ส่องความคิดคนอ่อนไหวในหนังสือ คิดมากไปทำไมอีก 100 ปีก็ตายกันหมดแล้ว

HSP – Highly Sensitive Person หมายถึงคนที่มีความอ่อนไหวในระดับสูง มีสัมผัสที่ไวต่อสถานการณ์ และมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับคนอื่นมากกว่าตัวเอง

คุณสมบัติ 4 ประการของ HSP:

1) ประมวลผลลึกซึ้ง ฟุ้งไปได้มากมายจากเรื่องนิดเดียว

2) ถูกกระตุ้นเร้าได้ง่าย

3) ตอบสนองทางอารมณ์ได้รุนแรง

4) อ่อนไหวต่อสิ่งต่างๆ ได้ง่าย

หนังสือเล่มนี้พาเราเกาะติดชีวิตของ “นาโอะเนียน” นามปากกาของสาวญี่ปุ่นวัยกลางคนที่เป็น HSP มาตั้งแต่เด็ก เพื่อจะได้เห็นว่าเธอต้องประสบกับความรู้สึกอะไรบ้าง

เราคงไม่ไปตัดสินว่าที่เธอคิดนั้นผิดหรือถูก แค่รับรู้ว่ามันมีคนที่รู้สึกแบบนี้ได้เช่นกันก็พอ

“เวลาฉันสอบได้คะแนนไม่ดี แม่จะถอนหายใจด้วยความผิดหวัง ฉันเลยตั้งใจเรียนสุดชีวิต”

“การถอนหายใจของพ่อแม่อาจกลายเป็นบาดแผลทางใจสำหรับเด็ก ถ้าเป็นไปได้อย่าถอนหายใจให้เด็กเห็นเลยนะคะ”

“เวลาที่ได้คะแนนไม่ดี บางครั้งฉันถึงขั้นไปต่อรองกับครูว่าขอคะแนนเพิ่มอีกสักคะแนนได้ไหม”

“อะไรที่ตอนเด็กถูกห้ามมากๆ พอโตขึ้นแล้วความรู้สึกต่อต้านจะแสดงออกมาในแบบสุดขั้วไปเลย”

“ฉันคิดว่าการเอาเด็กอายุไล่เลี่ยมาเปรียบเทียบกันมันไม่มีอะไรดีเลย อยากให้เลิกเปรียบเทียบแบบไม่รู้จักแยกแยะเสียที”

“คนที่อยากให้ทุกคนชอบตัวเองนั้น จะกลับกลายเป็นว่าโดนทุกคนเกลียดแทน”

“หากพ่อแม่พูดว่า ‘ไม่ต้องกังวลนะ’ ก็ยังจะพอรับได้ แต่การใช้ประโยคคำสั่งว่า ‘อย่ากังวล’ นี่ทำให้โมโหสุดๆ”

“ผมฉันแข็งกระด้างและหยักศก ทำให้โดนรุ่นพี่ในชมรมแอบเรียกว่า ‘ยายหัวฟู’ ถ้าทำได้ฉันก็อยากไปยืดผมให้ตรง แต่ที่โรงเรียนห้ามยืดผม ฉันเลยต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าครึ่งเพื่อใช้เวลา 30 นาทีในการเป่าผมให้ตรง ฉันเกลียดวันฝนตกมาก เพราะความชื้นทำให้ผมกลับไปหยักศกเหมือนเดิม”

“ฉันได้พบความจริงที่ว่า ไม่ว่าจะตั้งใจเรียนแค่ไหน ถ้าหน้าตาไม่ดีก็จะถูกนินทาอยู่ดี”

“ในหมู่เด็กผู้หญิงชอบมีการซุบซิบนินทากัน แต่ด้วยความกลัวว่าจะโดนกลุ่มเมิน ฉันจึงต้องร่วมวงนินทากับเขาด้วย ทั้งที่แต่ละคนอยู่คนเดียวก็นิสัยดี แต่พอจับกลุ่มกันแล้วกลับหัวรุนแรงขึ้น”

“ต่อให้ไปปรึกษาครูก็ไม่ช่วยอะไร (ครูเองก็โดนกลั่นแกล้งเหมือนกัน)”

“สังคมเราให้ความสำคัญกับการมีความอดทนและการไม่ร้องไห้ต่อหน้าคนอื่น แต่การต้องอดทนเก็บความเศร้าแล้วแกล้งทำเป็นร่าเริงนี่มันดีจริงๆ เหรอ”

“ถ้าแต่งหน้าที่บ้านจะโดนพ่อแม่ดุ ฉันเลยต้องตื่นแต่เช้าไปแต่งหน้าที่ห้องน้ำของสถานีรถไฟแล้วค่อยไปโรงเรียน ขากลับก็ต้องลบเครื่องสำอางที่ห้องน้ำของสถานีรถไฟก่อนกลับบ้าน มันยุ่งยากมากๆ”

