เมื่อนักการเมืองร้องเพลงร็อคและแม่บ้านส่องกระจก

เมื่อตอนต้นสัปดาห์ ผมเห็นคลิปไวรัลที่น.ต.ศิธา ทิวารี ขึ้นเวทีร้องเพลงในผับ

แถมเพลงที่ร้องก็คือเพลง “คุกเข่า” ของวง Cocktail ที่แม้จะไม่ได้ใหม่มากนัก แต่ก็เป็นเพลงที่ถือว่ายัง “วัยรุ่น”

ณ วันที่เขียนบทความ คลิปร้องเพลงคุกเข่าถูกแชร์ใน TikTok 10,000 ครั้ง และในเฟซบุ๊คของคุณศิธาอีก 11,000 ครั้ง

ผมเดาว่าที่คลิปนี้เป็นที่ถูกใจเพราะเป็นภาพที่ไม่คุ้นตา ไม่คิดว่านักการเมืองรุ่นใหญ่จะมากินเหล้าร้องเพลงอยู่ในผับเดียวกับ “คนธรรมดา” อย่างพวกเราได้


เมื่อได้ดูคลิปนี้ มันทำให้ผมนึกถึงเรื่องหนึ่งเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ระหว่างที่ผมไปเดินเล่นรอบหมู่บ้านตอนเช้าตรู่

ผมเดินผ่านคลับหน้าเฮาส์ของหมู่บ้าน ที่ข้างในมีสระว่ายน้ำและห้องฟิตเนส

ตรงห้องฟิตเนส จะมีเครื่องเล่นเวท และมีกระจกทรงสูงอันหนึ่งติดอยู่ตรงกำแพงเพื่อให้คนที่มาเล่นเวทได้เห็นตัวเองว่าทำท่าถูกต้อง

จากระยะไกล ผมมองเห็นผู้หญิงคนหนึ่งยืนอยู่หน้ากระจก

ไม่ใช่คนที่มาออกกำลังกาย แต่เป็นแม่บ้านประจำคลับเฮาส์ อายุประมาณห้าสิบต้นๆ ผิวสีเข้ม ยืนส่องกระจกและหวีผมตัวเองอยู่อย่างพิถีพิถัน

เป็นภาพที่ผมไม่คุ้นตา เพราะทุกครั้งที่ผมเจอพี่แม่บ้านคนนี้ที่คลับเฮาส์ จะเป็นตอนที่เขากำลังถูพื้นอยู่เสมอ

การได้เห็นเขายืนส่องกระจก ทำให้ผมตระหนักได้ว่า ผู้หญิงย่อมรักสวยรักงาม ไม่ว่าเขาจะทำอาชีพอะไรก็ตาม


Wikipedia ได้อธิบายคำว่า “การเหมารวม” ไว้ดังนี้

“การเหมารวม[1] (อังกฤษ: Stereotype) คือ คตินิยมหรือทัศนคติของสังคมทั่วไปที่มีต่อกลุ่มคนอื่น ชาติอื่น หรือลักษณะของบุคคลบางประเภทจนกลายเป็นมาตรฐาน”

กับบางอาชีพ เรามีภาพจำค่อนข้างชัด เมื่อภาพมันชัดและเกิดขึ้นซ้ำๆ จึงเกิดการเหมารวมไปโดยปริยาย

แขกในร้านขึ้นเวทีร้องเพลงในผับเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราแปลกใจเพราะเขาเป็นนักการเมือง

ผู้หญิงยืนหวีผมหน้ากระจกเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผมแปลกใจเพราะว่าเขาเป็นแม่บ้าน

เมื่อเราเห็นภาพที่ขัดกับ stereotype จึงเกิดความรู้สึกประหลาดขึ้นในใจ ก่อนจะคิดได้ว่าเขาเองก็เป็นคนธรรมดา

การมองให้เห็นว่าคนอื่นเป็นคนธรรมดานั้นสำคัญมาก

เพราะด้วยกระแสการเมืองที่ร้อนแรง เศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วง และ social media ที่คอยขยายเสียงให้กับเรื่องที่เป็นดราม่า เรามีแนวโน้มที่จะมอง “อีกฝ่าย” แบบเหมารวม ว่าเป็นคนใช้ไม่ได้ เป็นคนประสงค์ร้าย เป็นคนไม่ฉลาด

การเหมารวมช่วยให้สมองเราไม่ต้องทำงานหนัก เพราะมันช่วย simplify คนกลุ่มหนึ่งให้อยู่ใน “กล่อง” ที่เรากำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน และช่วยให้เรารู้สึกดีกับตัวเองว่าฉลาดกว่าหรือคุณธรรมสูงกว่า

แต่การเหมารวมนั้นมีจุดอ่อนสำคัญ เพราะว่ามันจะทำให้เราหลงลืม “ความเป็นมนุษย์” ของคนคนนั้น

