เมื่อเสียงของประชาชน(เริ่ม)มีความหมาย เราอาจแปลงกลายเป็น Active Citizen

บ้านผมอยู่ในซอยอ่อนนุช 80 (ฝั่งตรงข้ามคืออ่อนนุช 57) ไม่ไกลจากเส้นพัฒนาการตัดใหม่เท่าไหร่นัก

เวลากลับบ้าน ผมต้องมากลับรถแถวๆ ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือป้าลิ้ม (ร้านนี้อร่อยครับ ผมกินประจำ)

ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ตรงจุดกลับรถนี้เริ่มมีหลุมบ่ออยู่กลางถนน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร ผมต้องพยายามขับรถหลบหรือขับคร่อมทุกครั้ง ในใจก็ได้แต่คิดว่าถ้ามอเตอร์ไซค์ที่ไม่คุ้นทางวิ่งมาเร็วๆ น่าจะอันตราย ยิ่งช่วงนี้เข้าหน้าฝนหลุมคงจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

และผมก็ทำเหมือนกับที่คนส่วนใหญ่ทำกัน

นั่นคือไม่ได้ทำอะไร

จริงๆ ก็อยากจะรายงานปัญหานะครับ แต่ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน เพราะไม่รู้ว่าใครรับผิดชอบ จะให้โทรไปสำนักงานเขตประเวศก็ไม่รู้จะติดต่อฝ่ายไหน แถมส่งเรื่องไปแล้วจะได้รับการแก้ไขรึเปล่าก็ไม่รู้

เมื่อเรื่องมันดูวุ่นวาย สุดท้ายก็ได้แต่อยู่เฉยๆ และหวังลมๆ แล้งๆ ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะมาจัดการให้เรียบร้อยในอนาคตอันไม่ไกลเกินไปนัก


เคยได้ยินชื่อ Traffy Fondue (LINE @traffyfondue) กันมั้ยครับ?

ฟังชื่อนึกว่าเป็นร้านขายขนมหวาน แต่เมื่อเข้าไปศึกษาทีหลังถึงรู้ว่าสร้างจากห้องปฏิบัติการระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะของ NECTEC

แม้จะมีมาตั้งแต่ปี 2561 แต่ผมเพิ่งได้รู้จักกับแอปนี้อย่างจริงจังจากโพสต์ของอ.ชัชชาติเมื่อวันที่ 29 พ.ค.65 ข้อความส่วนหนึ่งเขียนไว้ว่า:

“ปัญหาโครงสร้างของเมืองในระดับเส้นเลือดฝอยเป็นปัญหาที่พวกเราต้องเจอในทุกๆ วัน เช่น ฟุตบาทไม่เรียบ แสงสว่างไม่เพียงพอ ขยะไม่มีคนเก็บ เป็นต้น

หลังจากเลือกตั้งจบแล้ว ทีมงานเพื่อนชัชชาติจึงนำทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) กลับมาใช้อีกรอบ…หัวใจของความสำเร็จของระบบนี้ คือความร่วมมือของประชาชน + ความตั้งใจจริงของภาครัฐในการแก้ปัญหา

การพัฒนาให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้เพื่อกรุงเทพฯ ที่ดีของเราทุกคนครับ”

ผมก็เลยแอดไลน์เอาไว้ และตั้งใจว่าถ้าจังหวะเหมาะๆ ก็อยากจะลองรายงานปัญหาถนนเป็นหลุมตรงจุดที่ผมกลับรถ

สองเหตุผลที่คิดจะรายงานปัญหานี้ก็เพราะว่า หนึ่ง มันเป็นเส้นทางที่ผมผ่านทุกวัน จึงรู้ได้เลยว่าได้แก้หรือไม่ และสอง การแก้ปัญหานี้น่าจะใช้เงินและเวลาน้อยมาก ถ้าคิดจะทำก็ย่อมไม่มีข้ออ้าง เคสนี้จึงน่าจะเป็นการทดสอบที่ดีว่าการร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue มันจะมีประโยชน์จริงหรือไม่

วันอาทิตย์ที่ 5 มิ.ย. ผมพาลูกๆ ไปข้างนอก กลับมาก็เย็นและเหนื่อยมากแล้ว แต่ก็นึกขึ้นมาได้ว่าเราอยากรายงานปัญหานี้ เลยปั่นจักยานไปหน้าปากซอย เลี้ยวขวาปั่นขึ้นฟุตบาทไปยังจุดกลับรถ (รู้สึกผิดนิดหน่อยแต่เป็นทางที่ปลอดภัยที่สุดแล้ว) เปิดไลน์ @traffyfondue ขึ้นมาแล้วเริ่มคุยกับ Chatbot

ผม: ถนนเป็นหลุมบ่อ ตรงจุดกลับรถ

TF: ถนนเป็นหลุมบ่อ ตรงจุดกลับรถนะครับ ช่วยถ่ายภาพประกอบ ส่งเข้ามาหน่อยครับ (มีปุ่มให้เลือกกดถ่ายรูป)

ผม: (ส่งรูป)