“เวลาไม่แต่งหน้าฉันจะกลัวสายตาของคนอื่นขนาดที่ต้องถอดคอนแทกต์เลนส์เดินข้างนอกบ้าน”

“พอลองๆ นึกดู ฉันก็รู้ว่าตัวเองไม่ได้ชอบเรียนหนังสือ แต่ตั้งใจเรียนเพราะพ่อแม่ชม ที่เริ่มแต่งตัวแนวโลลิต้าก็เพราะคนจะได้มองว่าน่ารัก ไม่ว่าจะความสนใจ เพลงที่ฟัง หรือหนังสือที่อ่าน ฉันก็เลือกแต่สิ่งที่สังคมบอกว่าดี แทบไม่มีอะไรที่เลือกด้วยตัวเอง เป็นมนุษย์ที่กลวงโบ๋ที่ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนของตัวเองเลย”

“ด้วยความเป็น HSP ตอนทำงานบริษัทฉันจึงไม่ชอบรับโทรศัพท์เลย โทรศัพท์ดังทีไรหัวใจแทบหยุดเต้น จนทุกวันนี้ฉันก็ยังไม่ถูกโฉลกกับโทรศัพท์ ไม่เคยรับสายหลังจากได้ยินเสียงโทรศัพท์แค่ครั้งเดียวได้เลย”

“ฉันยังมีเคล็ดลับดีๆ มาแนะนำด้วยค่ะ นั่นคือ เวลารับโทรศัพท์ให้ท่องว่า ‘ตอนนี้เราอยู่ในโหมดอัตโนมัติ’ โดยคิดเสียว่าตัวเองเป็นเครื่องจักรจะได้ทำให้เสร็จๆ ไปโดยไม่ต้องรู้สึกอะไร”

“พออยู่กับคนอื่นแล้วฉันจะรู้สึกกดดันว่าต้องพูดอะไรสักอย่าง เลยเลือกจะใช้บันไดแทนการใช้ลิฟต์ ออฟฟิศฉันอยู่ชั้น 11 ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เหนื่อยสุดๆ จนอดสมเพชตัวเองไม่ได้ว่าทำไมถึงต้องใช้ชีวิตแบบคิดมากเรื่องคนอื่นขนาดนี้ด้วย”

“ด้วยความที่อ่อนไหวง่ายต่ออารมณ์คนรอบข้าง พอเห็นพนักงานคนไหนอารมณ์เสีย ฉันก็จะวิตกจริตว่า ‘เราทำอะไรผิดไปหรือเปล่า’ แล้วก็จะไปถามรุ่นพี่ที่สนิทกับคนคนนั้นว่าเขาโกรธอะไรฉันไหม หลังจากนั้นจากที่เคยไม่มีอะไรก็กลายเป็นว่าโดนเกลียดเข้าจริงๆ”

“ฉันเริ่มเห็นด้วยกับสำนวนที่ว่าพูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง เราไม่จำเป็นต้องพูดหมดทุกเรื่อง ที่สำคัญแม้ตัวเราจะมองว่าการไม่พูดไม่จาเป็นปมด้อย แต่สำหรับบางคนแล้วมันอาจทำให้เราดูเป็นคนสุขุมก็ได้”

“นับแต่นั้นมาฉันเลยพูดกับพ่อแม่เรื่องเป็นโรคซึมเศร้าไม่ออก พ่อแม่เป็นคนที่หัวเด็ดตีนขาดก็ไม่เชื่อเรื่องความอ่อนแอทางจิตใจ และไม่ยอมรับฟังฉันมาแต่ไหนแต่ไร ถ้าแสดงความอ่อนแอให้เห็นแค่นิดเดียวก็จะดุฉันว่า “ใจไม่สู้เลย” “อย่าทำตัวเหยาะแหยะ”

“ถึงจะรู้สึกผิดที่โกหก แต่การปกห้องหัวใจตัวเองสำคัญกว่า ตอนนั้นฉันตัดสินใจแล้วว่าชีวิตนี้ไม่จำเป็นต้องให้ทุกคนมาเข้าอกเข้าใจก็ได้”

“ฉันจงใจเลือกงานที่พ่อแม่สามารถเอาไปอวดคนรอบข้างได้”

“ฉันเคยโพสต์ลงทวิตเตอร์ว่า ‘ฉันเคยเป็นโรคซึมเศร้า แต่ก็พยายามหาสิ่งที่ตัวเองทำได้เลยมาเป็นฟรีแลนซ์’ ปรากฏว่ามีคนมาตอบกลับว่า ‘นี่อวดเหรอ'”

