ชีวิตคนเราต้องการความหลากหลาย

ผมได้ฟังการบรรยายของ Nassim Nicholas Taleb ผู้เขียนหนังสืออย่าง The Black Swan และ Antifragile

ทาเล็บบอกว่า ตัววัดอย่างหนึ่งที่ทำนายการเสียชีวิตของคนได้ดีที่สุด คืออัตราการเต้นหัวใจที่มีความผันแปรต่ำ (low variablity of heart rate)

หมายความว่า ถ้านาย A และนาย B อายุเท่ากัน เพศเดียวกัน ค่าเลือดต่างๆ เหมือนกัน แต่นาย A มีอัตราการเต้นของหัวใจที่สม่ำเสมอกว่านาย B – นาย A มีโอกาสจะเสียชีวิตมากกว่านาย B

อัตราการเต้นหัวใจที่สม่ำเสมอตลอดทั้งวันหรือทั้งสัปดาห์ ย่อมหมายความว่าร่างกายแทบไม่ได้ออกแรงเลย

หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้าเราอยากมีชีวิตยืนยาว ก็ควรสร้างโอกาสให้หัวใจเต้นเร็วสลับกับเต้นช้า พูดง่ายๆ ก็คือเราควรออกกำลังกายเพื่อให้หัวใจเต้นแรงขึ้นนั่นเอง

ทาเล็บยังบอกอีกว่า ตัววัดที่ทำนายการล้มละลายของบริษัทได้ดีที่สุด คือกระแสเงินสดที่มีความผันแปรต่ำ (low variability of cash flows) และ hedge fund (กองทุนบริหารความเสี่ยง) ที่ไม่มีความผันผวนเลย (no volatility) ก็มักจะเจ๊งภายในเวลาไม่นาน

ดังนั้นความผันผวนคือสิ่งที่มีประโยชน์ และอาจพูดได้ว่ามีความจำเป็นต่อชีวิตที่ยืนยาว


Morgan Housel เขียนไว้ในหนังสือ The Psychology of Money ว่านักลงทุนหลายคนไม่ชอบความผันผวน เวลาเห็นหุ้นหรือกองทุนที่ตัวเองซื้อไว้ราคาตกก็เริ่มกังวลและอาจตัดสินใจเทขาย

Housel บอกว่าเราควรไม่ควรมองความผันผวนเป็นค่าปรับ (fine) แต่ให้มองว่าเป็นค่าธรรมเนียม (fee)

ค่าปรับคือสิ่งที่เราต้องจ่ายเมื่อทำอะไรผิด แต่ค่าธรรมเนียมนั้นเป็นเรื่องปกติ เหมือนเราจะเข้าสวนสนุกก็ต้องจ่ายค่าบัตรผ่านประตู

ดังนั้นความผันผวนของตลาดคือค่าธรรมเนียมที่เราต้องจ่ายเพื่อโอกาสทำกำไรในอนาคต


เชื่อว่าใครหลายคนที่อ่านบล็อกนี้ต้องการชีวิตที่เรียบง่าย เพราะมันสบายดี ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องวิ่งวุ่นเหมือนคนอื่น

แต่ขณะเดียวกัน หากมันเรียบง่ายเกินไป ชีวิตก็อาจน่าเบื่อและจำเจ แต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือนจะหน้าตาเหมือนกันไปหมด พอมองย้อนกลับมาก็อาจไม่มีอะไรให้น่าจดจำนัก

ซึ่งก็นับเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะสิ่งที่เราเรียกว่า “ชีวิต” นั้น สุดท้ายแล้วก็คือประสบการณ์ที่เราจดจำได้นั่นเอง

หากใครรู้สึกว่าชีวิตช่วงนี้เสถียรเกินไป ก็อาจลองเพิ่มความหลากหลายเข้ามาในชีวิต ลองไปกินร้านใหม่ๆ ลงเรียนอะไรใหม่ๆ เจอคนใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสให้หัวใจได้เต้นแรงขึ้นบ้าง

เพราะชีวิตคนเราต้องการความหลากหลายครับ


ขอบคุณประกายความคิดจาก [THE DIGITAL FACTORY] Nassim Nicholas Taleb on Antifragile นาทีที่ 19-21

ป.ล. ผมพยายามไปค้นหาหลักฐานเรื่องอัตราการเต้นของหัวใจและกระแสเงินสด ก็พบว่าอัตราการเต้นของหัวใจที่มีความผันแปรต่ำนั้นเป็นตัวทำนายการเสียชีวิตได้จริงๆ ส่วนเรื่องกระแสเงินสดนั้นยังไม่ค่อยชัดเจนครับ ดูรายละเอียดงานวิจัยบางส่วนตามลิงค์ด้านล่างนี้ได้ครับ

Heart Rate Variability and Risk of All-Cause Death and Cardiovascular Events in Patients With Cardiovascular Disease: A Meta-Analysis of Cohort Studies

Power-Law Relationship of Heart Rate Variability as a Predictor of Mortality in the Elderly

Impending Bankruptcy: Examining Cash Flow Pattern of Distressand Healthy Firms

The Use of Cash Flow Statement in Predicting Business Failure