องค์กรยุคนี้ควรมีผู้นำ On-Demand

ศัพท์คำหนึ่งที่เราเห็นบ่อยขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคือคำว่า on-demand

On-demand printing คือธุรกิจที่รับผลิตสิ่งของตามจำนวนที่เราสั่งในเวลาอันรวดเร็วและในจำนวนที่พอดีกับความต้องการ ต้นทุนจึงไม่จม และเราไม่ต้องแบกสต๊อคเยอะ

On-demand transportation คือบริการเรียกรถเพื่อไปส่งเราให้ถึงที่หมาย

ส่วน On-demand delivery ก็อย่างเช่น food delivery ที่รับสั่งอาหารและส่งให้ถึงบ้าน

คำว่า on-demand คืออะไรที่ทันใจ ตอบโจทย์ และไม่ได้มีภาระผูกมัด

องค์กรยุคใหม่ก็ควรมี on-demand leadership เช่นกัน

องค์กรยุคเดิม จะมีลำดับขั้นและขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน ซึ่งโครงสร้างแบบนี้มีมาเป็นร้อยปีแล้ว

แต่ในยุค New Normal ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไว มีโจทย์ใหม่ๆ ให้แก้ โดยที่เราไม่แน่ใจว่าโจทย์นี้ใครควรเป็นคนดูแล จนเกิดเป็น grey area และอาจกลายเป็นปัญหาคาราคาซัง

On-demand leadership จะเข้ามาเติมคำในช่องว่างได้

คนที่เป็น on-demand leader จะมองเห็นว่างานนี้ยังไม่มีใครเป็นเจ้าภาพ ดังนั้นจึงอาสาขึ้นมาเป็น project manager/project coordinator โดยที่ไม่มีใครแต่งตั้ง

เขาแต่งตั้งตัวเองเพราะสถานการณ์มันจำเป็น และเพราะทนไม่ได้ที่เห็นปัญหาอยู่ตรงหน้าโดยไม่มีใครทำอะไร

On-demand leader ก็เลยสวมบทบาทเป็น owner ของปัญหานี้ นัดคุยกับคนที่เกี่ยวข้อง สรุป actions ที่ชัดเจน และสร้างความคืบหน้าให้กับการหาทางออก

เมื่อถึงจุดที่การแก้ปัญหาเริ่มมีโมเมนตัม หรือผู้บริหารได้มอบหมายให้มีคนดูแลอย่างเป็นทางการ on-demand leader ก็จะลดบทบาทตัวเองลงมาเป็นทีมงานธรรมดาคนหนึ่งเหมือนเดิม

ผู้นำสมัยเก่า ต้องรอการแต่งตั้งจากเบื้องบน และแม้เมื่อผ่านพ้นก็ยังปล่อยวางบทบาทตัวเองไม่ได้

ผู้นำสมัยใหม่ ไม่ต้องรอให้ใครแต่งตั้ง และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็พร้อมจะเดินลงจากเวที

On-demand leadership จึงเป็นอะไรที่ทันใจ ตอบโจทย์ และไม่ได้มีภาระผูกมัด

ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยโจทย์ใหม่อันท้าทายและปัญหาที่ไม่มีใครเคยพบเจอ หากองค์กรใดมีพนักงานที่พร้อมจะเป็น on-demand leader ในจำนวนที่มากเพียงพอ ก็ย่อมจะฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ดีกว่าองค์กรอื่นๆ ครับ


ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือ Impact Players by Liz Wiseman