TF: ช่วยเลือกประเภทของเรื่องที่แจ้ง 1 อย่างครับ (มีช้อยส์ขึ้นมาให้เลือก เช่น ขยะ น้ำท่วม ความปลอดภัย อื่นๆ)

ผม: (กดเลือกช้อยส์ “อื่นๆ”)

TF: สักครู่นะครับ

เพียงอึดใจเดียว Traffy Fondue ก็สรุปปัญหาพร้อมภาพถ่าย ลงเวลา 2022-06-05 18:41 และแจ้งสถานะว่า “รอรับเรื่อง” แถมยังบอกด้วยว่า “คุณมี 10 แต้ม”

ตอนแรกว่าจะไปถ่ายรูปจุดอื่นด้วย แต่ฝนเริ่มลงเม็ด ก็เลยต้องปั่นจักรยานกลับบ้านด้วยความหวัง แต่ก็มีเผื่อใจไว้เหมือนกันว่าอาจจะใช้เวลาหรืออาจจะไม่เกิดอะไรขึ้นเลยก็ได้

วันจันทร์ Traffy Fondue ก็ส่งอัพเดตมาให้

2022-06-07 12:46 “กำลังดำเนินการ”

ตลอดสัปดาห์ ทุกครั้งที่กลับรถ ผมก็จะคอยลุ้นว่าถนนได้ซ่อมหรือยังแม้จะรู้อยู่แก่ใจว่ามันเร็วเกินไป

จนเมื่อวานนี้ ศุกร์ที่ 10 มิ.ย. หลังจากไปกินข้าวกับแฟน พอกลับรถปุ๊ป ผมก็ตะโกนลั่น “ซ่อมแล้วๆๆ” จนแฟนตกใจ นึกว่าเป็นอะไร

หลุมที่คุ้นเคยหายไปแล้ว มีแต่รอยยางมะตอยที่ราดเอาไว้

อาจฟังดูเว่อร์วัง แต่สำหรับผม มันเป็น magic moment

เพราะตลอดชีวิตการเป็นมนุษย์กรุงเทพมา 40 กว่าปี ผมยังไม่เคยร้องเรียนเรื่องใดๆ แล้วได้รับการแก้ปัญหาเลย แต่ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขหลังจากที่เรารายงานไปแค่ 5 วันเท่านั้น

พอกลับถึงบ้านเปิดไลน์ Traffy Fondue ก็เห็นข้อความ

2022-06-10 14:53 “เสร็จสิ้น”

“ฝ่ายโยธาสำนักงานเขตประเวศ ได้ตรวจสอบแล้ว และดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมเรียบร้อยแล้วตามภาพถ่ายที่แนบ”

เสียดายว่ารูปเล็กไปหน่อยและกดเข้าไปดูไม่ได้

ตอนเย็น หลังจากทำงานเสร็จ ผมก็เลยปั่นจักรยานกลับไปตรงจุดกลับรถและถ่ายรูปเพื่อบันทึกไว้ให้เห็นเป็น Before & After


ผมเคยนั่งคุยกับพ่อว่า ที่ผ่านมา “การปฏิรูป” ต่างๆ ไม่เคยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง สิ่งที่เราเห็นก็คือการตั้งคณะกรรมการเพื่อทำการศึกษาและนำเสนอแนวทางแก้ไข แต่สุดท้ายก็ได้เพียงรายงานที่ไม่เคยได้ถูกเอาไปใช้ปฏิบัติจริง

นี่คือความเห็นของพ่อ:

“สำหรับพ่อเอง ทุกวันนี้การเมืองเหมือนพายเรือในอ่าง พ่อคิดว่าทางออกของบ้านเมืองคือ Active Citizen พลเมืองเข้มแข็ง ถ้าพลเมืองเข้มแข็งแล้วเขาสามารถสร้างชุมชนขึ้นมาได้ดีด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งอำนาจรัฐด้วยซ้ำไป

พ่อไปดูหลายพื้นที่ที่เขาสามารถจะสร้างชุมชนที่ดีขึ้น เช่น พ่อไปดูงานที่หมู่บ้านน้ำเกี๋ยน ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เขามีปัญหามีการค้ายาเสพติด 2-3 หลังคาเรือนมีบ่อนการพนัน 4-5 หลังคาเรือน มีการตัดไม้ทำลายป่า

เพราะฉะนั้นผู้คนในตำบลน้ำเกี๋ยงประมาณ 5 หมู่บ้าน เขาเรียก 42 ขุนพล เขาเอาคนที่เป็นที่เคารพนับถือของแต่ละหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 5 คน 7 คนแล้วแต่ รวมแล้วได้ 42 ขุนพล แล้วจัดตั้งกันเข้มแข็ง มีประชุมกันเป็นประจำเพื่อที่จะแก้ปัญหา

