จะทำสไลด์ อย่าเปิด Powerpoint

20151013_Powerpoint

สมัยที่ผมเรียนอยู่นิวซีแลนด์นั้น ผมเตะบอลให้กับทีมประจำเมืองด้วย (ไม่ได้เตะบอลเก่งอะไรนะครับ เพราะเมืองของเขามีคนแค่ 4500 คนเท่านั้น และคนเตะบอลจริงๆ ก็มีไม่เท่าไหร่)

ทีมของเราจะมีซ้อมกันทุกค่ำวันอังคารกับค่ำวันพฤหัสฯ ใช้เวลาซ้อมประมาณ 2-3 ชั่วโมง

แต่เกือบทุกครั้ง ช่วงหนึ่งชั่วโมงแรก โค้ชจะไม่ยอมให้เราได้แตะบอลเลย (บอลหลายสิบลูกจะถูกเก็บไว้ในตาข่ายที่โค้ชวางไว้ข้างกาย)

กิจกรรมอย่างแรกที่พวกเราต้องทำคือวิ่งวอร์มรอบสนามบอลซัก 4-5 รอบให้เหงื่อซึมๆ ก่อน

จากนั้นจึงมายืนล้อมวงยืดเส้นยืดสายแล้วค่อยจัดแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่งยืนตรงเส้นหลังประตู แล้วเริ่มวิ่งเหยาะๆ ซัก 20 เมตร วิ่งหันข้าง 20 เมตร วิ่งถอยหลัง 20 เมตร แล้วค่อยกลับตัววิ่งสุดแรงไปจนถึงเส้นหลังประตูอีกฝั่งหนึ่ง ทำอย่างนี้ไปกลับอย่างน้อยสี่รอบ

ยังไม่พอ เรายังมีฝึกความแข็งแกร่งและความว่องไวเช่นการวิ่งซิกแซกผ่านโคน หรือวิ่งเปี้ยวเพื่อไปแตะทีมฝั่งตรงข้าม

จนเหงื่อท่วมกายแล้วนั่นแหละ โค้ชถึงจะเอาลูกฟุตบอลมาให้เราได้เตะกัน

—–

ถามว่าทำไมซ้อมฟุตบอล แล้วไม่ให้แตะลูกฟุตบอล?

โค้ชอธิบายว่า ในสนามมีผู้เล่น 22 คน แต่ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง จะมีคนที่ได้แตะบอลอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้น

ดังนั้น โดยเฉลี่ยแล้ว ในเกม 90 นาที ผู้เล่นแต่ละคนจึงได้แตะบอลแค่เพียง 4 นาที

ส่วนอีก 86 นาทีคือการ “เล่นบอล” โดยปราศจาก “ลูกบอล”

ดังนั้น สิ่งที่เราทำระหว่างที่ไม่มีบอลจึงสำคัญมาก อาจจะสำคัญกว่าตอนมีบอลเสียอีก

—–

ผมว่าการซ้อมบอลก็เหมือนการทำสไลด์

เวลาจะทำสไลด์ขึ้นมาซักชุด คุณทำยังไง?

หลายคนจะเปิดโปรแกรม Powerpiont / Keynote ขึ้นมาเลย โดยอาจจะเปิดไฟล์เก่า (เพื่อจะได้ใช้เท็มเพลตเดิม) แล้ว Save As ก่อนจะนั่งแก้เนื้อหา

วิธีการทำสไลด์อย่างนี้ไม่ต่างกับการมาถึงสนามฟุตบอล ใส่รองเท้าเสร็จแล้ว ก็ลงไปแข่งเลย

นอกจากจะเล่นไม่ค่อยออกแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บอีกด้วย