“สุดท้ายแล้วทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคน เพราะงั้นไม่ต้องใส่ใจดีกว่า”

“ฉันเป็นคนที่มักอิจฉาคนเด่นดัง ทว่าพักหลังมานี้ฉันเริ่มคิดว่าคนดังนั้นเป็น ‘ขุมพลัง’ ของมนุษย์อย่างวัดหรือศาลเจ้า พอคิดแบบนี้ความอิจฉาก็หายไปอย่างประหลาด”

“เวลาฉันไปร้านอาหารฉันยังเป็นคนที่กะจังหวะไม่ถูกว่าควรเรียกพนักงานเสิร์ฟที่กำลังยุ่งๆ ตอนไหนดี”

“แม้จะหาเพื่อนได้ แต่ฉันก็มักเผลอใส่ใจอีกฝ่ายเกินไป พอเพื่อนแสดงอารมณ์อะไรออกมาหน่อยก็ชอบคิดลึกไปโน่น จากนั้นก็ทึกทักเอาเองว่า ‘ถูกเกลียด’ แล้วก็เป็นฝ่ายตัดสัมพันธ์เสียเอง”

“ว่ากันว่าในทุกๆ 10 คนจะมีคนที่เกลียดเราอยู่ 2 คน การทำให้ทุกคนชอบจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แค่พยายามไม่ให้คนที่เราชอบเกลียดเราก็พอแล้ว”

“ฉันว่าการสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ของคนอื่นถือเป็นข้อดีของ HSP เวลาเพื่อนดูสีหน้าไม่ดีหรือเอาแต่ก้มหน้าก้มตา ฉันจะสังเกตเห็นแล้วเข้าไปทักว่า ‘เป็นอะไรไหม’ ‘ฝืนอยู่หรือเปล่า’ ทำให้เพื่อนยอมบอกเรื่องที่อยู่ในใจออกมา

“ด้วยความที่ HSP สามารถเข้าใจความทุกข์ของคนอื่นได้อย่างลึกซึ้ง จึงช่วยเป็นที่พึ่งพิงยามทุกข์ให้กับคนอื่นได้”


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ คิดมากไปทำไมอีก 100 ปีก็ตายกันหมดแล้ว (100 年後にはみんな死んでるから気にしないことにした) ผู้เขียน นาโอะเนียน สำนักพิมพ์วีเลิร์น

มุมมองการอ่านหนังสือของผมในปี 2023

แฟนผมบอกว่าผมเป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะเป็นพิเศษ เยอะแบบผิดปกติ

ถ้ามองย้อนกลับไป น่าจะมีปัจจัยอยู่สามข้อ

  1. ตอนเด็กๆ พ่อผมเป็นคนอ่านหนังสือเยอะเหมือนกัน ครอบครัวผมฐานะปานกลาง จึงแทบไม่เคยซื้อของเล่นราคาแพงหรือกินอาหารร้านหรู แต่สิ่งเดียวที่พ่อแม่ผมไม่เคยประหยัดเลยคือการซื้อหนังสือให้ลูก
  2. ตอนมัธยมปลายผมไปเรียนนิวซีแลนด์ซึ่งมีฟรีทีวีมีแค่สามช่อง รายการเดียวที่ดูได้คือซิตคอม Friends เวลาว่างเหลือเยอะ เลยขนหนังสือจากเมืองไทยไปอ่านที่นั่น และสมัครสมาชิกมติชนสุดสัปดาห์เพื่อติดตามข่าวสารในเมืองไทย
  3. ตอนที่รถไฟใต้ดินเปิดทำการ ผมเปลี่ยนวิธีการเดินทางไปทำงาน จากที่เคยขับรถไปจอดสวนลุมไนท์บาซ่าร์และเดินไปตึกอื้อจื่อเหลียง ผมเปลี่ยนเป็นขึ้นรถไฟฉึกฉักจากสถานีหัวหมากไปลงที่หยุดรถอโศก เดินไปขึ้นรถใต้ดินสถานีเพชรบุรีตัดใหม่แล้วลงที่สถานีลุมพินี – 80% ของเวลาเดินทางจึงสามารถใช้อ่านหนังสือไปด้วยได้ แต่ที่ได้อ่านเยอะที่สุดคือตอนรอรถไฟฉึกฉักเพราะมักจะมาสาย 15-30 นาทีเสมอ (สมัยนั้นยังไม่มี smartphone ด้วย เลยไม่มีอย่างอื่นให้ดู)

เมื่อหนังสือคือส่วนสำคัญของชีวิต ผมก็เลยมีเวลาได้ขบคิดและเรียนรู้จากคนอื่นเรื่องการอ่านหนังสือ และคิดว่าบางมุมมองน่าจะมีประโยชน์ต่อคนที่ติดตาม Anontawong’s Musings เลยขอนำมาแชร์ไว้ตรงนี้ครับ

