กฎ 10/20/30 ของการทำสไลด์

201512006_102030Rule

สวัสดีครับ วันนี้มีเทคนิคดีๆ จาก Guy Kawasaki ครับ

คุณกายคาวาซากิเคยทำงานเป็น Chief Evangelist ของ Apple มาก่อน

คำว่า Evangelist ในความหมายเดิมคือผู้ที่ออกไปพูดโน้มน้าวผู้คนให้เปลี่ยนมานับถือศานาคริสต์

ดังนั้น คงจะพอเดาได้ว่า หน้าที่ของกายคาวาซากิในตำแหน่ง Chief Evangelist ก็คือการเผยแพร่ “ศาสนาแอปเปิ้ล” นั่นเอง

ลองอ่านประวัติเขาเต็มๆ ได้บน LinkedIn ครับ

—–

นอกจากจะทำงานประจำแล้ว คุณกายคาวาซากิยังเป็น Venture Capitalist อีกด้วย

Venture Capitalist หรือ VC คือคนที่ถือเงินและมองหาการลงทุนในกิจการที่น่าสนใจ โดยเจ้าของกิจการก็จะไปเสนอรายละเอียดธุรกิจ (pitch) ให้กับ VC และถ้า VC ถูกใจก็จะร่วมลงทุน และร่วมเป็นเจ้าของ ยกตัวอย่างเช่น Wongnai ที่ได้ทุนจาก VC ของญี่ปุ่นเมื่อสองปีที่แล้วเป็นต้น

กายคาวาซากิบอกว่า เขาต้องเข้าฟังการ pitch จากเจ้าของกิจการมากมาย และการพิทช์ส่วนใหญ่ก็ทำให้เขา “สูญเสียการได้ยินและการมองเห็น” ไปเพราะว่าสไลด์ที่เจ้าของกิจการใช้มันไม่เวิร์คเอาซะเลย

เขาเลยขอเสนอกฎที่ชื่อว่า 10/20/30 สำหรับการทำ Powerpoint* ครับ

กฎ 10/20/30 แตกเนื้อหาออกได้ดังนี้

สไลด์ควรจะยาวไม่เกิน 10 หน้า
ความยาวของการพรีเซ็นต์ไม่เกิน 20 นาที
ใช้ขนาดฟอนท์ 30 พ้อยท์ขึ้นไป

อ่านรายละเอียดเต็มๆ ได้ในบล็อกที่เขาเขียน** แต่ผมขอสรุปหลักการและเหตุผลมาให้ฟังก็แล้วกันนะครับ

10 สไลด์
กายคาวาซากิบอกว่า ในการประชุมหนึ่งครั้ง คนเราไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้มากกว่า 10 เรื่องหรอก สไลด์สิบแผ่นที่ผู้ร่วมลงทุนอย่าง Venture Capitalist สนใจที่จะเห็นจากเจ้าของธุรกิจอย่างคุณก็คือ

1. ปัญหา (Problem)
2. ทางออกที่ธุรกิจคุณจะสร้างให้ (Your solution)
3. ธุรกิจของคุณจะทำเงินยังไง (Business Model)
4. เทคโนโลยีที่จะใช้ (Underlying magic / technology)
5. การตลาดและการขาย (Marketing & Sales)
6. คู่แข่ง (Competition)
7. ทีมงาน (Team)
8. คาดการณ์ยอดขาย/จำนวน users และหมุดหมายสำคัญของบริษัท เช่นปีหน้าจะมีรายได้เท่าไหร่ จะมีผู้ใช้งานครบล้านคนเมื่อไหร่ ฯลฯ (Projections & milestones)
9. สถานะและสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ (Status & Timeline)
10. บทสรุปและสิ่งที่อยากให้ผู้ฟังทำ (Summary and call to action)

แน่นอน พวกเราส่วนใหญ่คงไม่มีโอกาสได้ทำ pitching กับเหล่า Venture Capitalists ดังนั้นเนื้อหาของสไลด์ย่อมต้องแตกต่างกันไป และจำนวนสไลด์อาจจำเป็นต้องมากกว่า 10 สไลด์

แต่ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะระลึกไว้เสมอว่าคนฟังไม่สามารถจะเรียนรู้เรื่องอะไรได้มากมายนักในการพรีเซ้นท์แค่ครั้งเดียว ดังนั้นจงอย่ายัดอะไรลงไปมากเกินความจำเป็นครับ

