เมื่อเราได้อะไรมา เราจะเสียอะไรไปเสมอ

ผมเป็นคนที่ไม่ชอบกินปูนึ่ง

ไม่ใช่เพราะว่าไม่ชอบรสชาติ แต่เพราะว่าขี้เกียจแกะ ถ้ามีคนช่วยแกะให้ก็โอเค

พ่อผมชอบแกะปูให้กับคนในครอบครัว และพ่อก็เคยบอกผมสมัยเด็กๆ ว่า “ที่ปูมันอร่อยก็เพราะว่ามันต้องออกแรงแกะนี่แหละ”


ผมเป็นคนชอบกินปลาดิบ ไม่ว่าจะเป็นซูชิหรือซาชิมิ

ถ้าย้อนเวลากลับไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ก่อนปี 2010 ร้านอาหารญี่ปุ่นในเมืองไทยที่คนธรรมดาจะพอเข้าถึงได้ก็คือร้านญี่ปุ่นที่เป็นเชนใหญ่ๆ

ผมได้ไปญี่ปุ่นครั้งแรกในปี 2010 แล้วรู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก เพราะไม่ว่าจะกินปลาดิบร้านไหนก็อร่อยไปหมดเมื่อเทียบกับสิ่งที่เคยกินมาที่เมืองไทย

พอกลับไทยเลยเริ่มรู้สึกว่าปลาดิบที่ร้านเชนไม่ค่อยอร่อยเสียแล้ว

ปี 2013 ผมได้ไปญี่ปุ่นอีกครั้ง ไปกินร้าน Musashi Sushi ซึ่งเป็นซูชิจานหมุนตรงสถานีรถไฟเกียวโต จำได้ว่าเข้าคิวนานพอสมควร แต่พอได้กินก็ฟินมากเพราะปลาดีทุกจานและราคาก็ไม่แพง

ปี 2019 ผมกลับไปที่ร้านเดิม ร้านก็คิวยาวเหมือนเดิม แต่พอได้กินแล้วขีดความสุขกลับไม่ได้พุ่งเท่าครั้งก่อน

สมมติฐานหนึ่งก็คือคุณภาพปลาดิบของร้าน Musashi ตกลงไป แต่อีกสมมติฐานหนึ่งก็คือในช่วงปี 2013-2019 นั้นเมืองไทยมีร้านอาหารญี่ปุ่นผุดขึ้นมากมายราวดอกเห็ด ปลาดิบคุณภาพดีในราคาที่ผมเข้าถึงได้จึงมีให้ได้ลิ้มลองมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อมาตรฐานของเราสูงขึ้น ก็เลยกลายเป็นว่าซูชิจานหมุนร้าน Musashi ไม่อาจทำให้เราว้าวได้อีกต่อไป

เมื่อปลายปี 2022 แฟนผมไป business trip ที่โตเกียวประมาณ 4 วัน ได้กินปลาดิบอยู่ 2-3 มื้อ แต่แฟนบอกว่าร้านโปรดที่เมืองไทยอร่อยกว่ากันเยอะ

ผมบอกกับแฟนว่า ถ้าจะไปญี่ปุ่นรอบหน้าก็ต้องเผื่อใจเอาไว้ว่าอาหารญี่ปุ่นอาจจะไม่ใช่ไฮไลท์ในการเดินทางอีกต่อไป ต้องหาเหตุผลอื่นที่ดีกว่านั้น


Quote หนึ่งที่ Morgan Housel มักพูดถึงอยู่บ่อยๆ และทำให้ผมขบคิดมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ก็คือ:

“The thing that is least perceived about wealth is that all pleasure in money ends at the point where economy becomes unnecessary. The man who can buy anything he covets values nothing that he buys.

Wiliam Dawson, 1905

เมื่อใดก็ตามที่เราไม่จำเป็นต้องประหยัดอีกต่อไป ความสุขที่เราจะได้รับจากการจับจ่ายใช้สอยก็เหือดหายไปด้วย คนที่อยากได้อะไรก็ซื้อได้ทันทีย่อมจะไม่เห็นคุณค่าของสิ่งใดเลย

Dawson ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า (สมัยร้อยกว่าปีที่แล้ว) เมื่อคนธรรมดาคนหนึ่งคิดอยากจะซื้อรูปภาพ เขาต้องเข้าคิวหลายสัปดาห์ ต้องไปหาความรู้เกี่ยวกับรูปภาพต่างๆ เพื่อจะได้ไม่โดนคนขายหลอก ต้องทุรนทุรายอยู่กับการลุ้นว่าจะได้ภาพนั้นมาเชยชมหรือภาพนั้นจะหลุดมือไป เขาอาจต้องสละความสะดวกสบายบางอย่างเพื่อจะได้มีเงินเก็บมากพอ และความสุขที่เขาจะได้มาจากการได้ซื้อรูปนั้นย่อมขึ้นอยู่กับความยากลำบากกว่าจะได้มันมาครอบครอง

