ทำด้วยใจทะยานหรือทำด้วยใจละมุน

อีกเพียง 6 สัปดาห์ก็จะถึงงาน Bangsaen21 งานฮาล์ฟมาราธอนที่ดีที่สุดรายการหนึ่งในประเทศไทย

ผมไปวิ่งรายการนี้มาสองครั้งแล้ว และตั้งใจว่าจะไปทุกปีหากยังมีแรงและมีแก๊งค์ไปวิ่งด้วย

อาจจะเพราะโควิด อาจจะเพราะความไม่แน่นอนว่าจะจัดรายการวิ่งได้จริงหรือเปล่า 10 เดือนที่ผ่านมาผมเลยไม่ได้ซ้อมวิ่งมากเท่าที่ควร ปีนี้เลยไม่ได้คาดหวังว่าจะทำเวลาได้ดีกว่าปีที่แล้ว ก็ซ้อมไปตามหน้าที่เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถวิ่งได้จนครบระยะ

ระหว่างที่ซ้อมวิ่ง สิ่งหนึ่งที่เริ่มสังเกตเห็น ก็คือใจของตัวเอง

บางทีผมก็วิ่งด้วยใจทะยาน และบางทีผมก็วิ่งด้วยใจละมุน

ใจทะยานหมายถึงใจที่อยากจะเอาชนะ อยากจะพุ่งไปข้างหน้า อยากจะทำเวลาให้ดีกว่านี้

ซึ่งอาจเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคนที่อยากเก่งขึ้น อยากแข่งกับตัวเอง อยากจะ beat yesterday ให้ได้

แต่สำหรับผมที่อายุขึ้นเลข 4 แล้ว ชักเริ่มไม่แน่ใจว่าการวิ่งด้วยใจทะยานนั้นมันจะดีต่อสุขภาพจริงหรือไม่ หนึ่งคือมันทำให้หัวใจเราทำงานหนัก สองคือมันอาจทำให้เรามี “ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับการวิ่ง” เพราะจิตใต้สำนึกอาจบันทึกไว้ว่าการซ้อมวิ่งเท่ากับความทุกข์ระทมและเฆี่ยนตีตนเอง running = suffering

อีกทางหนึ่งที่ผมเชื่อว่าน่าจะยั่งยืนกว่า คือการวิ่งด้วยใจละมุน

วิ่งด้วยใจสบาย วิ่งโดยไม่คิดว่าจะต้องไป beat yesterday

มีแรงก็เร่งความเร็วนิดหน่อย พอเริ่มเหนื่อยก็ชะลอตัวลงมา วิ่งแบบผ่อนหนักผ่อนเบาเพื่อประคองตัวให้วิ่งได้ครบระยะโดยไม่ได้เล็งผลเลิศ

แน่นอนว่าการวิ่งแบบนี้ กราฟการพัฒนาคงไม่ชันเท่ากับการวิ่งด้วยใจทะยาน แต่ถ้าเราให้ความสำคัญกับความสม่ำเสมอ ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่ดีกับการวิ่ง ให้ความสัมพันธ์กับการที่เรายังจะรักการวิ่งไปอีกหลายปี ก็อาจไมมีความจำเป็นต้องรีบร้อน

เก็บเส้นชัยเอาไว้ไกลๆ อาจจะดีกว่าก็ได้ เพราะการทำลายความฝันที่รุนแรงที่สุดคือการทำให้มันกลายเป็นจริง

วิ่งด้วยใจทะยาน หรือวิ่งด้วยใจละมุน

นี่ไม่ใช่แค่เรื่องการวิ่ง แต่เกี่ยวกับการทำทุกสิ่งในชีวิต

เมื่อใดที่เรารู้สึกว่าใจกำลังทะยานจนล้นอก ขอให้นึกถึงคำอิ๊กคิวซัง

จะรีบไปไหน จะรีบไปไหน พักเดี๋ยวนึงสิครับ 🙂