ผมได้ฟังรายการ ติดคุย ที่ “พุฒต้าเร” สัมภาษณ์ เจ มณฑล จิรา
เจ มณฑล เคยโด่งดังเป็นพลุแตกจากโฆษณาทเวลฟ์ พลัส โคโลญ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว
เจเคยเป็นทั้งนายแบบและนักแสดง แต่สิ่งที่เขาจริงจังมากที่สุดคือเรื่องดนตรี เคยมีอัลบั้มของตัวเอง เคยไปทัวร์กับวงดนตรีเมืองนอก และเคยเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปินหลายคน
ผมเพิ่งรู้จากรายการนี้ว่าเขาคือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Wonderfruit Festival เทศกาลดนตรีสุดฮิป น้อง Gen Z หลายคนที่ผมรู้จักก็ไปงานนี้กัน
ผมชอบคำตอบในช่วงท้ายๆ ของรายการมากจนอยากจะเอามาบันทึกในบล็อกนี้ (นาทีที่ 52 เป็นต้นไป)
เจ: เราจะคิดไปว่า เรามาเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้เค้า เค้าอาจจะยังไม่เข้าใจตอนนี้ เค้าอาจจะไม่ชอบตอนนี้ แต่ว่าวันนึงเค้าอาจจะเห็นความตั้งใจของเรา ขอแค่เค้าไม่…ภาษาอังกฤษเค้าจะเรียกว่า clear the floor…แต่มันก็มีนะ เมื่อก่อนมีหลายช่วงเลย ที่เราออกไปเป็นดีเจ ตอนแรกคนจะเต็ม เล่นไปซักพักนึงคนจะโล่งเลย…ซึ่งบางครั้งถ้ามันไม่เกิดขึ้น แสดงว่าเราต้องทำอะไรผิด…มันต้อง clear the floor บ้าง ไม่อย่างนั้นแสดงว่าแนวเพลงเรามันอาจจะง่ายไป
ต้า: ความหมายก็คือ ถ้าเล่นแล้วคนยังอยู่ แสดงว่าลิสต์เพลงเราป๊อปไป ง่ายไป คนดูก็เลยยังอยู่ ต้องเล่นให้มันยากขึ้นให้คนเดินหนี (เจ: ใช่!) -ึงบ้ารึเปล่า?
ต้า: นี่แหละเดนตายเลยล่ะ รับรอง
เจ: ก็อย่าท้อสิ เรารู้ว่าถ้าเราเล่นเพลงง่ายๆ เดี๋ยวเค้าก็กลับมา แต่เพลงที่ง่ายน่ะ คนก่อนเรากับคนหลังเราเค้าเล่นอยู่แล้ว
เร: อันนี้คือรายการพื้นที่ชีวิต หรือ RAMA Channel รึเปล่า
เจ: เพราะเราเห็นหลายวงขึ้นเวทีไป พอเค้าลงมา เราถามว่าดีมั้ย? เค้าบอก ‘ไม่ค่อยดีว่ะ energy คนดูเค้าไม่ตาม’ แต่เราถามว่าการแสดงน่ะมันดีมั้ย เค้าบอก ‘ไม่ดีอ่ะ เพราะคนมันไม่ตาม’ – เกี่ยวอะไร มันวัดผิด บางคนจะบอกว่า ‘อ๋อ โคตรดีอ่ะ คนมันโคตรอินเลย’ – ไม่ๆ แต่การแสดงอ่ะ วงเล่นดีรึเปล่า มันคนละเรื่องกันเลย เราถามนักดนตรี กับเราถาม entertainer มันคนละอย่างกัน
ต้า: แต่กูก็ยังไม่บรรลุแบบมัน กูยังไม่กล้าพอที่จะเล่นให้คนหนี
เจ: เราไม่ได้พยายามจะเล่นให้คนหนี แต่เราแค่เห็นว่าสิ่งที่เราอยากจะเล่นน่ะมันอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่เค้าต้องการ
เจ: แต่ว่าตอนหลัง คนที่มา Wonderfruit เค้าจะแบบ ว้าว! ตอนนี้ทำไมมันเป็นสิ่งที่ต้องการแล้วล่ะ…ใช่มั้ย? มันต้องใช้เวลา
เร: ขออีกคำถามนึงสำหรับน้องๆ ที่เค้าอยากเป็นศิลปินมาก อาจจะออกผลงานมาเรื่อยๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เปรี้ยงซักที จะให้กำลังใจเค้ายังไงครับ?
