“To prioritize the day, think about the decade:
-James Clear
If I want to be on track to achieve X in 10 years, what do I need to do today?”
ก่อนที่มนุษย์เราจะเริ่มทำไร่ไถนาเมื่อประมาณ 12,000 ปีก่อน เราใช้ชีวิตอยู่หลายแสนปีกับการหาอยู่หากินด้วยการล่าสัตว์และเก็บพืชผล
วิถีของ hunter-gatherer นั้นไม่ต่างจากสัตว์พันธุ์อื่นๆ บนพื้นพิภพ คือใช้ชีวิตแบบวันต่อวัน เช้าตื่นมาก็ต้องวิ่งให้เร็วกว่าเหยื่อ และต้องวิ่งให้เร็วกว่าสัตว์อื่นที่จะมาล่าเราด้วย เมื่อได้อาหารมาก็กิน พลบค่ำก็นอน ตื่นมาพรุ่งนี้ก็วนหลูปใหม่ เป็นอย่างนี้ตั้งแต่เกิดจนตาย
เราจึงคุ้นชินกับการใช้ชีวิตแบบวันต่อวันมานานแสนนาน
จนกระทั่งเมื่อ 12,000 ปีที่แล้ว เป็นยุคปฏิวัติเกษตรกรรม (Agricultural Revolution) เราจึงเริ่มทำไร่ไถนา เริ่มทำปศุสัตว์ เริ่มมีการลงหลักปักฐาน เริ่มมี “สมบัติ” ที่ต้องดูแลซึ่งก็คือผลิตผลและปศุสัตว์ที่ลงทุนลงแรงเอาไว้ เมื่อมีความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ จึงเริ่มคิดถึงอนาคตมากขึ้น เริ่มวางแผนล่วงหน้า
แม้ว่าเราจะรู้จักการวางแผนล่วงหน้ามาเป็นหมื่นปีแล้ว แต่ DNA ลึกๆ ในตัวเราก็ยังเคยชินกับการใช้ชีวิตแบบวันต่อวันมากกว่า
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่กิจกรรมที่เราเลือกทำแต่ละวันนั้นเราไม่ได้คิดถึงอนาคตอะไรมากนัก เอาแค่ทำงานของวันนี้หรือสัปดาห์นี้ให้เสร็จก็เต็มกลืนแล้ว เมื่อมีเวลาเหลือก็นำไปใช้สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจหลังจากต้องเผชิญกับสิ่งที่ดูดพลังชีวิตมาทั้งวัน
ที่เจมส์ เคลียร์แนะนำว่าให้คิดล่วงหน้าไป 10 ปีว่าเราอยากจะไปถึงจุดไหน เราอยากจะมีสุขภาพทางร่างกาย จิตใจ และการเงินเป็นอย่างไร แล้วนำตรงนั้นมาเป็นเกณฑ์การตัดสินใจว่าวันนี้เราจะเลือกทำอะไรบ้าง จึงเป็นเรื่องที่ขัดกับตัวตนของมนุษย์ และชีวิตคนบางคนก็ไม่อาจเลือกได้ขนาดนั้น
แต่อย่างน้อยที่สุด-อย่างน้อยที่สุด ใน 17 ชั่วโมงที่เราตื่นนอน ถ้าเราสามารถกันเวลาไว้สัก 1 ชั่วโมงเพื่อทำสิ่งที่จะพาเราไปสู่ภาพที่เราวาดไว้ใน 10 ปีข้างหน้า มันก็น่าจะยังอยู่ในวิสัยที่เราพอจะทำได้
วันละ 1 ชั่วโมง เดือนหนึ่งเราจะมีเวลาถึง 30 ชั่วโมงที่จะทำในสิ่งที่มีคุณค่าระยะยาวกับเรา ซึ่งมากเกินพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี
สำคัญคือเราต้องไม่ใจร้อน อย่าไปเล็งผลเลิศว่าจะต้องเห็นผลภายในเมื่อนั้นเมื่อนี้ เราทำได้เพียงสร้างเหตุ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย
วันนี้จะทำอะไร ให้คิดไปอีกสิบปีครับ