ความยาวไม่เกิน 20 นาที
แม้จะมีเวลาในการประชุมถึงหนึ่งชั่วโมง เนื้อหาที่เราพูดก็ไม่ควรเกิน 20 นาที แล้วเอาเวลาที่เหลือใช้ไปกับการซักถามและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากกว่า

อีกอย่างเราไม่ได้มีหนึ่งชั่วโมงจริง เพราะบางคนก็เข้าประชุมสาย บางคนก็ต้องออกก่อน บางทีก็เจอปัญหาทางเทคนิคทำให้ล่าช้า เพราะฉะนั้นจงพูดแต่เรื่องที่มีความสำคัญเท่านั้น ถ้าเราพูดได้เนื้อหาครบถ้วนในเวลา 20 นาที คงไม่มีใครบ่นหรอกครับว่าเราพูดสั้นเกินไป

ขนาดฟอนท์ 30 พ้อยท์
บ่อยครั้งเหลือเกินที่กายคาวาซากิเจอสไลด์ที่ใช้ฟอนท์ไซส์ 10 ซึ่งเขาคิดว่าน่าจะเกิดจากสองสาเหตุ หนึ่งคือคนพูดนำเสนอคิดว่ายิ่งมีเนื้อหาเยอะๆ ยิ่งทำให้ดูน่าประทับใจ (ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย) สองก็คือคนพูดไม่ได้เข้าใจสิ่งที่จะพูดดีพอ เลยต้องเอาเนื้อหามายัดลงในสไลด์แล้วอ่านตาม ซึ่งถ้าผู้ฟังรู้สึกว่าผู้พูดอ่านสไลด์เมื่อไหร่ ผู้ฟังก็จะหยุดฟังแล้วก็อ่านสไลด์เองเลยเพราะเร็วกว่ากันเยอะ

การใช้ฟอนท์ขนาด 30 จะเป็นการบังคับให้ผู้พูดต้องทำการบ้านมาอย่างดีว่าจะหยิบคำอะไรขึ้นมาใส่ในสไลด์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเมื่อเนื้อหาส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในสไลด์ ผู้พูดก็จะต้องเตรียมตัวฝึกซ้อมมาอย่างดีไปโดยปริยายครับ

อ้อ แล้วถ้าฟอนท์ 30 มันใหญ่เกินกว่าเราจะรับได้จริงๆ กายคาวาซากิก็ให้สูตรคำนวณขนาดฟอนท์มาด้วยนะครับ โดยบอกว่าให้เราลองดูซิว่าคนที่แก่ที่สุดในกลุ่มผู้ฟังอายุเท่าไหร่ แล้วเอาอายุนั้นหารสอง เช่นถ้าเราต้องพูดคุยกับคนในทีมที่อายุไม่เกิน 30 ปี การใช้ฟอนท์ไซส์ 15 ยังพอรับได้ แต่ถ้าคุณต้องไปนำเสนอให้กับท่านซีอีโออายุ 52 ปี ก็ไม่ควรใช้ฟอนท์ไซส์เล็กกว่า 26 pts ครับ (สงสารท่านบ้างเถอะ)

—–

ใครที่อยากอ่านบล็อกตอนอื่นๆ เกี่ยวกับการทำ Presentation ขอเชิญอ่านได้ที่นี่ครับ

8 วิธีบอกลา Powerpoint ห่วยๆ 
เหตุผลที่ Amazon ไม่ใช้ Powerpoint ในการประชุม
จะทำสไลด์ อย่าเปิด Powerpoint

—–

* แม้กายคาวาซากิจะเป็นสาวกแอปเปิ้ลเต็มตัว แต่เขากลับพูดถึง Powerpoint ของ Windows แทนที่จะเป็น Keynote ของ Apple นั่นคงเป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่ยังใช้ Windows อยู่นั่นเอง

** ผมอ่านเจอกฎ 10/20/30 จากหนังสือ Enchantment ก่อนจะมาเจอเขาพูดเทคนิคนี้อย่างละเอียดในหนังสือ The Art of the Start (ศิลปะแห่งการทำ Startup)

—–

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก See First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

—–

ขอบคุณข้อมูลจาก Guy Kawasaki’s Blog: The 10/20/30 Rule of Powerpoint
ขอบคุณภาพจาก Wikimedia 

Banner468x60ver1.jpg

2 thoughts on “กฎ 10/20/30 ของการทำสไลด์

  1. Pingback: หนึ่งปี 358 บทความ: บทเรียนจากการเขียนบล็อกปี 58 | Anontawong's Musings

Leave a comment