ถ้าต้องทำสไลด์ที่มีเนื้อหาใหม่และมีความสำคัญ ผมขอนำเสนออีกทางเลือกหนึ่ง

  • เอากระดาษเปล่าๆ มา 1 แผ่น
  • เขียนหัวข้อเรื่อง
  • เขียนจุดประสงค์ว่าเราจะพรีเซ้นต์เรื่องนี้ไปทำไม
  • ใช้กระดาษโพสต์อิทจดประเด็นต่างๆ ที่เราต้องการจะพูด โดยหนึ่งโพสต์อิทมีได้เพียงหนึ่งประเด็นเท่านั้น
  • บางประเด็นที่ควรมีภาพประกอบ ก็เขียนลงไปในโพสต์อิทด้วยว่าควรจะใช้ภาพอะไร ประมาณไหน
  • ขยับโพสต์อิทไปมาเพื่อจัดกลุ่มความคิด และวางแผนว่าเราจะดำเนินเรื่องอย่างไร ควรจะนำเสนอประเด็นอะไรก่อนหลัง
  • เราจะพบว่า ประเด็นบางประเด็นอาจจะควบรวมเป็นหนึ่งสไลด์ก็ได้ และบางประเด็นอาจจะต้องแตกย่อยออกมาเป็นหลายสไลด์ก็ได้
  • อย่าลืมด้วยว่าตอนทิ้งท้าย เราจะฝากอะไรให้ผู้ฟังไปทำต่อรึเปล่า

ต่อเมื่อเราเคลียร์แล้วเท่านั้นว่าเราจะนำเสนออะไร เพื่ออะไร และจะเล่าเรื่องอย่างไร เราจึงค่อย เปิด Powerpoint ครับ

เพราะ Powerpoint ก็เหมือนลูกฟุตบอลที่เราใช้ยิงเข้าประตู (Deliver you presentation)

แต่เนื้อหนังของการนำเสนอจริง ๆ คือสิ่งที่เราทำระหว่างที่ไม่ได้  “ครองบอล” อย่างกระบวนการคิด ตรรกะ และวิธีการนำเสนอต่างหาก

อาจจะใช้เวลามากกว่าหน่อย แต่เท่าที่ได้ลองทำ ผมว่าสไลด์นั้นจะเข้าใจง่ายและลื่นไหลกว่ากันเยอะเลยครับ

—–

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก See First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

เหตุผลที่ Amazon ไม่ใช้ Powerpoint ในการประชุม

20150929_AmazonNoPowerpoint

เชื่อว่าผู้อ่าน Anontawong’s Musings ทุกคนน่าจะรู้จัก Amazon ร้านขายหนังสือออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (และตอนนี้กำลังกลายร่างเป็น Everything Store คือขาย “สากกะเบือยันเรือรบ”)

ผู้ก่อตั้งแอมะซอนคือ เจฟ เบโซส (Jeff Bezos) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นห้วหน้าที่เป็นเผด็จการพอตัว เพราะทุกอย่างในแอมะซอนต้องทำตามทิศทางของเขาทั้งหมด

สิ่งหนึ่งที่เจฟ เบโซสทำที่แอมะซอนคือการ “แบน” PowerPoint ในห้องประชุม

เจฟให้เหตุผลว่า PowerPoint ทำให้ชีวิตของคนพรีเซ้นท์ง่าย แต่ทำให้ชีวิตของคนฟังยาก

เนื้อหาที่อยู่ในสไลด์มักจะมาเป็น bullet points ซึ่งบางทีก็อาจจะกว้างเกินไปหรือตกหล่นเนื้อหายิบย่อยที่มีความสำคัญ

การทำ PowerPoint มักจะทำให้เจ้าของเรื่องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำสไลด์ให้สวยงาม แทนที่จะเอาเวลามานั่งคิดให้ละเอียดว่าต้องการนำเสนออะไร ดังคำพูดของเจฟที่ว่า

“Now we’ve got highly paid people sitting there formatting slides—spending hours formatting slides—because it’s more fun to do that than concentrate on what you’re going to say. . . . Millions of executives around the world are sitting there going, “Arial? Times Roman? Twenty-four point? Eighteen point?”

“สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือพนักงานที่เราจ้างมาแพงๆ ใช้เวลาหลายชั่วโมงนั่งทำสไลด์ เพราะมันสนุกกว่ามานั่งใส่ใจว่าเขาควรจะพูดอะไร (และพูดอย่างไร) ผู้บริหารนับไม่ถ้วนจึงนั่งอยู่หน้าจอคอมแล้วถามตัวเองว่า “จะใช้ฟอนท์ Arial หรือ Times New Roman ดีนะ? จะใช้ฟอนท์ขนาด 24 pts หรือ 18 pts ดีนะ?”

ซึ่งผมก็เห็นด้วยจริงๆ ว่าการเปิดโอกาสให้ทำ PowerPoint มักจะทำให้คนที่ต้องพรีเซ้นท์ไม่ค่อยจะเตรียมตัวอะไรเท่าไหร่ เผลอๆ นั่งทำขึ้นมาก่อนเข้าประชุมนั่นแหละ

สิ่งที่เจฟสั่งให้พนักงานทุกคนในแอมะซอนทำก็คือ แทนที่จะใช้สไลด์ คนที่เป็นเจ้าของเรื่องต้องเขียน Narrative Memo ความยาว 6 หน้าแทน

ผมไม่มีข้อมูลว่า Narrative Memo ที่ว่ามีเนื้อหาอย่างไรบ้าง แต่ถ้าให้เดาคงอารมณ์คล้ายๆ รายงาน ที่ต้องบอกรายละเอียดว่าจะนำเสนอเรื่องอะไร มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ทำไมถึงคุ้มที่จะทำโปรเจ็คนี้ ฯลฯ

และ Memo นี้จะได้รับการแจกในที่ประชุม และในช่วง 10-15 นาทีแรกของการประชุม ทุกคนจะนั่งอ่านรายงานนี้อย่างเงียบๆ

คนสัมภาษณ์ถามเจฟว่า ทำไมไม่ส่งรายงานให้อ่านก่อนเข้าประชุมไปเลย

“Time doesn’t come from nowhere. This way you know everyone has the time. The author gets the nice warm feeling of seeing their hard work being read.”

“เวลาไม่ได้หากันได้ง่ายๆ ถ้าเราให้ทุกคนอ่านพร้อมกันในห้องประชุมเราก็แน่ใจได้ว่าทุกคนมีเวลาอ่านแน่นอน แถมคนทำรายงานก็รู้สึกดีด้วยที่เห็นทุกคนนั่งอ่านรายงานที่ตัวเองทุ่มเทเขียนขึ้นมา”

เมื่อต้องมานั่งเขียน Memo ที่ทุกคนจะต้องอ่านและต้องใช้ในการถกเถียง คนที่เป็นเจ้าของเรื่องย่อมต้องใช้ความคิดและความตั้งใจมากกว่าการทำ PowerPoint ซึ่งนั่นก็จะทำให้ความคิดของเขาตกผลึกมากขึ้น และนำเสนอข้อมูลได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น (โดยที่ความยาวไม่เกิน 6 หน้า)

อีกข้อดีหนึ่งของการทำ Memo ก็คือเราจะไม่เสียเวลากับคำถามที่ไม่จำเป็น

“If you have a traditional ppt presentation, executives interrupt. If you read the whole 6 page memo, on page 2 you have a question but on on page 4 that question is answered.”

“ถ้าคุณพรีเซ้นต์โดยใช้พาวเวอร์พอยท์ ผู้บริหารที่ฟังอยู่มักจะถามคำถามขัดจังหวะอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าคุณนั่งอ่านรายงานเงียบๆ ทั้ง 6 หน้า ตอนคุณอ่านถึงหน้า 2 คุณอาจจะมีคำถาม แต่พออ่านถึงหน้า 4 คุณก็จะได้คำตอบด้วยตัวคุณเอง”

—–

ผมยังไม่เคยได้ยินว่าองค์กรไหนนอกจากแอมะซอนใช้วิธีการเขียน Narrative Memo ก่อนเข้าประชุมอย่างนี้นะครับ

(ยิ่งเมืองไทยยิ่งไม่ต้องพูดถึง บางที่ไม่มีวาระการประชุมด้วยซ้ำ)

