หนึ่งในทักษะที่กำลังจะหายไป คือการทนอยู่กับความน่าเบื่อ
ถ้าใครอายุเกิน 30 ลองนึกกลับไปสมัยที่ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต
ถ้าเรานัดเจอเพื่อน แล้วเพื่อนยังไม่มา สิ่งเดียวที่ทำได้คือรอตรงจุดที่นัดหมายกันไว้ ไปไหนก็ไม่ได้ ต้องรออย่างเบื่อๆ
เวลาขึ้นลิฟต์ เราทำอะไรไม่ได้นอกจากพยายามไม่สบตาใครแล้วยืนนิ่งๆ เบื่อๆ จนกว่าจะถึงชั้นจุดหมาย
เวลาดูละครหลังข่าว เรื่องราวกำลังเข้าด้ายเข้าเข็มก็ตัดเข้าโฆษณา 3 นาที เราทำอะไรไม่ได้นอกจากทนดูโฆษณา
สมัยนี้เราไม่มีโมเมนต์เบื่อๆ นั้นแล้ว พอจะเบื่อเมื่อไหร่ก็หยิบมือถือขึ้นมาไถ โฆษณาเมื่อไหร่เราก็กดข้ามได้แทบจะทันที
ภูมิคุ้มกันความเบื่อของเราจึงค่อยๆ ลดน้อยถอยลง ยังไม่ต้องนับเด็กรุ่นใหม่ที่โตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ไม่เคยเปิดโอกาสให้เขาสร้างภูมิคุ้มกันความเบื่อเลย
แต่กับชีวิตนอกจอ เราไม่สามารถเจอความสนุกได้ตลอดเวลา
90% ของงานนั้นน่าเบื่อ ต่อให้เป็นงานที่เรารักก็เถอะ ถ้าลองสังเกตดูจริงๆ จะเห็นว่าความฟินมันเกิดขึ้นไม่เกิน 10% ของเวลาที่ทำงานหรอก
ใครที่วิ่งฮาล์ฟหรือฟูลมาราธอนก็จะรู้ว่าการซ้อมวิ่งนั้นน่าเบื่อมาก บางสัปดาห์วิ่งวนรอบหมู่บ้านเห็นวิวเดิมๆ เป็นร้อยรอบ
ใครที่หัดภาวนาก็ต้องเคยรู้สึกว่าการภาวนานั้นน่าเบื่อ ใจมันเลยไม่เคยตั้งมั่น หลงไปคิดแต่เรื่องเพลินๆ อยู่ตลอด
แต่คนที่จะสร้างผลงานได้ดี คนที่จะวิ่งจบมาราธอน คนที่จะมีสติรู้เนื้อรู้ตัวเป็นอย่างดีนั้นล้วนแล้วแต่ต้องเดินข้ามทะเลทรายแห่งความน่าเบื่อมาแล้วทั้งนั้น
มองไปทางไหนก็เห็นแต่ทราย นานๆ ทีถึงจะมีโอเอซิสให้ชุ่มฉ่ำใจ หยุดดื่มน้ำซักนิดก็ต้องเดินลุยทรายกันต่อ
แต่คนที่พร้อมเดินทางแบบนี้เท่านั้นที่จะมีโอกาสเจอขุมทรัพย์
ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เบื่อบ้าง เวลารอลิฟต์ลองรอแบบเบื่อๆ เวลาขึ้น BTS ลองยืนโหนราวเฉยๆ เวลาเปิดทีวีเจอเรื่องที่ไม่สนใจก็ลองทนดูมันไป
เพราะนอกจากจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว ในความเบื่อนั้นมันยังมีความว่างซ่อนอยู่ และเมื่อมีความว่างก็ย่อมมีพื้นที่สำหรับให้ความคิดใหม่ๆ “ผุด” ขึ้นมาได้
มาขัดเกลาตัวเองด้วยการเดินข้ามทะเลทรายแห่งความน่าเบื่อดูครับ
ขอบคุณประกายความคิดจาก Youtube: Yuval Harari: ON How To Set Expectations | ON Purpose Podcast Ep.16