บทความนี้มีไว้เพื่อเตือนสติคนที่คิดจะลาออกไปทำสิ่งที่ตัวเองชอบ
เนื้อหามาจากหนังสือ Big Magic ของ Elizabeth Gilbert ผู้โด่งดังมาจากการเขียนหนังสือ Eat Pray Love ที่ถูกฮอลลีวู้ดนำมาสร้างเป็นหนัง
กิลเบิร์ตบอกว่า “ความคิดสร้างสรรค์” (Creativity) นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่มาจากอีกโลกหนึ่ง
Creativity ไม่รู้จักหิว Creativity ไม่ต้องไปหาหมอฟัน และ Creativity ไม่รู้จักบิลค่าไฟ
ดังนั้นเราไม่ควรหวังพึ่ง Creativity ให้มาแก้ปัญหาทางโลกให้เรา
ตั้งแต่เธอตัดสินใจจะเป็นนักเขียนตอนอายุ 15 ปี เธอก็ได้สัญญากับตัวเองว่า จะไม่พึ่ง Creativity ให้มาหาเลี้ยงตัวเธอ เธอต่างหากที่จะเป็นคนหาเลี้ยง Creativity เอง
ตอนที่กิลเบิร์ตเขียนหนังสือเล่มแรก เธอทำงานเป็นบ๋อย
ตอนที่เธอเขียนหนังสือเล่มที่สอง เธอทำงานเป็นบ๋อยและเป็นบาร์เทนเดอร์
ตอนที่เธอเขียนหนังสือเล่มที่สาม เธอเป็นทั้งบาร์เทนเดอร์ เป็นทั้งคนดูแลร้านหนังสือ และเป็นทั้งนักข่าว
ตอนที่ Eat Pray Love หนังสือเล่มที่สี่ตีพิมพ์ เธอยังทำงานในตลาดนัดอยู่เลย และเธอบอกว่าถ้า Eat Pray Love ไม่ได้ประสบความสำเร็จระดับนี้ เธอก็คงยังรับจ๊อบอื่นๆ อยู่
ก่อนจะโด่งดังกับ Eat Pray Love เธอไม่เคยหยุดทุกอย่างเพื่อทำงานเขียน ตรงกันข้าม เธอทำงานทุกอย่างที่จำเป็นต้องทำ เพื่อจะได้มีเงินมาจ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟ เพื่อที่เธอจะได้มีความสัมพันธ์ที่เปิดกว้างกับงานเขียนของเธอ ไม่ต้องไปคาดหวังว่างานเขียนจะต้องหารายได้มาจ่ายค่าน้ำค่าไฟให้เธอ
กิลเบิร์ตเล่าว่าเธอเคยเจอผู้หญิงคนหนึ่งที่ลาออกจากงานประจำมาเพื่อจะมาทำงานสร้างสรรค์ แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ คราวนี้เธอเลยมีทั้งปัญหาการเงินและปัญหาทางจิตวิญญาณ
เธอบอกกับกิลเบิร์ตว่า
“ฉันโกรธ Creativity มาก ฉันอุตส่าห์ตัดสินใจเด็ดขาดและทุ่มเททุกอย่างให้มัน แต่สุดท้ายมันก็ทำให้ฉันผิดหวัง”
กิลเบิร์ตบอกว่า จริงๆ แล้ว Creativity ไม่ได้ติดค้างอะไรเราทั้งนั้น บุญแค่ไหนแล้วที่เราได้มีโอกาสร่วมงานกับมัน
—–
ดังนั้น แม้เราจะเชื่อมั่นในศิลปะและความเป็นศิลปินในตัวเราแค่ไหน ก็ควรระวังการตกเข้าไปอยู่ในเส้นทางนี้
1. เบื่องานประจำ
2. ได้อ่านหนังสือปลุกใจ
3. ลาออกจากงาน เพื่อจะได้มีเวลาทำสิ่งที่ตัวเองชอบเต็มที่
4. ค้นพบว่างานที่ตัวเองชอบไม่ก่อให้เกิดรายได้
5. ดัดแปลงงานที่ตัวเองทำเพื่อเอาใจตลาดและมีโอกาสสร้างรายได้
6. แต่รายได้ก็ยังไม่ค่อยพอใช้อยู่ดี แถมงานก็ถูกดัดแปลงเสียจนเราไม่เหลือความภาคภูมิใจในผลงานที่เราสร้าง
7. สุดท้ายจึงเลิกทำสิ่งที่เราชอบไปโดยปริยาย
เป็นโศกนาฎกรรมที่เราเห็นอยู่บ่อยๆ เพียงแต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงมัน
ถ้าผมลาออกจากงานเพื่อมาเขียนบล็อกอย่างเดียว ผมคงเลิกเขียนบล็อกไปนานแล้ว เพราะมันไม่สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอให้กับครอบครัวแน่ๆ หรือถ้าจะให้พอ ผมก็คงต้องรับโฆษณาและขายของจนกระทั่งไม่สามารถเขียนบล็อกได้แบบที่ผมต้องการได้อีกต่อไป
การลาออกเพื่อมาทำสิ่งที่ตัวเองรักนั้นฟังดูโรแมนติก แต่อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ฉลาดนัก โดยเฉพาะถ้าเรายังไม่มีต้นทุนทางวิชาชีพที่เรียกว่า career capital เพียงพอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ “ก่อนจะลาออกไป Follow Your Passion“)
ไม่ต้องโรแมนติกมากก็ได้ ทำงานที่ไม่เท่บ้างก็ได้ จะได้มีเงินมาตอบโจทย์ทางโลก
และจะได้ไม่ต้องคาดคั้นกับสิ่งที่ตัวเองรักครับ
—–
ขอบคุณข้อมูลจาก Elizabeth Gilbert Page
ทีม People ของผมที่ LINE MAN Wongnai ยังรับคนเข้าทีมอยู่หลายอัตรา ดูตำแหน่งงานได้ที่ careers.lmwn.com/people ครับ