ท่ามกลางกระแสการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ของรัฐบาลหลายโครงการที่ประชาชนยังตั้งข้อกังขา โครงการระดมทุนเพื่อโรงพยาบาลที่ขาดแคลนอาจถูกมองได้ว่าเป็นการแสดงออกเพื่อประท้วงการดำเนินงานของภาครัฐ กระนั้น คำตอบของตูนบอกชัดว่าโครงการของเขาต่อยอดขึ้นมาจากความสุข และหากโครงการนี้จะตั้งคำถามต่อสิ่งใด สิ่งนั้นก็ไม่ใช่นโยบายใดนโยบายหนึ่งของรัฐ หากแต่เป็นการกระทำหรือไม่กระทำอะไรของประชาชนทุกคนนี่เอง
“ผมก็เห็นโรงพยาบาลรัฐเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก อีก 10-20 ปีข้างหน้า ก็ยังอาจจะเป็นแบบนี้ต่อไป เท่าไหร่ก็ไม่พอ ต่อให้รัฐบาลช่วยแล้วก็อาจไม่พอ เราเองนี่แหละที่ถึงเวลาแล้ว ไม่ต้องโทษใคร ไม่ใช่เวลาหาคนผิด มันเป็นเวลาของการช่วยคนละเล็กละน้อย ช่วยแรง ช่วยเป็นกระบอกเสียง ช่วยสมทบกองรวม อะไรก็แล้วแต่ ทำได้ในส่วนที่ทำได้ ไม่ใช่เวลาคอมเมนต์ คนนี้ผิด ทำไมคนนี้ไม่ทำ ไม่ใช่แล้ว มันไม่เกิดประโยชน์ ระหว่างทาง ผมวิ่งเจอเด็กน้อยคนหนึ่งยกกระปุกออมสินมาให้ผมทั้งกระปุก ทั้งปีเขาเก็บออมมา อยากจะได้ของเล่นสักชิ้น แต่พอรู้ว่าจะเอาเงินมาช่วยคนป่วย เขายกกระปุกที่เขาสะสมมาเป็นปีๆ ตัดใจไม่เอาของเล่นนั้น เอามายกให้คนอื่น เงิน 5 บาท 10 บาทของเด็กน้อยยังเกิดประโยชน์มากกว่าคอมเมนต์ที่เราตัดสินกัน ถึงแม้เราจะถูกก็ตาม”
-อาทิวราห์ คงมาลัย
ธันวาคม 2559
Optimise Magazine – เบื้องหลังการวิ่ง 400 กม.ของตูนบอดี้แสลมที่ไม่ใช่แค่การบริจาค
เรื่อง: ธนกร จ๋วงพานิช
ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณนิตยสาร Optimise และคุณธนกรที่ได้สร้างบทสัมภาษณ์ที่เจ๋งที่สุดบทนึงเท่าที่ผมเคยได้อ่านมา
มันเป็นบทสัมภาษณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว หลังจากพี่ตูน “ออกวิ่ง” เป็นครั้งแรก เพื่อระดมทุนให้กับโรงพยาบาลบางสะพาน 85 ล้านบาท
คราวนั้นที่วิ่ง 400 ก.ม.ใน 10 วันก็ถือว่าเท่สุดๆ แล้ว มาปีนี้ที่พี่ตูนออกวิ่งจากเบตงมุ่งหน้าแม่สายเป็นระยะทางสองพันกว่ากิโล กระแสพี่ตูนจึงพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
แต่แม้จะมีคนคอยตามเชียร์มากแค่ไหน ก็ยังมีคนเห็นต่างและท้วงติงว่าทำไมภาระนี้ต้องมาตกกับพี่ตูน รัฐบาลเอาเงินไปทำอะไรหมด
—–
เมื่อสามเดือนที่แล้ว พี่ต่อ ฟีโนมีน่า ผู้กำกับโฆษณาระดับโลก ได้มาแชร์ประสบการณ์ให้เราฟังที่บริษัทวงใน
หนึ่งในสิ่งที่พี่ต่อบอก และกลายเป็นคำพูดติดปากของผมกับเพื่อนๆ ที่วงในมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ อะไรที่ “ไม่สร้างการผลิต” ก็อย่าไปทำ
เช่นทะเลาะกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง – ไม่สร้างการผลิต
ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ – ไม่สร้างการผลิต
นั่งคุยกันเรื่องการเมือง – ไม่สร้างการผลิต
แน่นอน บ้านเมืองเรา เราก็ต้องเป็นห่วง แต่แทนที่จะถกกันแล้วด่าคนโน้นคนนี้ สู้ออกไปทำอะไรซักอย่างให้มันดีขึ้นจะดีกว่ามั้ย
—–
กรณีของพี่ตูนก็เหมือนกัน
ใครจะวิจารณ์ว่ามันเป็นการกระทำที่ไม่ยั่งยืน หรือเป็นการกลบปัญหาให้รัฐบาล เขาก็อาจจะถูกของเขา
แต่คำวิจารณ์ไม่สร้างการผลิต
แม้ว่าคำวิจารณ์นั้นจะถูกต้องและเป็นจริงทุกประการ มันก็ยังไม่สร้างการผลิต
ถ้าคำวิจารณ์มันสร้างการผลิตจริงๆ บ้านเมืองเราน่าจะพัฒนาไปเยอะมากแล้ว เพราะเรามีนักวิจารณ์เต็มเมือง แต่มีนักลงมือเพียงหยิบมือ
15 ตุลาคม 2559 ผมเขียนไว้ในบทความ 9 บทเรียนจากสามวันที่ผ่านมาว่า ในวันที่พ่อไม่อยู่ ถึงเวลาที่คนไทยต้องโตกันได้แล้ว
เราคุ้นชินกับการเป็นลูกแหง่ เป็นเด็กงอแงมานาน พอเกิดปัญหาก็จะโทษคนโน้นคนนี้ว่าไม่ทำหน้าที่
แล้วเราล่ะ ได้ทำหน้าที่ในฐานะ active citizen แล้วหรือยัง?
ถ้าจะมีความฝันอันสูงสุดซักอย่างที่ผมอยากให้เป็นจริง ก็คงเป็นเรื่องที่คนไทยลุกขึ้นมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ ด้วยแรงและสติปัญญาที่เรามีเพื่อช่วยให้อะไรๆ มันดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องรอหรือเรียกร้อง ซึ่งพี่ตูนก็เป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วว่ามันเป็นไปได้
“When you pray, move your feet”
-African proverb
ปากจะบ่นไม่ว่ากัน เพราะนั่นแสดงว่าคุณก็แคร์ และสิ่งที่คุณบ่นอาจจะถูกก็ได้
แต่บ่นเสร็จแล้วยังไงต่อ?
เราเป็น “คนถูก” ที่ไม่สร้างการผลิตมานานเกินพอแล้ว
ลองปล่อยวางความต้องการที่จะเป็น “คนถูก” และมาร่วมกันเป็น “คนทำ” กันดีมั้ยครับ
—–
ติดตามการวิ่งของพี่ตูนและร่วมบริจาคได้ที่ Facebook Page: ก้าวคนละก้าว