42 ขุนพลเป็นที่ยอมรับเชื่อถือของของแต่ละหมู่บ้าน หยิบเอาปัญหายาเสพติดขึ้นมา เขาก็รู้ว่าบ้านนี้ค้า บ้านนั้นก็ค้า แล้วเขาก็ไปพูดบอกว่า ที่คุณค้าคุณคิดถึงอนาคตลูกหลานบ้างหรือเปล่า แล้วถ้ามันติดทั้งหมู่บ้านมันจะเป็นยังไง ในที่สุดก็แก้ปัญหาได้

รู้ว่าบ้านนี้ตัดไม้ทำลายป่า ก็ใช้วิธี “ตาสับปะรด” บ้านแต่ละหลังดูแลบ้านซ้ายขวา ต่างคนต่างดูแลกันว่าอะไรที่ชั่วร้ายไม่ให้มี ในที่สุดก็ใช้เวลา 5 ปีแก้ปัญหาได้ ตัดไม้ทำลายป่าแก้ได้ ยาเสพติดแก้ได้ การพนันก็เลิกหมด อย่างนี้เป็นต้น”


สำหรับคนกรุงเทพแล้ว การเป็น Active Citizen ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะแค่ทำงาน เดินทาง ดูแลคนในครอบครัวก็เต็มกลืนแล้ว คนที่จะมีเวลาเหลือไปจัดตั้งกลุ่มเพื่อเคลื่อนไหวหรือต่อสู้อะไรเพื่อส่วนรวมนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและไกลตัวสำหรับคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในวัยทำงาน

คนจำนวนไม่น้อยจึงเป็นได้แค่ Active Critic คือติดตามข่าว แสดงความเห็นตามโซเชียลมีเดีย และวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างออกรสในวงเหล้าท่ามกลางเหล่าเพื่อนสนิท จากนั้นก็แยกย้ายกลับบ้านไปนอนเพียงเพื่อตื่นขึ้นมาเผชิญกับความจริงที่ยังคงเดิม

นี่คือเหตุผลที่สำหรับผมแล้ว การซ่อมหลุมบ่อตรงจุดกลับรถภายในเวลา 5 วัน เป็น magic moment เพราะมันคือความพ้องพานของหลายปัจจัยที่ไม่เคยเกิดขึ้นพร้อมกันมาก่อน:

  • คนไทยส่วนใหญ่มีสมาร์ตโฟนและมี LINE
  • แอป Traffy Fondue ทำให้การรายงานปัญหาเป็นเรื่องสะดวกและใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที แถมยังรู้ด้วยว่าปัญหาไปถึงไหนแล้ว
  • อ.ชัชชาติ ผู้ว่ากทม.คนใหม่ประกาศชัดเจนว่าจะติดตามเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามา ทำให้แต่ละเขตมี accountability และมี skin in the game เพราะทุกปัญหานั้นแทร็คได้หมดว่าอยู่ในความดูแลของใคร ทำให้มี KPI ชัดเจน

ผมเปิดดูในเว็บ Traffy Fondue เวลานี้ (11 มิ.ย.65 เวลา 16:32) มีพลเมืองช่วยกันรายงานปัญหาเข้ามาแล้วถึง 20,880 เคส แก้ไปแล้ว 3,176 เคส คิดเป็น 15%

แน่นอนว่าความหนักใจและเหน็ดเหนื่อยย่อมตกอยู่กับคนทำงาน แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็น่าจะช่วยกระตุ้นให้เขามีเป้าหมายที่จับต้องได้ให้ยึดเหนี่ยว และได้ทำงานที่ตอบโจทย์คนในพื้นที่อย่างแท้จริง

แม้อ.ชัชชาติจะชนะการเลือกตั้งแบบทิ้งห่างคู่แข่ง แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เลือกอ.ชัชชาติ และยังจับตาดูด้วยความไม่ไว้วางใจ

ซึ่งจะว่าไปก็เป็นเรื่องดี จะได้ช่วยกันตรวจสอบและคอยเตือนสติกันไม่ให้ชี้นกเป็นนกไปเสียหมด

ไม่ว่าการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ที่ผ่านมาเราจะกาเบอร์ไหนก็ยังสามารถรายงานปัญหาผ่าน Traffy Fondue ได้ เพราะ Chatbot นั้นตาบอดสีทางการเมือง

ใครจะเคลมเครดิตมากไปหรือน้อยไปเราไม่รู้หรอก รู้แต่ว่าถ้าปัญหามันได้รับการแก้ไข คนที่ได้ประโยชน์เต็มๆ ก็คือตัวเราเอง

ขอบคุณทีมงาน NECTEC ที่สร้าง Traffy Fondue ขึ้นมา และขอบคุณอ.ชัชชาติและทีมงานที่ทำให้แอปตัวนี้มีที่ยืนอยู่ในสปอตไลท์ และแน่นอนว่าต้องขอบคุณหน่วยงานที่รับผิดชอบทุกภาคส่วนที่จะทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่

เพราะจากนี้ไป เมื่อเสียงของประชาชน(เริ่ม)มีความหมาย พวกเราจะแปลงกลายเป็น Active Citizen

แล้วกรุงเทพเมืองฟ้าอมร จะดีกว่านี้ได้แน่นอนครับ