Threshold ออกเสียงว่า ทเรชโฮลด์ หมายถึงค่าอินพุตที่น้อยที่สุดที่เครื่องมือวัด (instrument) เริ่มแสดงเอาต์พุตออกมา
ผมเล่นเครื่องดนตรีได้หลายชิ้น แม้จะไม่เก่งกาจแต่ก็พอประครับประคองจนจบเพลงได้ เช่นกีตาร์ เบส กลอง
แต่เปียโนหรือคีย์บอร์ด เป็นเครื่องดนตรีที่ต้องเรียกว่า “ยังเล่นไม่เป็น” แม้จะลองเรียนไปแล้วหลายครั้ง พอจะจับคอร์ดและเล่นโน้ตได้บ้างแต่ก็ยังห่างไกลที่จะไปเล่นในวงกับใครเขา
ผมเคยเรียนภาษาฝรั่งเศสอยู่เกือบสามปีช่วงมัธยมปลาย แต่เมื่อไม่ได้ใช้มานานก็เลยไม่อาจสื่อสารในภาษานี้ได้ พูดได้แค่ประโยคง่ายๆ จำคำศัพท์ได้บางคำ แต่ถ้าจะต้องสื่อสารกับคนฝรั่งเศสก็คงเป็นเบื้อใบ้ ขณะที่ภาษาอังกฤษนั้น แม้จะเรียนจริงจังแค่สามปีช่วงมัธยมปลายเช่นกัน แต่ก็เป็นภาษาที่ได้ใช้มาตลอดและคิดว่าเอาตัวรอดได้แน่นอน
การที่คนเราจะมี “ความสามารถ” หรือ proficiency ถึงจุดหนึ่งจนเรามั่นใจว่า “เล่นเป็น” หรือ “เอาอยู่” นั้น ผมขอเรียกว่าเราผ่านจุด threshold มาแล้ว คือต่อจากนี้เมื่อมี input อะไรอีก เราก็สามารถสร้าง output ได้ด้วยตัวเอง
เหมือนการปั่นจักรยานสองล้อที่เป็นแล้วเป็นเลย หรือบวกลบคูณหารที่ทำได้แล้วเราก็จะไม่ลืมอีก
แต่ถ้าเรายังไม่สามารถไปถึงจุด threhold ได้ ก็แทบจะต้องกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ทุกครั้ง ที่เคยลงทุนลงแรงเอาไว้นั้นไม่ได้ออกดอกออกผลคุ้มค่าเท่าไหร่
ผมคิดว่าเป้าหมายอย่างหนึ่งที่เราควรมี คือไปให้ถึงจุด threshold เหล่านี้ให้ได้ เพื่อจากนี้ไปจะได้ไม่ต้อง “เริ่มใหม่” ซ้ำไปซ้ำมา
ถ้าในฐานะคนทำงานประจำ เราก็ควรพาตัวเองไปให้ถึงระดับ manager หรือ director ให้ได้ เมื่อได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นหัวหน้าคนได้แล้ว หรือเป็นผู้บริหารได้แล้ว ก็น่าจะได้รับโอกาสในอนาคตให้ได้ดูแลทีมอีก ซึ่งก็ย่อมจะได้ค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูงกว่าคนที่ไม่ได้เป็นหัวหน้า
(แน่นอนว่าในบางสายอาชีพเราก็สามารถมีเงินเดือนสูงๆ ได้โดยไม่ต้องเป็นหัวหน้าใคร เช่นสาย software development ที่ individual contributor ระดับเทพก็มีเงินเดือนหลักแสนได้ แต่สำหรับประเทศไทย การเป็นหัวหน้าคือเส้นทางที่เลี่ยงไม่ค่อยพ้นสำหรับคนอยากมีเงินเดือนสูงๆ)
สำหรับคนทำเพจ การมีคนตามหลักร้อยหรือหลักพัน อาจจะยังไม่เซฟ แต่ถ้ามีผู้ติดตามหลักหมื่นขึ้นไป (โดยที่ไม่ได้ซื้อยอดฟอล) ก็น่าจะเรียกว่าเป็นคนทำคอนเทนท์ได้เต็มปากเต็มคำ
สำหรับคนที่อยากมีอิสรภาพทางการเงิน ก็จะต้องหาทางสร้าง passive income ให้สูงกว่ารายจ่าย เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องทำงานเพื่อหาเงินอีกต่อไป (แต่ถ้ายังอยากทำงานอยู่ก็ไม่เสียหาย)
ศาสนาพุทธก็มีความเชื่อว่า คนเราควรไปให้ถึงโสดาบัน เพื่อจะได้ไม่ต้องกลับมาเกิดในภพภูมิที่ต่ำกว่ามนุษย์อีกแล้ว
เมื่อเราสำรวจหลากหลายมิติในชีวิตของเรา เราจะพบว่ามีจุด threshold อยู่เต็มไปหมด บางจุดเราไปถึงมันเรียบร้อย บางจุดก็ยังไปไม่ถึง
การไล่เก็บ threshold ในเรื่องที่สำคัญกับเรา จึงน่าจะเป็นเป้าหมายที่คุ้มค่าและท้าทายครับ