เมื่อนักการเมืองร้องเพลงร็อคและแม่บ้านส่องกระจก

เมื่อตอนต้นสัปดาห์ ผมเห็นคลิปไวรัลที่น.ต.ศิธา ทิวารี ขึ้นเวทีร้องเพลงในผับ

แถมเพลงที่ร้องก็คือเพลง “คุกเข่า” ของวง Cocktail ที่แม้จะไม่ได้ใหม่มากนัก แต่ก็เป็นเพลงที่ถือว่ายัง “วัยรุ่น”

ณ วันที่เขียนบทความ คลิปร้องเพลงคุกเข่าถูกแชร์ใน TikTok 10,000 ครั้ง และในเฟซบุ๊คของคุณศิธาอีก 11,000 ครั้ง

ผมเดาว่าที่คลิปนี้เป็นที่ถูกใจเพราะเป็นภาพที่ไม่คุ้นตา ไม่คิดว่านักการเมืองรุ่นใหญ่จะมากินเหล้าร้องเพลงอยู่ในผับเดียวกับ “คนธรรมดา” อย่างพวกเราได้


เมื่อได้ดูคลิปนี้ มันทำให้ผมนึกถึงเรื่องหนึ่งเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ระหว่างที่ผมไปเดินเล่นรอบหมู่บ้านตอนเช้าตรู่

ผมเดินผ่านคลับหน้าเฮาส์ของหมู่บ้าน ที่ข้างในมีสระว่ายน้ำและห้องฟิตเนส

ตรงห้องฟิตเนส จะมีเครื่องเล่นเวท และมีกระจกทรงสูงอันหนึ่งติดอยู่ตรงกำแพงเพื่อให้คนที่มาเล่นเวทได้เห็นตัวเองว่าทำท่าถูกต้อง

จากระยะไกล ผมมองเห็นผู้หญิงคนหนึ่งยืนอยู่หน้ากระจก

ไม่ใช่คนที่มาออกกำลังกาย แต่เป็นแม่บ้านประจำคลับเฮาส์ อายุประมาณห้าสิบต้นๆ ผิวสีเข้ม ยืนส่องกระจกและหวีผมตัวเองอยู่อย่างพิถีพิถัน

เป็นภาพที่ผมไม่คุ้นตา เพราะทุกครั้งที่ผมเจอพี่แม่บ้านคนนี้ที่คลับเฮาส์ จะเป็นตอนที่เขากำลังถูพื้นอยู่เสมอ

การได้เห็นเขายืนส่องกระจก ทำให้ผมตระหนักได้ว่า ผู้หญิงย่อมรักสวยรักงาม ไม่ว่าเขาจะทำอาชีพอะไรก็ตาม


Wikipedia ได้อธิบายคำว่า “การเหมารวม” ไว้ดังนี้

“การเหมารวม[1] (อังกฤษ: Stereotype) คือ คตินิยมหรือทัศนคติของสังคมทั่วไปที่มีต่อกลุ่มคนอื่น ชาติอื่น หรือลักษณะของบุคคลบางประเภทจนกลายเป็นมาตรฐาน”

กับบางอาชีพ เรามีภาพจำค่อนข้างชัด เมื่อภาพมันชัดและเกิดขึ้นซ้ำๆ จึงเกิดการเหมารวมไปโดยปริยาย

แขกในร้านขึ้นเวทีร้องเพลงในผับเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราแปลกใจเพราะเขาเป็นนักการเมือง

ผู้หญิงยืนหวีผมหน้ากระจกเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผมแปลกใจเพราะว่าเขาเป็นแม่บ้าน

เมื่อเราเห็นภาพที่ขัดกับ stereotype จึงเกิดความรู้สึกประหลาดขึ้นในใจ ก่อนจะคิดได้ว่าเขาเองก็เป็นคนธรรมดา

การมองให้เห็นว่าคนอื่นเป็นคนธรรมดานั้นสำคัญมาก

เพราะด้วยกระแสการเมืองที่ร้อนแรง เศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วง และ social media ที่คอยขยายเสียงให้กับเรื่องที่เป็นดราม่า เรามีแนวโน้มที่จะมอง “อีกฝ่าย” แบบเหมารวม ว่าเป็นคนใช้ไม่ได้ เป็นคนประสงค์ร้าย เป็นคนไม่ฉลาด