แต่เห็นว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจดีเลยอยากเอามาแชร์

ถ้าใครเอาไปลองใช้แล้วได้ผลยังไง กลับมาเล่าให้ฟังบ้างนะครับ

—–

* EDIT: 30 Sep 2015: ตอนแรกผมเขียนชื่อภาษาไทยของ Jeff Bezos ว่า เจฟ เบซอส แต่จริงๆ ควรจะเป็น เจฟ เบโซส มากกว่าครับ ขอบคุณคุณ Choopong Choosamer และ ussatlantis ที่ท้วงติงมาครับ

—–

ขอบคุณข้อมูลจาก Moving People To Action: AMAZON STAFF MEETINGS: “NO POWERPOINT,  Philantropy Daily: Jeff Bezos’ PowerPoint prohibition 

ขอบคุณภาพจาก Pexels.com

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก See First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

8 วิธีบอกลา Powerpoint ห่วยๆ

20150316_Powerpoint2

คนทำงานยุคใหม่เกือบทุกคนน่าจะเคยต้องทำสไลด์โดยใช้โปรแกรม Powerpoint มาแล้ว (หรือ Keynote หากคุณเป็นสาวกแอปเปิ้ล)

แต่อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ใน แปดสิ่งที่ควรทำให้สามปีแรกของการทำงาน ว่าทักษะการทำ Powerpoint นั้นยังขาดแคลนอยู่มาก

ผมเองก็ไม่ใช่คนที่มีหัวทางศิลปะเลย ยังห่างไกลต่อคำว่าผู้ออกแบบ Powerpoint มือโปร

แต่อย่างน้อยถ้าเราหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด 8 ข้อนี้ได้ ก็จะทำให้ Powerpoint ของเรา “น่าชม” กว่า Powerpoint ส่วนใหญ่แล้ว

1. คิดก่อนทำ

หลายคนออกแบบสไลด์ด้วยการเปิดโปรแกรม Powerpoint ขึ้นมา แล้วก็ก๊อปข้อมูลมาแปะลงไปในสไลด์เปล่าๆ อย่างไร้สติ ด้วยความอยากแชร์นู่นแชร์นี่จนข้อมูลท่วมจอ

ผลลัพธ์ที่ออกมาคือสไล์ดไม่มีเรื่องราว จับประเด็นไม่ได้ คนฟังก็งง คนพูดก็งงยิ่งกว่า

หนึ่งในวิธีเริ่มต้นที่ดี คือการใช้กระดาษ post-it ที่เราสามารถเขียนประเด็นหลักๆ ลงไปใบละ 1 ประเด็นแล้วลองย้าย post-it นั้นไปมาจนเกิดเป็นเรื่องราวที่ไหลลื่น เมื่อพอใจกับเรื่องราวแล้ว จึงค่อยเปิดโปรแกรม Powerpoint ครับ

2. อย่าห่วงเรื่องจำนวนสไลด์ให้มากนัก

การพูดจะยาวหรือสั้น น่าเบื่อหรือน่าสนใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนสไลด์

ถ้าสไลด์มันดี แม้จะมี 50 สไลด์และพูดจบใน 20 นาทีก็ไม่มีปัญหา ตราบใดที่สไลด์เหล่านั้นช่วยเสริมประเด็นที่คุณพูด

แต่ถ้าสไลด์มันห่วย ต่อให้มีแค่ 5 สไลด์ ก็อาจจะทำให้คนฟังไม่รู้เรื่องก็ได้

3. อย่ายัดข้อมูลเยอะเกินไป

แฟนผมเคยโดนสั่งให้ยุบข้อมูลจาก 10 สไลด์เหลือเพียง 1 สไลด์ เพราะต้องการให้ “เรื่องทุกเรื่องจบภายในหน้าเดียว” และอาจจะเป็นเพราะความเชื่อผิดๆ จากข้อที่แล้วว่า ยิ่งสไลด์น้อยๆ ยิ่งดี

