เราจึงมีคำถามที่เป็นต้นกำเนิดของศาสนาอย่าง “เรามาจากไหน ใครเป็นคนสร้างเรา”
หรือถามคำถามที่ปฏิวัติความเข้าใจในธรรมชาติอย่าง “ลูกแอปเปิ้ลมันตกลงมาได้อย่างไร”
หรือแม้กระทั่งคิดวกวนกับคำถามที่ไม่มีคำตอบอย่าง “ทำไมเขาเป็นคนแบบนี้”
บางคำถามนำไปสู่คำตอบที่เราพอใจ บางคำถามก็นำไปสู่คำตอบที่เราไม่พอใจ
คำถามอย่าง “เรามาจากไหน” หรือถ้าให้ลึกไปกว่านั้นคือจักรวาลและทุกสรรพสิ่งมาจากไหน พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นคำถามอจินไตย คิดไปก็เปล่าประโยชน์
ท่านบอกว่าชีวิตเราเหมือนคนที่เพิ่งถูกยิงด้วยลูกธนู แทนที่จะหาว่าใครเป็นคนยิงธนูใส่เรา เราควรจะเอาเวลาไปเร่งหาวิธีรักษาบาดแผลมากกว่า
ในขณะที่ศาสนาที่เชื่อในพระเจ้าองค์เดียวอย่างศาสนาคริสต์ ก็จะอธิบายว่าพระเจ้าเป็นผู้ให้กำเนิดเรา แต่คนที่ไม่นับถือพระเจ้าที่เรียกตัวเองว่า atheist ก็จะถามต่ออีกว่าแล้วใครกันที่สร้างพระเจ้า
ส่วนนักวิทยาศาสตร์ที่อธิบายจักรวาลเกิดจาก Big Bang คนก็จะถามต่ออีกว่าแล้วก่อนมี Big Bang นั้นคืออะไร ต้นกำเนิดของ Big Bang มาจากไหน
อย่างที่บอกครับ บางคำถามก็นำไปสู่คำตอบที่เราพอใจ บางคำถามนำไปสู่คำตอบที่เราไม่พอใจ แล้วแต่ว่าเราเลือกจะพอใจกับคำตอบแบบไหน
แล้วถ้าคำถามนั้นมันสำคัญกับเรา เราจะทำอย่างไร
ทางเลือกก็มี 3 ทาง
หนึ่งคืออย่าหยุดค้นหาคำตอบ บางคนใช้เวลาหลายปี หลายสิบปี หรือแม้กระทั่งทั้งชีวิต เพื่อจะหาคำตอบที่ตัวเองพอใจ อย่างเช่นไอน์สไตน์ที่พยายามสร้าง Unified field theory จวบจนวาระสุดท้าย
สอง คือหัดพอใจกับคำตอบที่เราได้มา มันอาจจะไม่ถูกต้องที่สุด แต่เราพอใจที่สุดก็เพียงพอแล้ว
ส่วนทางที่สาม คือการบอกตัวเองว่าเราไม่จำเป็นต้องอธิบายทุกเรื่องก็ได้
หากเราละวางความต้องการของมนุษย์ที่จะอธิบายทุกเรื่องลงได้ เราก็จะลดคำถามลงจนเหลือแต่คำถามที่ควรค่าแก่การค้นหาคำตอบจริงๆ ครับ
—–
“ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมที่ว่าด้วยการลดทอนสิ่งที่ไม่ใช่ออกไปจากชีวิต มีวางขายที่นายอินทร์ ซีเอ็ด B2S และ Kinokuniya แล้วนะครับ อ่านรายละเอียดได้ที่ bit.ly/eitrfacebook และอ่านรีวิวได้ที่นี่ครับ bit.ly/eitrreportingengineer