เรื่องจริงเราอาจยังไม่รู้ เรื่องที่เรารู้อาจยังไม่จริง

ถ้าจะมีสิ่งใดที่ผมได้เรียนรู้ในช่วง 10 ปีที่ผ่าน มันคือการอย่ามั่นใจในความจริงของเราจนเกินไป

“ความจริง” นี้มาจากไหน?

มันน่าจะมาจาก “ข้อเท็จจริง” ที่เราอ่านหรือได้ยินซ้ำๆ จนเกิดเป็นความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าโลกมันทำงานอย่างนี้ พอนานๆ เข้าข้อเท็จจริงมันก็เลยกลายเป็น “ความจริงของเรา” และหนักเข้าก็อาจกลายเป็น “ความจริง” ที่ใครก็แตะต้องไม่ได้

แต่ประสบการณ์ก็สอนให้รู้ว่า ต่อให้เป็นสิ่งที่เรามั่นใจเหลือเกิน เราก็ยังคิดผิดได้อยู่ดี

เคยคิดว่าธุรกิจนี้ทำแล้วรุ่งแน่ๆ ตอนนี้ล้มเลิกไปแล้ว

เคยคิดจะถือหุ้นตัวนี้ไปยาวๆ ตอนนี้ขายทิ้งไปแล้ว

เคยชื่นชมนักเคลื่อนไหวคนนี้ ตอนนี้ไม่ชอบแล้ว

แล้วไอ้ความมั่นใจเหลือเกินนี้มันมาจากไหน?

Confirmation Bias – มันคือการที่เรามองหาหลักฐานและข้อมูลที่ยืนยันความเชื่อที่เรามีอยู่ก่อนแล้ว เช่นถ้าเราชอบคนคนนี้ เราก็จะหาหลักฐานที่ยืนยันว่าคนคนนี้เป็นคนดี คนเก่งและเสียสละ ส่วนหลักฐานอื่นที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อของเรา เราก็จะปัดมันตกทิ้งหรือมองเป็นเพียงเรื่องเล็ก

Filter bubble – สิ่งที่เรากูเกิ้ลกับสิ่งที่เพื่อนกูเกิ้ลนั้นจะได้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน กูเกิ้ลทำทุกอย่างเพื่อที่จะช่วย personalize search ให้เรา มันจะเลือกผลลัพธ์ที่คิดว่าตอบโจทย์เรามากที่สุดโดยดูจากโลเกชั่น อายุ เพศ รวมถึงสิ่งที่เราเคยค้นหาและเคยคลิ้กดู

Social media bubble – เคยมั้ยที่ไปเจอเพจที่เราไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลย แต่มีคนติดตามหลายแสนหรือกระทั่งเป็นล้านคน จนอดถามตัวเองไม่ได้ว่าถ้าเพจมันดังขนาดนี้ทำไมเราถึงไม่รู้จัก

คำตอบก็คือ social media bubble อันเกิดจาก algorithm ที่เลือกโชว์แต่สิ่งที่เราสนใจ สิ่งที่เราคุ้นเคย และความเห็นของคนที่เราเห็นด้วย (และพอเราเจอคนที่เราไม่เห็นด้วยเราก็ไปบล็อคเขาอีก!) เราก็เลยตกอยู่ในโลกที่มีแต่คนเห็นด้วยกับเรา และเราก็(เผลอ)คิดว่าคนจำนวนมากเห็นด้วยกับเรา ความคิดของเราจึงถูกต้องแน่ๆ

ทั้ง filter bubble และ social media bubble จึงเป็นแรงหนุนให้เกิด confirmation bias อย่างง่ายดาย และส่งผลให้เรายึดมั่นในข้อเท็จจริงที่เรามีอย่างแน่นแฟ้น ยิ่งอ่านมาเยอะ ฟังมาเยอะ ก็ยิ่งมั่นใจว่าเราถูก

คำถามสำคัญ – โดยเฉพาะกับคนที่อยู่ในวัย 40 หรือมากกว่านั้นก็คือ – เมื่อเรามั่นใจว่าสิ่งที่เราสนใจนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และสิ่งที่เราคิดมันถูกต้อง แล้วเราได้เดินทางมาถึงจุดที่พอใจกับชีวิตแล้วหรือยัง?

ถ้าเราซื่อตรงกับตัวเอง และได้คำตอบว่ามันยังมีบางแง่มุมของชีวิตที่เรายังไม่พอใจ นั่นก็เป็นสัญญาณว่า “แผนที่” ของเราอาจจะยังคลาดเคลื่อน

เพราะถ้าที่ผ่านมาเราคิดถูก-ทำถูกมาตลอด ชีวิตเราน่าจะไปได้ไกลกว่านี้แล้วไม่ใช่หรือ?

อย่ามั่นใจกับสิ่งที่เรารู้มากเกินไป ลองพูดคุยกับคนฉลาดๆ ที่มีความเห็นเป็นปฏิปักษ์กับเรา และเมื่อได้คุยกันมากพอเราอาจจะเลิกเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

เพราะเรื่องจริงเราอาจยังไม่รู้ เรื่องที่เรารู้อาจยังไม่จริงครับ