  • Naval Ravikant นักลงทุน VC ชื่อดังบอกว่าการนั่งนับจำนวนหนังสือที่อ่านจบคือการวัดผลที่เปล่าดาย “The number of books completed is a vanity metric. As you know more, you leave more books unfinished.
  • ได้ยินครั้งแรกผมก็รู้สึกค้านในใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจึงเริ่มมองเห็นว่าทำไมเราไม่ควรตั้งเป้าว่าเดือนนึงหรือปีนึงจะอ่านหนังสือได้กี่เล่ม เพราะเมื่อเราตั้งเป้าเป็นจำนวนหนังสือที่จะอ่านให้จบ สิ่งที่อาจตามมาจะมีดังนี้
  • เราจะให้เวลากับการอ่านหนังสือที่อ่านง่ายๆ เพราะอยากทำตัวเลข
  • เราจะไม่ค่อยอ่านหนังสือหนาๆ หรือหนังสือยากๆ เพราะใช้เวลาเยอะเกินไป กว่าจะอ่านจบอาจกินเวลา 1-2 เดือน
  • เราจะไม่อ่านหนังสือดีๆ ซ้ำสองรอบ ทั้งที่หนังสือบางเล่มมีความลึกซึ้ง และการอ่านรอบสองจะได้ประโยชน์มากกว่าการอ่านรอบแรก
  • เราจะมีแนวโน้มที่จะอ่านหนังสือในกระแส หนังสือออกใหม่ ซึ่งอาจจะไม่ใช่หนังสือที่มีคุณค่าเสมอไป
  • Ravikant ยังบอกอีกว่า แทนที่เขาจะอ่านหนังสือ 100 เล่ม เขาอยากอ่านหนังสือระดับตำนาน 10 เล่มจบ 10 รอบมากกว่า ผมว่า Ravikant อาจจะพูดเกินเลยไปบ้าง แต่ก็เข้าใจประเด็นว่าปริมาณไม่สำคัญเท่าคุณภาพ
  • Nassim Taleb ผู้เขียน The Black Swan, Antifraigle และ Skin in the Game บอกว่าเขาไม่ชอบไปโรงเรียน และคนที่สอบได้คะแนนดีๆ นั้นมักจะรู้ดีแต่เรื่องที่อยู่ในหนังสือเรียน
  • แต่ Taleb ชอบอ่านหนังสือที่หลากหลาย เขาเกิดในเลบานอนและโตมาในยุคที่มีสงครามกลางเมือง เลยใช้เวลาส่วนใหญ่ขลุกอยู่แต่กับหนังสือเพราะออกไปไหนไม่ค่อยได้
  • Taleb ไม่เคยจดว่าตัวเองอ่านหนังสือจบไปกี่เล่ม แต่จะจดว่าแต่ละวันอ่านหนังสือไปกี่นาที/กี่ชั่วโมง
  • สำหรับคนที่ชอบทำสถิติหรือจดตัวเลข ผมคิดว่าการเอา “ระยะเวลาที่ใช้อ่านหนังสือในแต่ละวัน” น่าจะเป็น KPI ที่มีความเป็นกลางมากกว่า และจะช่วยคลี่คลายปัญหาที่ผมกล่าวถึงด้านบนได้ (อ่านแต่หนังสือง่ายๆ ไม่อ่านหนังสือยากๆ ไม่อ่านซ้ำทั้งที่ควรอ่าน) เพราะเราไม่สนใจจำนวนเล่มที่อ่านจบอีกต่อไป สนใจแต่ว่าเราได้ใช้เวลากับการอ่านมากน้อยแค่ไหน
  • Taleb ยังแนะนำอีกว่าอย่าอ่านหนังสือที่ใหม่กว่า 10 ปี เพราะไม่รู้ว่ามันดีจริงรึเปล่า ถ้าอีก 10 ปียังมีคนพูดถึงอยู่เราค่อยอ่านก็ยังไม่สาย ส่วนหนังสือที่อายุเกิน 100 ปี หรือ 1000 ปียิ่งควรอ่าน เพราะมันได้รับการกลั่นกรองจากกาลเวลามาแล้ว
  • ผมเคยเขียนบทความ “ถ้าอยากได้ไอเดียใหม่ๆ ให้อ่านหนังสือเก่าๆ” โดยยกตัวอย่าง “พี่เล้ง” ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ที่ได้ไอเดียสดใหม่ในการบริหารคนและองค์กรจากการอ่านคัมภีร์เต้าเต๋อจิง
  • อีกประเด็นนึงสำหรับหนังสือเก่า ก็คือสมัยก่อนนั้นการทำหนังสือสักเล่มต้นทุนสูงมากถึงมากที่สุด (เรากำลังพูดถึงยุคก่อนที่ Gutenberg จะปฏิวัติการผลิตหนังสือ) ดังนั้นหนังสือเก่าแก่จึงจำเป็นต้องเขียนให้กระชับ เนื้อๆ เน้นๆ เพื่อจะได้มี waste ให้น้อยที่สุด
