็จการ ไม่ใช่เรื่องของการขาดความรู้ทางประวัติศาสตร์ และยิ่งไม่ใช่เรื่องการเห็นว่าเชื้อชาติไทยดีกว่าเชื้อชาติอื่น
แต่มันเป็นการแสดงความเคารพต่อคนที่มาก่อนหน้าเรา ที่ได้ปลูกต้นไม้ใหญ่เอาไว้ ให้เราได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขจนทุกวันนี้ครับ
UPDATE: 25 Aug 2017: “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” หนังสือเล่มแรกของผมวางแผงแล้วนะครับ หาซื้อได้ที่ซีเอ็ด นายอินทร์ คิโนะคุนิยะ เอเชียบุุ๊คส์ บีทูเอส และศูนย์หนังสือจุฬาครับ bit.ly/tgimannounce
อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/
อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)
ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่”
ภาพจากกล้องมือถือผู้เขียน ถ่ายที่เต๊นชมพู ข้างตึกอื้อจื่อเหลียง เช้าวันที่ 26 พ.ค. 59