เจ: ก็ต้องดูว่าความสำเร็จที่เค้าต้องการมันคืออะไร – อยากจะดังใช่มั้ย? ถ้าอยากดัง ไปทำคลิป TikTok เต้นไปเต้นมา 15 วิก็พอ ไม่ต้องทำเพลงหรอก…แต่ถ้าอยากเป็นนักดนตรีที่ดี อยู่บ้าน ซ้อมเยอะๆ ฟังเพลงเยอะๆ แค่นั้นแหละ
Seth Godin เป็นหนึ่งในฮีโร่ของผมในการเขียนบล็อก เขาเขียนบล็อกอย่างสม่ำเสมอมา 20 ปีแล้ว
เซธบอกว่าทุกคนสามารถเป็นศิลปินได้ โดยศิลปิน (artist) ในนิยามของเซธ คือคนที่กล้าสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมา อะไรบางอย่างที่มันอาจจะไม่เวิร์ค (something that might not work) แล้วก็แชร์สิ่งนั้นเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมในใจให้กับคนอื่น
ด้วยนิยามแบบนี้ บล็อกเกอร์ก็นับเป็นศิลปินได้เช่นกัน
ผมจึงชอบแนวคิดของเจ มนฑล เป็นพิเศษ เพราะเขาเดินทางในวงการนี้มาหลายสิบปี และเข้าใจแล้วว่าแก่นของการเป็นศิลปินคืออะไร
ศิลปินต้องกล้าที่จะเสี่ยง ต้องกล้าทำอะไรบางอย่างที่มันอาจจะไม่เวิร์ค
ถ้าอยากจะเป็นศิลปินที่ดี ก็จงมุ่งมั่นฝึกปรือฝีมือของเราต่อไป แต่ถ้าอยากเป็นคนดัง มันมีวิธีที่ง่ายกว่านั้น ไม่ต้องเป็นศิลปินก็ได้
ดังนั้น ใครที่เลือกจะเป็น content creator หากงานของเรามันยังไม่ปัง ยังไม่เคยไวรัล ก็อย่าเพิ่งยอมแพ้ ตราบใดที่เจตนาของเราคือการสร้างผลงานที่มีประโยชน์ คือการแบ่งปันสิ่งที่เรามีเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้ผู้อื่น เราก็ควรจะภูมิใจกับตัวเองได้โดยไม่ต้องดูยอดไลค์กำกับ
สิ่งที่เราควรระมัดระวัง คือการโหยหาความยอมรับเสียจนเรายอมลดมาตรฐานหรือปรับแต่งผลงานของเพื่อให้ถูกใจ algorithm ของโซเชียลมีเดียและคนหมู่มาก เพราะเมื่อเราพยายามจะเอาใจคนอื่นเกินไป เราก็จะหลงลืมเหตุผลที่เราเริ่มทำสิ่งนี้ตั้งแต่แรก
งานบางอย่างต้องใช้เวลา บางคนเขาอาจจะยังไม่พร้อมตอนนี้ก็ไม่เป็นไร ตอนนี้ “เพลง” ของเราอาจจะยังฟังยากสักหน่อย
“เพลงที่ง่ายน่ะ คนก่อนเรากับคนหลังเราเค้าเล่นอยู่แล้ว”
บรรเลงเพลงของเราให้ดีต่อไป แล้ววันหนึ่งจะมีคนเข้าใจเราแน่นอน