  • มองกลับมาสมัยนี้ ที่ใครจะสร้าง content อะไรที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้โดยแทบจะไม่มีต้นทุน (เช่นบทความนี้!) สิ่งที่เขียนออกมาอาจมีเนื้อหาที่ไม่ได้เข้มข้นเท่ากับหนังสือเก่าแก่
  • ส่วนหนังสือใหม่ที่อยู่ในกระแส ใครๆ ก็อ่านกัน เมื่อเราอ่านหนังสือเหมือนกับคนอื่น เราก็จะคิดเหมือนกับคนอื่น ซึ่งจะทำให้เราขาด edge หรือข้อได้เปรียบ
  • ไม่ได้แปลว่าหนังสือใหม่ไม่ควรอ่านเลยนะครับ เพียงแต่ควรจะเลือกให้ดีๆ เท่านั้นเอง หนังสือเล่มโปรดของผมหลายเล่มก็ได้อ่านตั้งแต่ตอนออกใหม่ๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Sapiens, The Psychology of Money หรือ Four Thousand Weeks.
  • อีกเคล็ดลับหนึ่งที่ทำให้ Taleb อ่านหนังสือได้เยอะๆ ก็คือถ้าหนังสือเล่มไหนน่าเบื่อเขาจะเลิกอ่านทันที – Life is too short to be reading a boring book.
  • แต่เราต้องไม่สับสนระหว่างหนังสือน่าเบื่อกับหนังสืออ่านยาก อย่างหนังสือของ Taleb ทุกเล่มนั้นอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่มันจะมีอะไรบางอย่างที่ดึงให้เรากลับไปอ่านต่อและใช้เวลาทำความเข้าใจกับมัน (ซึ่งถ้าเราตั้งเป้าหมายเป็นจำนวนเล่มของหนังสือที่จะอ่านให้จบ เราก็อาจไม่พร้อมที่จะใช้เวลากับหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งได้นานๆ ซึ่งผิดกับการตั้งเป้าหมายว่าจะใช้เวลาอ่านหนังสือวันละกี่นาที)
  • แต่ก่อนผมเคยมีกติกาว่าถ้าอ่านหนังสือแล้วก็อยากอ่านให้จบ และไม่ควรอ่านหนังสือพร้อมกันเกิน 3 เล่มไม่อย่างนั้นจะอ่านไม่จบสักเล่มเดียว
  • อาจารย์นภดล ร่มโพธิ์ เจ้าของเพจ Nopadol’s Story เคยตั้งข้อสังเกตว่าการที่เราทนอ่านหนังสือไม่ดีให้จบถือเป็น sunk cost fallacy อย่างหนึ่ง
  • เดี๋ยวนี้หนังสือที่ผมอ่านไม่จบจึงมีมากกว่าหนังสือที่ผมอ่านจบ มีความรู้สึกผิดอยู่บ้างแต่ก็เริ่มชินแล้ว
  • อีกหนึ่งความรู้สึกผิดที่คนรักหนังสือชอบมีกันก็คือ “กองดอง” ขนาดมหึมา แต่พอมีงานหนังสือทีไรก็อดไม่ได้ที่จะซื้อมาทำให้กองดองมันใหญ่ขึ้นไปอีก
  • Oliver Burkeman ผู้เขียนหนังสือ Four Thousand Weeks เคยเขียนบทความชื่อ “Treat your to-read pile like a river, not a bucket” – ให้มองว่าหนังสือคือแม่น้ำที่เราเลือกจะตักน้ำขึ้นมาดื่มเมื่อไหร่ก็ได้ อย่าไปมองว่ามันคือถังน้ำที่เราต้องคอยเทน้ำออกให้หมด
  • เมื่อเราไม่ได้มองการอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่ “ต้องทำ” แบบเดียวกับที่เรามอง to do list แต่เป็นเพียงทางเลือกในการใช้เวลาและพักผ่อนหย่อนใจ ความรู้สึกผิดต่อกองดองก็จะมีน้อยลง
  • วิธีที่จะอ่านหนังสือได้มากขึ้นคือการไม่เอามือถือเข้าห้องน้ำ
  • เวลาอ่านหนังสือผมจะมีไฮไลท์หลักๆ อยู่สามแบบ หนึ่งคือไฮไลท์ปกติ สองคือไฮไลท์ประเด็นสำคัญของหนังสือ และสามคือไฮไลท์ว่าเรื่องนี้เอาไปเขียนบล็อกได้