การเหมารวมช่วยให้สมองเราไม่ต้องทำงานหนัก เพราะมันช่วย simplify คนกลุ่มหนึ่งให้อยู่ใน “กล่อง” ที่เรากำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน และช่วยให้เรารู้สึกดีกับตัวเองว่าฉลาดกว่าหรือคุณธรรมสูงกว่า

แต่การเหมารวมนั้นมีจุดอ่อนสำคัญ เพราะว่ามันจะทำให้เราหลงลืม “ความเป็นมนุษย์” ของคนคนนั้น

เมื่อเราหลงลืมความเป็นมนุษย์ในตัวคนอื่น เราก็จะหลงลืมความเป็นมนุษย์ในตัวเราเช่นกัน

วิจารณญาณย่อมถดถอย อคติย่อมยึดครอง มองแต่ไม่เห็น ฟังแต่ไม่ได้ยิน

หากเราสามารถมองคนให้เต็มคน เราจะเห็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ต่างจากเรา มนุษย์ที่มีหลายมิติเกินกว่าจะนิยามได้ด้วย “กล่อง” ใดๆ

เมื่อเรามองเห็นคนธรรมดา ภาพต่างๆ เหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่ควรประหลาดใจ

พลเอกไปรับหลานที่โรงเรียนอนุบาล คนเก็บขยะอ่านหนังสือ non-fiction

ดารานั่งจิบชาคุยกันเรื่องศาสนา อดีตศาลฏีกานั่งกินก๋วยเตี๋ยวริมทาง

คุณพ่อเลี้ยงลูกอยู่บ้าน คุณแม่ขึ้นกล่าวปาฐกถางานประชุมที่เมืองนอก

นักการเมืองร้องเพลงร็อค และแม่บ้านส่องกระจกครับ

เรามีความทุกข์เพราะชอบคาดหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

เรามีความทุกข์เพราะชอบคาดหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

คาดหวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผน

คาดหวังว่างานของเราจะไม่โดนตำหนิ

คาดหวังว่าลูกน้องจะได้ดั่งใจ

คาดหวังว่าลูกจะไม่งอแง

คาดหวังให้สามีเปลี่ยนนิสัย

คาดหวังให้ภรรยาไม่เปลี่ยน

คาดหวังให้นักการเมืองซื่อสัตย์และมีวุฒิภาวะกว่านี้

เมื่อคาดหวังในสิ่งที่ขัดกับความจริง ความทุกข์ย่อมตามมา

หากไม่คาดหวัง ก็จะไม่ผิดหวัง

แต่ๆๆ

ในมุมกลับ ความเจริญก้าวหน้าก็เกิดจากความหวังในสิ่งที่เคยเป็นไปไม่ได้ แต่เป็น “ความมุ่งหวัง” มากกว่า “ความคาดหวัง”

มุ่งหวังว่าเด็กไม่ควรพิการไปตลอดชีวิต จึงเกิดวัคซีนโปลิโอ

มุ่งหวังว่าเราควรไปไหนโดยไม่หลงทาง จึงเกิด Google Maps

มุ่งหวังว่ามนุษย์จะไม่สูญพันธุ์ จึงเกิด SpaceX

ต้องขอบคุณคนเหล่านั้นที่ยอมแบกรับความทุกข์ใจ ความไม่พอใจ ความเหน็ดเหนื่อย เพื่อให้คนส่วนใหญ่มีชีวิตที่ดีขึ้น

เอาเข้าจริง ธุรกิจเกือบทั้งหมดเกิดจากความไม่พอใจ เกิดจากความต้องการที่จะแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง และพวกเราก็ทำงานอยู่ในธุรกิจเหล่านั้น

เมื่อนำสองมุมนี้มารวมกัน ผมจึงได้แง่คิดว่า เรื่องของคนอื่น เรื่องที่เราไม่อาจควบคุมได้ เราควรคาดหวังให้น้อย จะได้ไม่ทุกข์ฟรี

