สามีภรรยาทะเลาะกันก็เหมือนกับการตีเทนนิส

เป็นเรื่องปกติที่คนอยู่บ้านเดียวกันจะกระทบกระทั่งและมีปากมีเสียง

เวลาที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจและพูดมันออกมา อีกฝ่ายหนึ่งก็มักจะบอกเหตุผลว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น ต่างฝ่ายต่างโยนเหตุผลข้ามเน็ตไปให้อีกฝ่าย แล้วก็โต้กันไปโต้กันมาไม่ต่างอะไรกับการตีเทนนิสด้วยข้อเท็จจริง (fact-tennis)

แทนที่จะเป็นการพูดคุยเพื่อเข้าใจและหาทางออกร่วมกัน กลายเป็นว่าเรากลับพยายามเอาชนะ

สมมติว่าคู่รักอยู่คอนโด ผู้ชายทำงานจากที่บ้าน ส่วนผู้หญิงไปทำงานที่ออฟฟิศ ผู้หญิงกลับมาจากที่ทำงานเหนื่อยๆ เห็นว่ามีเสื้อผ้ากองใหม่ที่ยังไม่ได้ซัก แถมจานก็ยังไม่ได้ล้าง บทสนทนาแบบตีเทนนิสจะหน้าตาแบบนี้:

ฝ่ายเสิร์ฟ: ถ้าคุณปล่อยเสื้อผ้าเอาไว้นานๆ โดยไม่ได้ซัก เศษอาหารมันจะเกาะเสื้อผ้าแน่นแล้วจะซักออกยากนะ ตัวไหนใช้แล้วช่วยซักเลยไม่ได้เหรอ (คะแนน 15-0)

ฝ่ายรับ: ทำอย่างนั้นมันเสียเวลานะคุณ ผมรอให้มีผ้าซักกองหนึ่งก่อนแล้วค่อยซักทีเดียวดีกว่า (15-15)

ฝ่ายเสิร์ฟ: แต่เก็บเสื้อผ้าแบบไม่ได้ซักเอาไว้มันซกมกมากเลยนะ (30-15)

ฝ่ายรับ: เชื้อโรคจะเยอะแค่ไหน พอซักมันก็ตายหมดอยู่ดีนั่นแหละ (30-30)

ฝ่ายเสิร์ฟ: ปล่อยจานไว้ไม่ได้ล้างอย่างนี้เดี๋ยวแมลงวันก็มากันพอดี (40-30)

ฝ่ายรับ: นี่มันหน้าหนาว ผมยังไม่เห็นแมลงวันซักตัวเลย (ดิวซ์)

แล้วการโต้เทนนิสก็ดำเนินต่อไปจนกว่าจะมีใครคนหนึ่งจนแต้มและกลายเป็น “ฝ่ายแพ้” ซึ่งนั่นไม่ได้ทำให้เขารู้สึกดีต่ออีกคนเลย

นอกจากการทะเลาะกันแบบ fact-tennis นี้แล้ว ยังมีอีกสามแบบที่เราพบเห็นเป็นประจำ

  1. “อ๊ะ! ดูกระรอกนั่นสิ!” คือเปลี่ยนเรื่องคุยไปเลย จะได้ไม่ต้องทะเลาะกัน แต่ถ้าเราหลีกเลี่ยงทุกความกระทบกระทั่ง ความสัมพันธ์ก็จะขาดซึ่งความใกล้ชิดเช่นกัน (if all conflict is avoided, what tends to happen is intimacy is avoided as well.)
  2. “ผู้พลีตน” (martyr) คือยอมเสียสละเสียเอง เช่นภรรยากลับมาเห็นสภาพห้องแล้วก็พูดว่า “ไม่เป็นไร เดี๋ยวฉันจะซักผ้าและล้างจานให้เอง” ซึ่งวิธีนี้ก็ไม่ยั่งยืนเช่นกันเพราะผู้พลีตนจะเก็บความรู้สึกขุ่นเคืองเอาไว้ในใจและรอวันที่จะกลายร่างเป็นผู้พิพากษา
  3. “ผู้พิพากษา” (persecutor) “ทำไมคุณถึงสกปรกโสโครกอย่างนี้เนี่ย ชีวิตนี้เคยทำงานบ้านบ้างรึเปล่า”

ทั้ง 4 ทางนี้ไม่ใช่วิธีที่ดีในการคลี่คลายปัญหาในความสัมพันธ์ สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่การเป็นผู้ชนะ สิ่งที่เราต้องการคือความรู้สึกว่าเราเข้าใจเขา เขาเข้าใจเรา และทั้งคู่ร่วมกันหาทางออกที่ดี

ตัวอย่างของบทสนทนาที่น่าจะนำไปสู่ทางออกที่ดี

ภรรยา: “เมื่อเช้าฉันเพิ่งซักผ้าไป พอกลับมาเห็นผ้ากองใหม่ฉันก็รู้สึกท้อเหมือนกันนะ ฉันคงรู้สึกดีกว่านี้ถ้าตอนกลางวันคุณช่วยซักผ้าด้วย”

สามี: “ขอโทษจริงๆ ที่รัก ผมไม่ได้ตั้งใจจะทำให้คุณรู้สึกไม่ดีเลย วันนี้งานเดือดจริงๆ เข้าใจเลยว่าพอกลับมาเห็นสภาพห้องแบบนี้คุณคงหมดแรง”

ภรรยา: “ฉันรู้ว่าช่วงนี้งานคุณเยอะจริงๆ ไม่เป็นไร เอาเป็นว่าเดี๋ยวฉันซักแล้วคุณช่วยตากผ้า โอเคมั้ย?”

กฎพื้นฐานเวลามีเรื่องที่ไม่พอใจคือพยายามใช้รูปประโยค “I-statements” ไม่ใช่ “You-statements” คือแทนที่จะตำหนิอีกฝ่ายว่าไม่ดียังไง ให้เน้นว่าเรารู้สึกอย่างไร เช่น

“I feel hurt when you don’t answer me when you’re on the phone”

นั้นดีกว่า “You’re always ignoring me when you’re on the phone”

ไม่มีใครชอบโดนตีตราว่าเป็นคนเช่นไร ดังนั้นเราจึงควรโฟกัสไปที่สิ่งที่เราเห็นและสิ่งที่เรารู้สึก ซึ่งนั่นจะทำให้อีกฝ่ายเปิดใจรับฟังมากกว่า

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์สำหรับคู่รักทุกคู่นะครับ


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ The Book You Wish Your Parents Had Read (and Your Children Will be Glad hat You Did) by Philippa Perry