  • ไฮไลท์ปกติผมจะใช้ดินสอขีดเส้นแนวดิ่งด้านข้างของย่อหน้าหรือประโยคนั้นๆ ไฮไลท์ประเด็นสำคัญของหนังสือจะใช้เครื่องหมาย + (ตอนแรกใช้ * แต่เครื่องหมาย + ออกแรงขีดน้อยกว่า) ส่วนไฮไลท์เรื่องที่เอาไปเขียนบล็อกได้ก็จะใช้ตัว B
  • หน้าแรกด้านในมักจะมีพื้นที่ว่าง ผมจะทำ Index เอาไว้ว่าผมใส่ + ไว้หน้าไหนและใส่ B ไว้หน้าไหนบ้าง เวลาจะกลับมาทวนก็สามารถเจาะดูหน้าเหล่านั้นได้เลย
  • บางทีผมก็ใส่เครื่องหมายอื่นเอาไว้ด้วย เช่น T (Typo สะกดผิด), A (Action สิ่งที่เราควรเอาไปลงมือทำจริง)
  • ผมยังไม่เคยใช้ Kindle สำหรับการอ่านหนังสือ น้องที่ออฟฟิศบอกว่าจะเอามาให้ผมดูหลายครั้งแล้วแต่ก็คลาดกันทุกที ถ้าใครอ่าน Kindle อยู่แล้วรบกวนแนะด้วยครับว่าเราสามารถไฮไลท์ได้หลากหลายอย่างที่ผมเขียนข้างบนได้รึเปล่า (ผมลองเสิร์ชดูคร่าวๆ เหมือนจะไฮไลท์ด้วยสีต่างกันได้)
  • หนังสือเป็นเล่มมีข้อดีคือกรีดเล่มดูได้ง่าย แถมหนังสือมันสวยด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว ถ้าใครเคยไปเดิน Open House ชั้นบนสุดของ Central Embassy จะเข้าใจดีว่าหนังสือคืออุปกรณ์ตกแต่งชั้นยอด
  • แต่ข้อเสียของหนังสือก็คือใช้พื้นที่และมีฝุ่นเยอะ ผมเองเป็นภูมิแพ้ไรฝุ่นเลยมีความสัมพันธ์แบบ love-hate relationship กับหนังสือเก่าๆ บนชั้นอยู่เหมือนกัน ถ้าจะหยิบมาอ่านบางทีก็ต้องใส่หน้ากากอนามัยด้วย
  • พอชั้นเริ่มเต็ม และเราเพิ่งไปเดินงานหนังสือมา หนังสือใหม่ก็จะเริ่มไปกินพื้นที่ส่วนอื่นๆ ในบ้าน ทำให้ห้องรกไม่ spark joy ซึ่งถ้าอ่าน Kindle เป็นหลักคงจะไม่เจอปัญหานี้
  • ผมเคยถามพี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมาว่าจัดการหนังสือยังไง พี่ภิญโญตอบว่าต้องมีการคัดออกทุกปี เพื่อที่จะได้มีพื้นที่ให้หนังสือใหม่ และไม่ยึดติดกับหนังสือที่เราไม่คิดจะอ่านอีกแล้ว ส่วนถ้าไม่อยากให้หนังสือมีฝุ่น ก็ควรเก็บอยู่ในตู้กระจกหรือไม่ก็เก็บไว้ในห้องที่ไม่เปิดหน้าต่าง
  • แอปสรุปหนังสือผมน่าจะใช้ครบทุกยี่ห้อ และเลิกใช้ไปแล้ว เหตุผลอยู่ในบทความชื่อ “เหตุผลที่ผมเลิกใช้บริการ Book Summaries
  • ผมเคยพยายามฟัง Audiobook ตอนขับรถไปทำงาน แต่ไม่ค่อยเข้าหัวเท่าไหร่ จะไฮไลท์ก็ทำไม่ได้ จะกลับมาทบทวนยิ่งลำบาก
  • สิ่งที่ผมมักจะฟังตอนขับรถคือสัมภาษณ์หรือปาฐกถาของนักเขียนที่ผมกำลังอ่านหนังสือของเขาอยู่ ยกตัวอย่างเช่นล่าสุดผมอ่านหนังสือ Skin in the Game ผมก็จะไล่ฟัง Podcast/Youtube ที่ Nassim Taleb พูดถึงหนังสือเล่มนี้เป็นสิบคลิป พอกลับไปอ่านหนังสืออีกครั้งก็จะกระจ่างกว่าเดิมมาก ผมทำเช่นเดียวกันนี้กับนักเขียนคนโปรดคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Yuval Noah Harari (Sapiens), Morgan Housel (The Psychology of Money) และ Oliver Burkeman (Four Thousand Weeks)