แต่สำหรับเรื่องที่เราสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงผ่านงานที่เราทำ ก็จงทำไปด้วยความมุ่งหวัง

เรามีความทุกข์เพราะชอบคาดหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

แต่เราสามารถลดทอนความทุกข์ของผู้คน ผ่านการทำงานและความมุ่งหวังในสิ่งที่(อาจ)เป็นไปได้ครับ

อยากเป็นศิลปินหรืออยากเป็นคนดัง

ผมได้ฟังรายการ ติดคุย ที่ “พุฒต้าเร” สัมภาษณ์ เจ มณฑล จิรา

เจ มณฑล เคยโด่งดังเป็นพลุแตกจากโฆษณาทเวลฟ์ พลัส โคโลญ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว

เจเคยเป็นทั้งนายแบบและนักแสดง แต่สิ่งที่เขาจริงจังมากที่สุดคือเรื่องดนตรี เคยมีอัลบั้มของตัวเอง เคยไปทัวร์กับวงดนตรีเมืองนอก และเคยเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปินหลายคน

ผมเพิ่งรู้จากรายการนี้ว่าเขาคือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Wonderfruit Festival เทศกาลดนตรีสุดฮิป น้อง Gen Z หลายคนที่ผมรู้จักก็ไปงานนี้กัน

ผมชอบคำตอบในช่วงท้ายๆ ของรายการมากจนอยากจะเอามาบันทึกในบล็อกนี้ (นาทีที่ 52 เป็นต้นไป)

เจ: เราจะคิดไปว่า เรามาเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้เค้า เค้าอาจจะยังไม่เข้าใจตอนนี้ เค้าอาจจะไม่ชอบตอนนี้ แต่ว่าวันนึงเค้าอาจจะเห็นความตั้งใจของเรา ขอแค่เค้าไม่…ภาษาอังกฤษเค้าจะเรียกว่า clear the floor…แต่มันก็มีนะ เมื่อก่อนมีหลายช่วงเลย ที่เราออกไปเป็นดีเจ ตอนแรกคนจะเต็ม เล่นไปซักพักนึงคนจะโล่งเลย…ซึ่งบางครั้งถ้ามันไม่เกิดขึ้น แสดงว่าเราต้องทำอะไรผิด…มันต้อง clear the floor บ้าง ไม่อย่างนั้นแสดงว่าแนวเพลงเรามันอาจจะง่ายไป

ต้า: ความหมายก็คือ ถ้าเล่นแล้วคนยังอยู่ แสดงว่าลิสต์เพลงเราป๊อปไป ง่ายไป คนดูก็เลยยังอยู่ ต้องเล่นให้มันยากขึ้นให้คนเดินหนี (เจ: ใช่!) -ึงบ้ารึเปล่า?

ต้า: นี่แหละเดนตายเลยล่ะ รับรอง

เจ: ก็อย่าท้อสิ เรารู้ว่าถ้าเราเล่นเพลงง่ายๆ เดี๋ยวเค้าก็กลับมา แต่เพลงที่ง่ายน่ะ คนก่อนเรากับคนหลังเราเค้าเล่นอยู่แล้ว

เร: อันนี้คือรายการพื้นที่ชีวิต หรือ RAMA Channel รึเปล่า

เจ: เพราะเราเห็นหลายวงขึ้นเวทีไป พอเค้าลงมา เราถามว่าดีมั้ย? เค้าบอก ‘ไม่ค่อยดีว่ะ energy คนดูเค้าไม่ตาม’ แต่เราถามว่าการแสดงน่ะมันดีมั้ย เค้าบอก ‘ไม่ดีอ่ะ เพราะคนมันไม่ตาม’ – เกี่ยวอะไร มันวัดผิด บางคนจะบอกว่า ‘อ๋อ โคตรดีอ่ะ คนมันโคตรอินเลย’ – ไม่ๆ แต่การแสดงอ่ะ วงเล่นดีรึเปล่า มันคนละเรื่องกันเลย เราถามนักดนตรี กับเราถาม entertainer มันคนละอย่างกัน

