คำถามที่ 1 – เราให้น้ำหนักกับข้อเสียมากเกินไปรึเปล่า
หลายคนอาจเคยได้ยินได้ฟังนิทานอิฐสองก้อนจากหนุ่มเมืองจันท์
พระอาจารย์พรหม ลูกศิษย์หลวงพ่อชา เคยก่อกำแพงอิฐแล้วมีพลาดวางอิฐสองก้อนไม่เรียบร้อย พระอาจารย์อยากจะทุบกำแพงเพื่อสร้างใหม่ แต่เจ้าอาวาสไม่ยอม
จากนั้นเวลามีแขกมา พระอาจารย์จะหลีกเลี่ยงไม่พาแขกเดินผ่านกำแพงบริเวณนี้ เพราะอายที่ก่ออิฐผิดพลาดไป 2 ก้อน
จนกระทั่งวันหนึ่ง พระอาจารย์พรหมกำลังเดินกับผู้มาเยือนวัดคนหนึ่ง เขาเห็นกำแพงอิฐนี้แล้วเปรยขึ้นมาว่า “กำแพงนี้สวยดี”
พระอาจารย์พรหมถามด้วยอารมณ์ขันว่า “คุณลืมแว่นสายตาไว้ในรถหรือเปล่า คุณไม่เห็นหรือว่ามีอิฐ 2 ก้อนที่ก่อผิดพลาดจนกำแพงดูไม่ดี”
แต่แล้วผู้มาเยือนคนนี้ก็เอ่ยประโยคที่ทำให้พระอาจารย์พรหมเปลี่ยนแปลงทัศนคติทั้งหมดที่เคยมีต่อกำแพงนี้
“ผมเห็นอิฐที่วางไม่ดีสองก้อนนั้น แต่ผมก็ได้เห็นด้วยว่ามีอิฐอีก 998 ก้อนที่ก่อไว้อย่างสวยงาม”
เวลาเราไม่ค่อยมีความสุขกับที่ทำงาน มักจะเกิดจากอิฐ 2 ก้อนนี่แหละ
เช่นนิสัยบางอย่างของหัวหน้า หรือความไม่เรียบร้อยของการทำงานของบางคน แล้วเราก็จะผิดหวังและหัวเสียไปกับเรื่องเหล่านี้
ส่วนของที่มันดีอยู่แล้วเรามักไม่ค่อยเห็นและไม่ให้น้ำหนัก เพราะมันเป็นเหมือนอากาศที่เราจะนึกถึงก็ต่อเมื่อเราขาดมันไปเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเนื้องาน เพื่อนร่วมงานที่น่ารัก การได้ทำงานที่บ้าน และสวัสดิการที่ดี
ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะมองเห็นอิฐ 2 ก้อนก่อนอิฐ 998 ก้อน มนุษย์เราถูกวิวัฒนาการให้มองหาสิ่งผิดปกติอยู่ตลอดเวลาเพื่อที่เราจะได้รอดพ้นจากอันตรายและอยู่รอดเพื่อสืบพันธุ์
หรือถ้าจะมองด้วยเลนส์ของกฎ 80/20 ที่บอกว่าผลส่วนใหญ่เกิดจากเหตุส่วนน้อย ความทุกข์ส่วนใหญ่ในที่ทำงานของเราก็เกิดจากต้นเหตุเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้นเอง
เมื่อเราจดจ่อกับอิฐ 2 ก้อนมากเกินไป เราจึงไม่เห็นคุณค่าของอิฐอีก 998 ก้อนที่เหลือ
คำถามข้อที่ 2 – เราเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลอยู่รึเปล่า
ภาษาอังกฤษเรียกว่า Me-Centered Universe
เรามักไม่ได้ตัดสินสิ่งต่างๆ เพราะว่ามันไม่ถูกต้อง
เรามักตัดสินสิ่งต่างๆ เพราะว่ามันไม่ถูกใจเรา
ไม่ผิดที่จะอยากให้อะไรมันดีขึ้น แต่ถ้าเราไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมากเกินไป เราก็จะพอเข้าใจได้ว่าปัญหาบางอย่างมันต้องใช้เวลาแก้ และแต่ละคนแค่จะเอาตัวเองให้รอดจากปัญหาของตัวเองก็ตึงมือพออยู่แล้ว ดังนั้นเขาอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นปัญหามากนัก
แต่หากเราคิดแบบ me-centered universe เราจะเผลอคิดไปว่าปัญหาของเรานั้นสำคัญและต้องแก้ไขด่วนที่สุด และพอคนอื่นๆ ไม่ได้เห็นพ้องกับเรา เราก็จะชี้นิ้วไปที่คนอื่นก่อนเสมอ
ที่เขียนมานี้ไม่ได้ต้องการจะบอกว่าให้ทนต่อไปโดยไม่มีข้อแม้
แค่จะบอกว่าปัญหาและความ suffer ที่เกิด เราเองก็มีส่วนทำให้มันหนักหนาขึ้นด้วยเช่นกัน
ลองถอยออกมาให้ห่างจากจุดศูนย์กลางของจักรวาล แล้วมองที่ทำงานของเราอีกครั้ง
แล้วเราอาจเห็นอิฐดีๆ อีก 998 ก้อนที่เรามองข้ามมาตลอด
จะได้ไม่เผลอทุบกำแพงที่เราสร้างมาเองกับมือครับ
ขอบคุณประกายความคิดจาก Srikumar Rao | Talks ag Google | Are You Ready to Suceed? (นาทีที่ 30:32)