และนี่คือมุมมองการอ่านหนังสือของผมในปี 2023

ไว้อนาคตถ้ามีมุมมองเพิ่มเติมจะมาแชร์อีกนะครับ

พร 38 ประการจากหนังสือ อะไรทำให้ชีวิตเราดีขึ้นกว่าเมื่อวาน

1.เราไม่ควรกลัวความตาย แต่ควรกลัวการตายทั้งเป็นจากการปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่ทำอะไรเลย

2.ถ้าเราจดจำไว้เสมอว่าเราอาจตายเมื่อไรก็ได้ อะไรที่ทำได้ยากก็จะลงมือทำได้ง่ายขึ้น

3.ความมุ่งมั่นตั้งใจเพียงอย่างเดียวก็อาจยังล้มเหลวได้ ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง ต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจแบบมีปัญญาเป็นตัวนำทางด้วย

4.เมื่อไม่สามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้ เราจะเรียกร้องจากคนรอบข้างมากเกินไป

5.จงทิ้งความคิดที่ว่าจะจ่ายเงินเพื่อซื้อเวลา แต่จงใช้ชีวิตในแบบที่ต่อให้มีเงินมากมายแค่ไหนก็ซื้อชีวิตแบบนี้ไม่ได้

6.ความชอบใจของคนอื่น สุดท้ายก็จะจบสิ้น แต่ความชอบใจที่มีให้ตัวเองนั้นจะคงอยู่ตลอดไป

7.อย่ากลัวที่จะตั้งคำถาม อย่าลืมว่าสิ่งต่างๆ ที่เป็นเรื่องธรรมดาในตอนนี้มาจากคำถามไร้สาระในอดีต

8.ปรับมาตรฐานความพึงพอใจของตัวเองเสียใหม่ หากอยากลดน้ำหนักก็จงบอกตัวเองว่า “ฉันจะพึงพอใจที่สุดเวลาที่ตัวเองรู้สึกหิวเล็กน้อย”

9.ทุกครั้งที่รู้สึกอยากอาหารขึ้นมา ให้ถามตัวเองว่า “ทำไมฉันต้องกินจนรู้สึกไม่ดีกับตัวเองด้วยล่ะ ฉันกินเพื่อให้มีความสุขไม่ใช่เหรอ”

10.ความรู้ที่ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริงเป็นเพียงเครื่องประดับราคาแพงที่ขายไม่ออกเท่านั้น

11.การเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าหรือความสำเร็จ แต่มันคือการเพิ่มความเป็นไปได้ที่เราจะมีชีวิตในแบบที่เราต้องการ

12.ความพยายามของคนเราไม่ต่างกันมากนัก ผลสำเร็จจึงขึ้นอยู่กับว่าเราทำสิ่งนั้นบ่อยแค่ไหน และจดจ่อกับมันได้นานเพียงใด ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นไม่ได้ด้วยการจดจ่อและทำซ้ำหลายๆ ครั้ง

13.ในโลกนี้ไม่มีอะไรเล็กน้อย ทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ แล้วขยายใหญ่ขึ้นเสมอ เราจึงควรจัดการเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างระมัดระวัง เพราะมันทำให้เราดีขึ้นได้หรืออาจเหยียบเราให้จมดินก็ได้เช่นกัน

14.ความอิจฉาแสดงให้เห็นว่าตัวเองอยู่ในระดับต่ำ เราต้องหลีกเลี่ยงการมีชีวิตอยู่เพื่ออิจฉาคนอื่นไปเรื่อยๆ จนตาย

15.เมื่อไหร่ที่เราผิดหวังกับคนอื่นบ่อยๆ นั่นแสดงว่าเราไม่รู้วิธีมองคนที่ถูกต้อง

16.เวลาจะตัดสินใครให้มองตาของเขานานๆ เพราะดวงตาเป็นสิ่งที่บ่งบอกปัญญาของคนคนนั้นซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนได้ด้วยวิธีใดๆ บางคนมีรูปลักษณ์ภายนอกหรูหรา แต่ดวงตากลับไร้ชีวิตชีวาเหมือนคนกำลังจะตาย

17.จงหลีกให้ไกลคนโง่ จงหลีกให้ไกลคนที่ทำให้ใจเราเจ็บ โจรที่ร้ายที่สุดไม่ใช่โจรที่ขโมยเครื่องประดับราคาแพง แต่เป็น “คนโง่” ที่ขโมยเวลาจากเราไป

18.ความใส่ใจเป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เรื่องของมารยาท