จากที่เรามีเรื่องที่จะอยากพูด 10 เรื่องใน 10 สไลด์ คุณเอา 10 เรื่องมาอัดไว้ในสไลด์เดียว ผลลัพธ์ก็คือ “สภาวะสไลด์ไร้อากาศหายใจ”

พอข้อมูลในแต่ละสไลด์มันเยอะ คนฟังก็จะต้องใช้พลังงานอย่างมหาศาลที่จะทำความเข้าใจสไลด์ของคุณ จนไม่มีสมาธิฟังสิ่งที่คุณพูดออกมาเลย

20150316_TooMuchInfo

4. อย่าใส่ทุกคำที่จะพูดไว้ในสไลด์

ถ้าคุณทำอย่างอย่างนี้ คุณก็จะโดนมองได้ทันทีว่าขี้เกียจ ไม่ได้เตรียมตัวมา และไม่ได้เข้าใจสิ่งที่พูดจริงๆ

มีเรื่องเล่าว่า พนักงานคนหนึ่งเคยทำสไลด์สไตล์นี้ขึ้นมาพรีเซ้นท์ให้เจ้านาย

สไลด์แรกลูกน้องเล่นอ่านทุกคำพูด พอขึ้นสไลด์ที่สองที่มีแต่คำพูดเหมือนกัน เจ้านายเลยสั่งลูกน้องให้หยุดพูด

เจ้านายนั่งอ่านสไลด์เงียบๆ ประมาณ 15 วินาที แล้วก็บอกลูกน้องให้คลิ้กไปสไลด์แผ่นต่อไป แล้วก็นั่งอ่านเงียบๆ อีก แล้วก็บอกให้ลูกน้องคลิ้กแผ่นต่อไปเรื่อยๆ จนครบทุกสไลด์

เสร็จแล้วก็หันมาบอกลูกน้องว่า “ถ้าจะมาอ่านสไลด์ให้ผมฟังอย่างนี้ คุณก็ไม่ต้องมา ผมอ่านเองเร็วกว่า”

เจ็บป่ะล่ะ

Powerpoint กับ Document มีวัตถุประสงค์ต่างกัน ถ้าคุณจะใช้มันสำหรับอ่าน คุณก็แค่ส่งไฟล์ทาง email ไปให้คนที่อยากจะส่งสาส์นก็พอแล้ว จะได้ไม่ต้องมาเสียเวลานั่งอ่านให้ฟัง

Slide3

5. งดใช้สีประหลาดๆ
เข้าใจครับว่าบางคนชอบสีแจ่มๆ อย่าง ชมพู เขียว เหลือง

แต่คุณอย่าลืมว่าสิ่งที่เห็นบนหน้าจอคอม กับสิ่งที่เครื่องโปรเจ็คเตอร์ฉายออกไป มันมักจะไม่เหมือนกัน

สีแจ่มๆ พวกนี้ใช้ได้ครับ แต่ต้องอยู่บนแบ็คกราวด์ที่ถูกต้องด้วย ถ้าไปอยู่บนแบ็คกราวด์สีขาวหรือสีอ่อน คนฟังจะแอบด่าคุณในใจทันทีว่า “คุณมาทำร้ายชั้นทำไม?”

Slide5

6. ใช้ Font ให้ใหญ่เพียงพอ

Guy Kawasaki ซึ่งเคยเป็น Chief Evangelist ของ Apple เคยบอกติดตลกไว้ว่า ก่อนที่คุณจะลงมือทำพรีเซ็นต์ ให้ถามก่อนว่า คนที่แก่ที่สุดที่จะมาฟังคุณพรีเซนต์นั้นอายุเท่าไหร่

แล้วให้เอาอายุนั้นหาร 2

และฟอนท์ไซส์ไม่ควรจะเล็กไปกว่าค่านี้แล้ว

เช่นถ้าคนแก่สุดเป็นคนอายุ 40 ก็ไม่ควรจะใช้ฟอนท์เล็กกว่า 20pt ไม่อย่างนั้นคุณอาจจะโดนกล่าวหาได้ว่ารังแกคนแก่

