เมื่อความยุติธรรมสำหรับคนส่วนใหญ่อยู่เหนือความยุติธรรมสำหรับคนคนเดียว

สมมติว่าคนในครอบครัวของเราถูกจับเรียกค่าไถ่ และเรามีกำลังจ่าย เราจะยอมจ่ายค่าไถ่หรือไม่?

ถ้าใช้ตัวเองเป็นตัวตั้ง ผมเองอาจจะยอมจ่าย

แต่ถ้าเอาสังคมเป็นตัวตั้ง การจ่ายค่าไถ่ย่อมเป็นการส่งสัญญาณว่าอาชีพเรียกค่าไถ่นี้มีผลตอบแทนดี โจรคนเดิมอาจจะจับคนอื่นเพื่อเรียกค่าไถ่อีกในอนาคต แถมคนอื่นๆ อาจจะเริ่มคิดอยากเป็นโจรเรียกค่าไถ่บ้าง

การที่เรายอมจ่ายค่าไถ่ เราอาจจะช่วยชีวิตคนในครอบครัวได้หนึ่งคน แต่เรากำลังสร้างความเสี่ยงให้กับคนอื่นๆ ในสังคมอีกไม่รู้กี่สิบคน

เวลาศาลตัดสิน นอกจากจะมองความถูกต้องและยุติธรรมของโจทย์และจำเลยแล้ว ศาลยังต้องระวังด้วยว่าการตัดสินนี้จะมีผลต่ออนาคตอย่างไร

ลองคิดถึงสถานการณ์การจับตัวเรียกค่าไถ่อีกครั้ง สมมติว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนตัดสินใจว่าจะยอมจ่ายค่าไถ่หรือไม่ แล้วเจ้าหน้าที่ตัดสินใจไม่ยอมจ่ายค่าไถ่จนเป็นผลให้ตัวประกันถูกสังหาร

ในกรณีนี้ รัฐต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับครอบครัวผู้เสียหายหรือไม่

ถ้ามองด้วยความเห็นใจ เราก็คงอยากให้ศาลตัดสินให้รัฐจ่ายค่าเสียหายให้ครอบครัว แต่การตัดสินแบบนั้นไป ย่อมหมายความว่าหากเกิดสถานการณ์เรียกค่าไถ่อีกในอนาคต เจ้าหน้าที่รัฐย่อมมีแนวโน้มที่จะยอมจ่ายค่าไถ่ ซึ่งนั่นก็จะทำให้ปัญหาโจรเรียกค่าไถ่เพิ่มขึ้นเหมือนในกรณีแรก

ดังนั้น การตัดสินของคนที่อยู่ในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นศาล ผู้บริหารประเทศ หรือผู้บริหารองค์กร นอกจากต้องคำนึงถึงความชอบธรรมต่อคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว ยังต้องคำนึงถึงบรรทัดฐานที่จะถูกสร้างขึ้นจากกรณีนี้ รวมถึงแรงกระเพื่อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

ดังนั้น แม้การตัดสินหรือตัดสินใจบางอย่างจะดูไม่ยุติธรรมหรือไม่มีมนุษยธรรมสำหรับคนหนึ่งคนในวันนี้ แต่มันอาจช่วยป้องกันหรือลดทอนปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับคนอื่นอีกมากมายในอนาคต

ผมไม่อาจตัดสินได้ว่าแบบไหนถูกต้องกว่ากัน แค่อยากนำมาเล่าเพื่อให้เราเห็นภาพที่ชัดขึ้นว่า ในโลกที่ไม่เพอร์เฟ็กต์ ประโยชน์ของคนส่วนใหญ่อาจจำเป็นต้องแลกมาด้วยการเสียประโยชน์ของคนส่วนน้อยครับ


ขอบคุณเนื้อหาจาก The Great Mental Models Vol.3: Systems and Mathematics by Rhiannon Beaubien & Rosie Leizrowice