19.หากอยากมีเวลาที่สวยงาม เพียงค้นหาสิ่งที่ทำได้ตอนนี้ก็พอ และถ้าอยากลดความเป็นไปได้ของเราให้เหลือศูนย์ เพียงค้นหาสิ่งที่ทำไม่ได้ตอนนี้แล้วแค่บ่นก็พอ

20.ยิ่งแผนการเรียบง่ายมากเท่าไร โอกาสสำเร็จยิ่งมีมากเท่านั้น

21.หากเรารักตัวเองและใส่ความรักนั้นลงไปในทุกการกระทำ แล้วผลลัพธ์จะออกมาแย่ได้อย่างไร

22.จงทำงานเพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพื่อองค์กร อย่าเป็นทาสของชีวิตที่ทนอยู่เพราะไม่มีที่ไป แต่จงเป็นจิตกรของชีวิตที่อยู่ต่อไปเพื่อสร้างคุณค่า แม้จะมีที่อื่นให้ไปเยอะแยะก็ตาม

23.การจัดการเวลาให้มีคุณภาพเริ่มต้นที่คำถามว่า “ต้องทำอย่างไรถึงจะทำได้” ไม่มีเทพผู้ยิ่งใหญ่องค์ใดร่วมมือกับคนที่คิดว่าตัวเองทำไม่ได้

24.ทำไมเราถึงใช้คำที่แย่ที่สุดกับตัวเองเสมอ แถมยังโรยเกลือลงบนแผลอีกต่างหาก

26.เราจะได้ในสิ่งที่ต้องการเมื่อภาษากับชีวิตของเราสอดคล้องกัน เพราะคนเราทำสิ่งต่างๆ ตามภาษาที่ฝังลึกอยู่ภายในโดยไม่รู้ตัว การค้นหาและควบคุมภาษาที่เราใช้จึงสำคัญมาก เพราะคำพูดคือโลกที่เราสร้างขึ้น และสุดท้ายเราจะมีชีวิตตามที่เราพูด

27.เคล็ดลับชนะใจคนคือการมอบความรักให้เขาราวกับคนรักตอนรักกันใหม่ๆ จงโอบกอดเขาอย่างอบอุ่นด้วยคำพูดของเรา

28.ถ้ายอมรับแต่สิ่งที่เหมือนเรา ความเจริญทางปัญญาจะไม่เกิดขึ้น ตลอดจนยากที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลง แม้ว่าเวลาจะผ่านไปเป็นร้อยปีก็ตาม

29.ถ้าฝันถึงการเปลี่ยนแปลงเราต้องไม่กลัวเรื่องการพ่ายแพ้ และต้องไม่หาเหตุผลอื่นมาทำให้ความล้มเหลวกลายเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

30.”ทำไมโลกไม่เข้าใจฉันเลย” หลายคนพูดแบบนี้ ทว่าโลกเองก็ลำบากใจเหมือนกัน คนมากมายยืนเรียงรายกันอยู่ เป็นการยากที่โลกจะแยกแยะว่าใครดีกว่าใคร เราต้องทำให้เกินกว่าที่โลกคาดไว้ โอกาสดีๆ จึงจะมาถึง

31.ถ้ามองสถานการณ์ไปในทางบวก เราจะค้นพบลู่วิ่งของตัวเอง

32.ความต่างระดับของมุมมองคือความต่างระดับของชีวิต

33.คนที่สร้างสรรค์ย่อมไม่รู้จักความเหนื่อยล้า คนที่ทำสิ่งที่ไม่ชอบไปเรื่อยๆ ย่อมไม่รู้จักความเพลิดเพลิน

34.รักษาหัวใจที่เป็นเด็กไว้ให้ได้นานๆ ดีกว่าเป็นผู้ใหญ่แบบที่โลกกำหนด

35.ถ้าเราเป็นหุ้น เราจะลงทุนกับตัวเองด้วยทรัพย์สินที่มีทั้งหมดหรือไม่?

36.คนจำนวนมากที่เรารู้จักไม่ใช่เส้นสายของเรา คนจำนวนน้อยที่รู้จักเราต่างหากคือเส้นสายที่จะช่วยเหลือเราได้จริงๆ

37.สิ่งที่เราขาดไปไม่ใช่โอกาส แต่เป็นการเตรียมพร้อมที่จะคว้ามันไว้

38.อย่าหลีกหนีความเจ็บปวดของตัวเอง จงเผชิญหน้าและครุ่นคิดอย่างจริงจัง จงทะเลาะกับตัวเองในอดีตและปัจจุบันจนกว่าชีวิตจะค่อยๆ ดีขึ้น


ขอบคุณพรจากหนังสือ อะไรทำให้ชีวิตเราดีกว่าเมื่อวาน คิมจองวอน เขียน อาสยา อภิชนางกูร แปล สำนักพิมพ์อมรินทร์ฮาวทู