อีกทริคนึงที่แฟนผมเล่าให้ฟัง คือเมื่อทำสไลด์เสร็จแล้ว ให้มายืนหลังเก้าอี้ และดูว่าขนาดฟอนท์มันโอเครึยัง ต้องหรี่ตาอ่านรึเปล่า

7. ไม่ใส่อะไรๆ ที่ดูฟรุ้งฟริ้งเกินไป

แน่นอน ใครๆ ก็อยากทำให้สไลด์ออกมาให้มีลูกเล่นและมีสีสัน

แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าการทำสไลด์ให้สวยๆ คือการทำให้สไลด์ให้ “ดูง่าย อ่านง่าย เข้าใจง่าย”

หลายคนเหลือเกินที่เมามันกับการใช้ “ของเล่น” ต่างๆ ที่มีใน Powerpoint จนเกินพอดี

ทั้งการทำ Animation ให้ตัวหนังสือหรือรูปภาพวิ่งเฟี้ยวฟ้าวไปมาชวนเวียนหัว

หรือการทำกราฟเป็นภาพสามมิติ ทั้งๆ ที่แบบสองมิติธรรมดาดูง่ายกว่ากันตั้งเยอะ

หรือใช้ WordArt หรือ ClipArt ที่มีมาตั้งแต่สมัย Windows 98 ซึ่งบ่งบอกได้เลยว่าคุณ “เชย” แค่ไหน

ระลึกไว้เสมอว่าของเล่นที่ใช้ไม่เป็นจะทำให้สไลด์ของคุณดูเหมือน “ของเล่น” ด้วยเช่นกัน

Slide7

8. ลองเอา bullet point ออกไปจากชีวิตเสียบ้าง

คุณเคยเห็นสตีฟ จ๊อบส์ใช้ bullet point มั้ย?

ครับ ผมก็ไม่เคยเห็นเหมือนกัน

และในสไลด์ของพวก presenter ระดับโลกที่งาน TED.com ก็มักจะไม่มี bullet point เช่นกัน

การมี bullet point ช่วยให้เราพรีเซ้นต์ง่าย ไม่ต้องเตรียมตัวเยอะ เพราะมันจะเป็นเครื่องช่วยจำให้เราอยู่แล้ว

แต่ถ้าอยากให้การพรีเซนต์ของคุณมันเจ๋งจริงๆ ต้องลองทำสไลด์แบบไม่มี bullet point ดูนะครับ

20150316_SteveJobs

และนี่คือ 8 ข้อที่จะช่วยให้สไลด์ของคุณดูดีมีสไตล์ และเป็นมืออาชีพครับ

โบนัส: ใครมีเวลาอีกซัก 4 นาที อันนี้คือวีดีโอที่ “โคตรฮา” และสมควรอย่างยิ่งที่จะเปิดแชร์ให้เพื่อนๆ ร่วมทีม (รวมถึงหัวหน้า) ได้ดูกันนะครับ


(UPDATE: 24 Aug 2017) หากคุณอยากเรียนรู้เทคนิคที่จะทำงานได้ดีขึ้น รวมทั้งเป็นคนที่มีความสุขความพอใจในชีวิตไปพร้อมๆ กัน ขอแนะนำหนังสือเล่มแรกของผม  Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ  หาซื้อได้ที่ ซีเอ็ด นายอินทร์ คิโนะฯ เอเชียบุ๊คส์ บีทูเอส และศูนย์หนังสือจุฬาครับ >> bit.ly/tgimannounce

TGIM_HardCopies

 

Credits:

Elmhurst College: Worst Presentation Ever  

Steve Jobs’ iPhone Launch (2007)

Life After Death by PowerPoint 2012 by Don McMillan

—–

ดาวน์โหลดอีบุ๊คฟรี

หากท่านใดสนใจหนังสือ eBook “เกิดใหม่” ซึ่งรวบรวม 17 บทความเกี่ยวกับธรรมะใกล้ตัว ใช้ภาษาวัยรุ่น ไม่ต้องปีนกะไดอ่าน ขอเชิญลงทะเบียนรับได้เลยครับ