เหตุผลที่ Netflix ยอมจ่ายเงินเดือนแพงที่สุดในตลาด

หนึ่งในหลักการการจ้างคนของ Netflix คือการ Pay top of personal market

ในองค์กรทั่วไป จะมีการแบ่งตำแหน่งงานเป็น Job Level คล้ายๆ กับที่ราชการไทยมี C1 ถึง C11

แต่ละ Job Level ก็จะมี “หลอดเงินเดือน” หรือ salary range ที่เหมาะสมกับระดับนั้นๆ โดยหลอดเงินเดือนของ Level ที่อยู่ติดกันก็อาจจะเหลื่อมกันได้

ถ้าพนักงานคนใดเงินเดือน “มิดหลอด” ก็หมายความว่าเงินเดือนชนเพดานของ Level นั้นแล้ว หากอยากขึ้นได้มากกว่านี้ ก็ต้องขยับ Level ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งก่อน โดยต้องพิสูจน์ตัวเองว่ามีความสามารถและพร้อมจะแบกรับความรับผิดชอบที่มากขึ้น

แต่เน็ตฟลิกซ์ไม่มีหลอดเงินเดือน สิ่งเดียวที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าพนักงานคนนั้นควรได้เงินเดือนเท่าไหร่ คือดูว่าตลาดพร้อมจะจ่ายค่าตัวเขาเท่าไหร่ แล้วเน็ตฟลิกซ์ก็จะจ่ายสูงกว่านั้นอีกเพื่อให้ได้ตัวพนักงานคนนั้นมา (แม้จะไม่ใช่ทุกตำแหน่ง)

ฟังดูเป็นการฟุ่มเฟือยเอามากๆ แต่เน็ตฟลิกซ์ก็มีเหตุผลที่ทำอย่างนี้

ในปี 1968 เคยมีการทดลองให้โปรแกรมเมอร์ฝึกหัดที่มีฝีมือ 9 คนได้ลองทำโปรเจ็คที่ให้เวลาทำ 2 ชั่วโมงเต็ม ผลปรากฏว่าคนที่เก่งที่สุดกับคนที่ได้ที่โหล่นั้นมีความแตกต่างกันอย่างมหาศาล

คนที่เก่งที่สุดเขียนโค้ดเร็วกว่า 20 เท่า debug ได้เร็วกว่า 25 เท่า และ execute ได้เร็วกว่าคนที่ช้าที่สุดถึง 10 เท่า การค้นพบนี้เป็นที่มาของหลักการ “rock-star principle” ซึ่งเป็นที่ถกเถียงในวงการซอฟต์แวร์ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา

งานสไตล์ operational อย่างคนทำสะอาดหน้าต่าง คนตักไอติม หรือคนขับรถนั้น คนที่เก่งสุดๆ อาจจะดีกว่าค่าเฉลี่ยได้ไม่เท่าไหร่ คนตักไอติมที่เร็วที่สุดอาจตักได้เร็วกว่าคนตักไอติมปกติซัก 3 เท่า คนขับรถมือฉมังอาจมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่าคนขับรถปกติครึ่งต่อครึ่ง ที่เน็ตฟลิกซ์ก็มีงานเหล่านี้เช่นกัน และบริษัทก็จ่ายเงินเดือนตามค่าเฉลี่ยของตลาดเพราะถึงจ่ายแพงผลตอบแทนก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่

แต่งานส่วนใหญ่ที่เน็ตฟลิกซ์เป็นงานเชิง creative jobs ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ และคนที่เก่งที่สุดในสายนั้นจะสามารถสร้างผลงานได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยอย่างน้อย 10 เท่า คนที่เทพเรื่อง PR จะสามารถคิดแคมเปญที่ทำให้ลูกค้าหันมาสนใจได้นับล้านคน คนที่มีสัญชาติญาณเรื่องการเลือกหนังอาจจะสามารถสร้างรายได้ให้กับองค์กรได้เป็นหลักร้อยล้าน

เน็ตฟลิกซ์เลยเชื่อว่าแทนที่จะจ่ายเงินเดือนให้คนที่เก่งระดับกลางๆ 10 คน สู้เอาเงินมาทุ่มจ่ายให้คนที่เทพสุดๆ หนึ่งคนไปเลยดีกว่า

อีกประโยชน์หนึ่งของการจ้างแต่ตัวเทพๆ ก็คือมันทำให้เน็ตฟลิกซ์มี lean workforce คือใช้คนไม่มากแต่แข็งแรงและคล่องตัว เพราะใครที่เป็นหัวหน้าทีมย่อมรู้ซึ้งว่าการ manage คนนั้นต้องใช้แรงและเวลาแค่ไหน และถ้าคนในทีมไม่ค่อยเก่งหรือเกเรด้วยก็ยิ่งเหนื่อยหนัก การมี lean workforce หมายความว่าหัวหน้าทีมในเน็ตฟลิกซ์ไม่ต้องดูแลคนเยอะ แถมลูกทีมแต่ละคนก็เก่งและเป็นผู้ใหญ่พอที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสม หัวหน้าจึงไม่ต้องมานั่งปวดหัวเรื่องคนและเอาเวลาไป add value ให้กับธุรกิจในมิติอื่นๆ ได้

แน่นอนว่าการจ่าย top of personal market อย่างที่ Netflix ทำอยู่นั้นไม่ใช่สิ่งที่ทุกองค์กรจะเลียนแบบได้ แต่ผมคิดว่าวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังนั้นน่าสนใจและอาจจะเอาปรับใช้ได้เมื่อถึงโอกาสที่เหมาะสมครับ


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ No Rules Rules: Netflix and the Culture of Reinvention by Reed Hastings & Erin Myer