แต่สำหรับคนที่เดินเข้ามาในห้องขายภาพโดยรู้อยู่แก่ใจว่าจะซื้อภาพไหนก็ได้ด้วยการเซ็นเช็คแค่ใบเดียว ย่อมไม่เคยมีโอกาสได้รับรู้ถึงความรู้สึกเหล่านี้เลย


ผมเคยไปทำกิจกรรม CSR ที่โรงเรียนต่างจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคใต้

เราสั่งไอติมมาสองถัง และเพื่อนๆ ที่มาด้วยกันก็มาช่วยกันตักไอติมและแจกไอติมกันอย่างแข็งขัน

เด็กๆ เข้าคิวรอไอติมของเราอย่างใจจดใจจ่อ หน้าตาตื่นเต้นราวกับกำลังจะได้ขึ้นรถไฟเหาะตีลังกา

พอได้ไอติมไปแล้ว ก็กินกันอย่างเอร็ดอร่อย และหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน ราวกับว่าไอติมกะทิถ้วยนี้คือสิ่งที่พวกเขารอคอยมาทั้งชีวิต

ผมมองเด็กๆ แล้วก็อดสะท้อนใจไม่ได้ว่า “พวกเขามีความสุขกันง่ายจัง”


คนเราส่วนใหญ่แสวงหาความมั่งคั่งและความสะดวกสบาย ที่เราทำงานอย่างหนักทุกวันนี้ก็เพื่อที่จะสร้างฐานะและมีเงินมากพอที่จะดูแลตัวเองและคนที่เรารัก

แต่เรามักจะลืมคิดไปว่า ยิ่งเรามีกำลังซื้อมากเท่าไหร่ ยิ่งเรามีรสนิยมสูงขึ้นแค่ไหน สิ่งของหรือประสบการณ์ที่จะทำให้เรามีความสุขนั้นก็จะลดจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ

เหมือนคนที่เคยกินปลาดิบจากร้านเชนใหญ่ก็มีความสุขแล้ว แต่พอได้กินของที่ดีกว่า อร่อยกว่า ปลาดิบที่เคยทำให้เรามีความสุขได้ก็ไม่สามารถทำให้เรามีความสุขได้อีกต่อไป

ผมเลยคิดได้ว่า จริงๆ แล้วจักรวาล (หรือพระเจ้า / ธรรมะ) นี่ก็ยุติธรรมเหมือนกัน

เมื่อเราได้อะไรมา เราจะเสียอะไรไปเสมอ

เมื่อเรามีเงินมามากๆ เราจะสูญเสียความสุขจากการจับจ่ายใช้สอยเงินนั้น

เมื่อเราได้ตำแหน่งสูงๆ เราจะสูญเสียความทะเยอทะยานหรือความตั้งใจทำงานที่เคยมีสมัยที่อยู่ตำแหน่งที่ต่ำกว่านี้

เมื่อเราได้ follower มาเยอะๆ เราจะสูญเสียตัวตนในอดีตที่สามารถอดทนนั่งเขียนบทความโดยที่แทบไม่มีคนอ่านได้

ในทางกลับกัน เมื่อเราเสียอะไรไป เราจะได้อะไรกลับมาเสมอ

เมื่อเราเสียเหงื่อไปกับการวิ่ง เราจะได้ร่างกายที่แข็งแรงกลับมา

เมื่อเราเสียเวลากับคนที่ไม่ใช่ เราจะได้บทเรียนที่จะไม่เลือกคนผิดซ้ำอีก

เมื่อเราต้องสูญเสียบุคคลที่รักในครอบครัว เราจะมีเวลากลับมาดูแลตัวเองมากขึ้น

ในร้ายมีดี ในดีมีร้าย เหมือนหยินกับหยางที่อยู่คู่กันเสมอ

เหมือนคำของพ่อที่เคยบอกผมเอาไว้ ที่ปูมันอร่อยก็เพราะว่ามันต้องออกแรงแกะ

หากเราเข้าใจความจริงข้อนี้ เราจะเห็นคุณค่าของปัจจุบัน และมองอนาคตอย่างมีความหวังและความเผื่อใจครับ