ต้า: แต่กูก็ยังไม่บรรลุแบบมัน กูยังไม่กล้าพอที่จะเล่นให้คนหนี

เจ: เราไม่ได้พยายามจะเล่นให้คนหนี แต่เราแค่เห็นว่าสิ่งที่เราอยากจะเล่นน่ะมันอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่เค้าต้องการ

เจ: แต่ว่าตอนหลัง คนที่มา Wonderfruit เค้าจะแบบ ว้าว! ตอนนี้ทำไมมันเป็นสิ่งที่ต้องการแล้วล่ะ…ใช่มั้ย? มันต้องใช้เวลา

เร: ขออีกคำถามนึงสำหรับน้องๆ ที่เค้าอยากเป็นศิลปินมาก อาจจะออกผลงานมาเรื่อยๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เปรี้ยงซักที จะให้กำลังใจเค้ายังไงครับ?

เจ: ก็ต้องดูว่าความสำเร็จที่เค้าต้องการมันคืออะไร – อยากจะดังใช่มั้ย? ถ้าอยากดัง ไปทำคลิป TikTok เต้นไปเต้นมา 15 วิก็พอ ไม่ต้องทำเพลงหรอก…แต่ถ้าอยากเป็นนักดนตรีที่ดี อยู่บ้าน ซ้อมเยอะๆ ฟังเพลงเยอะๆ แค่นั้นแหละ


Seth Godin เป็นหนึ่งในฮีโร่ของผมในการเขียนบล็อก เขาเขียนบล็อกอย่างสม่ำเสมอมา 20 ปีแล้ว

เซธบอกว่าทุกคนสามารถเป็นศิลปินได้ โดยศิลปิน (artist) ในนิยามของเซธ คือคนที่กล้าสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมา อะไรบางอย่างที่มันอาจจะไม่เวิร์ค (something that might not work) แล้วก็แชร์สิ่งนั้นเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมในใจให้กับคนอื่น

ด้วยนิยามแบบนี้ บล็อกเกอร์ก็นับเป็นศิลปินได้เช่นกัน

ผมจึงชอบแนวคิดของเจ มนฑล เป็นพิเศษ เพราะเขาเดินทางในวงการนี้มาหลายสิบปี และเข้าใจแล้วว่าแก่นของการเป็นศิลปินคืออะไร

ศิลปินต้องกล้าที่จะเสี่ยง ต้องกล้าทำอะไรบางอย่างที่มันอาจจะไม่เวิร์ค

ถ้าอยากจะเป็นศิลปินที่ดี ก็จงมุ่งมั่นฝึกปรือฝีมือของเราต่อไป แต่ถ้าอยากเป็นคนดัง มันมีวิธีที่ง่ายกว่านั้น ไม่ต้องเป็นศิลปินก็ได้

ดังนั้น ใครที่เลือกจะเป็น content creator หากงานของเรามันยังไม่ปัง ยังไม่เคยไวรัล ก็อย่าเพิ่งยอมแพ้ ตราบใดที่เจตนาของเราคือการสร้างผลงานที่มีประโยชน์ คือการแบ่งปันสิ่งที่เรามีเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้ผู้อื่น เราก็ควรจะภูมิใจกับตัวเองได้โดยไม่ต้องดูยอดไลค์กำกับ

สิ่งที่เราควรระมัดระวัง คือการโหยหาความยอมรับเสียจนเรายอมลดมาตรฐานหรือปรับแต่งผลงานของเพื่อให้ถูกใจ algorithm ของโซเชียลมีเดียและคนหมู่มาก เพราะเมื่อเราพยายามจะเอาใจคนอื่นเกินไป เราก็จะหลงลืมเหตุผลที่เราเริ่มทำสิ่งนี้ตั้งแต่แรก

งานบางอย่างต้องใช้เวลา บางคนเขาอาจจะยังไม่พร้อมตอนนี้ก็ไม่เป็นไร ตอนนี้ “เพลง” ของเราอาจจะยังฟังยากสักหน่อย

“เพลงที่ง่ายน่ะ คนก่อนเรากับคนหลังเราเค้าเล่นอยู่แล้ว”

บรรเลงเพลงของเราให้ดีต่อไป แล้ววันหนึ่งจะมีคนเข้าใจเราแน่นอน