เมื่อเราหลงลืมความเป็นมนุษย์ในตัวคนอื่น เราก็จะหลงลืมความเป็นมนุษย์ในตัวเราเช่นกัน

วิจารณญาณย่อมถดถอย อคติย่อมยึดครอง มองแต่ไม่เห็น ฟังแต่ไม่ได้ยิน

หากเราสามารถมองคนให้เต็มคน เราจะเห็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ต่างจากเรา มนุษย์ที่มีหลายมิติเกินกว่าจะนิยามได้ด้วย “กล่อง” ใดๆ

เมื่อเรามองเห็นคนธรรมดา ภาพต่างๆ เหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่ควรประหลาดใจ

พลเอกไปรับหลานที่โรงเรียนอนุบาล คนเก็บขยะอ่านหนังสือ non-fiction

ดารานั่งจิบชาคุยกันเรื่องศาสนา อดีตศาลฏีกานั่งกินก๋วยเตี๋ยวริมทาง

คุณพ่อเลี้ยงลูกอยู่บ้าน คุณแม่ขึ้นกล่าวปาฐกถางานประชุมที่เมืองนอก

นักการเมืองร้องเพลงร็อค และแม่บ้านส่องกระจกครับ

ถ้อยคำที่ผ่านเข้ามาหลังวันเลือกตั้งปี 66

ถ้อยคำที่ผ่านเข้ามาหลังวันเลือกตั้งปี 66

ถ้อยคำแรก จาก Nassim Nicholas Taleb ในหนังสือ Skin in the Game ปี 2018

“You will never fully convince someone that he is wrong; only reality can.”

เราไม่อาจโน้มน้าวใครได้หรอกว่าเขาคิดผิด ต้องรอให้ความจริงพิสูจน์ตัวมันเอง


อีกหนึ่งถ้อยคำ มาจากคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เจ้าของ openbooks ที่เคยมาพูดให้ Wongnai WeShare เมื่อสิงหาคม 2019

[ถาม]: เวลาอ่านหนังสืออย่างปัญญาอนาคต อ่านบทสัมภาษณ์คุณภิญโญ หรือดูวีดีโอที่คุณภิญโญให้สัมภาษณ์ สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากๆ ก็คือคุณภิญโญดูจะโปรคนรุ่นใหม่ (pro – เข้าข้าง) คำถามก็คือทำไมต้องโปรคนรุ่นใหม่ด้วยครับ แล้วคนรุ่นเก่าอยู่ที่ไหนในสมการของอนาคต

[ตอบ]: ที่ต้องโปรคนรุ่นใหม่มากเพราะคนรุ่นเก่าโปรตัวเองกันเยอะไปแล้ว หลงใหลในความรุ่งเรืองในอดีตของตัวเองมากจนเกินไป คนรุ่นเก่ามีอำนาจอยู่ในมือเพราะว่าอยู่ที่นี่มานาน เมื่ออยู่มานานก็มีอำนาจเยอะ แล้วก็ไม่อยากสูญเสียอำนาจนั้นไป

อำนาจในการตัดสินใจบงการชีวิตลูกหลาน อำนาจในการตัดสินใจบงการชีวิตอนาคตธุรกิจ อำนาจในการตัดสินใจบงการอนาคตการเมือง อำนาจในการกำหนดนโยบายอนาคตของประเทศ

ซึ่งถ้าท่านผู้มีเกียรติเหล่านั้น รวมทั้งรุ่นผมหรือตัวผมด้วยทำได้ดี เราคงอยู่ในประเทศที่พัฒนาก้าวหน้ามีความสุขสะดวกสบายอิ่มหนำสำราญใกล้ๆ ยุคพระศรีอาริย์เข้าไปเต็มที จากเพชรบุรีตัดใหม่บ้านผมมาถึงสุขุมวิทคงไม่ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงอย่างนี้ เมื่อกี้ต้องลงจากรถเพื่อนั่งมอเตอร์ไซค์มา ระยะทางมันแค่ 2 กิโล นี่คือผลงานของคนรุ่นเก่าที่ทำเอาไว้หรือไม่ได้ทำเอาไว้

ฉะนั้นคนรุ่นผมถือเป็นคนรุ่นเก่า มีประโยชน์อะไรที่จะมาชมเชยตัวเอง ถ้าเราทำดีไว้ในอดีตที่ผ่านมา เราคงไม่ต้องส่งมอบสังคมที่ทำให้ลูกหลานต้องลำบากแบบนี้ ถ้าเราใช้เวลา 20 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ผมเริ่มทำงานหรือ 30 ปีที่ผ่านมาสำหรับคนรุ่นที่กำลังจะเกษียณ ทำงานอย่างเต็มที่มีประสิทธิภาพและทำในวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง เราจะส่งมอบสังคมที่น่าอยู่ ความขัดแย้งต่ำ แล้วทุกคนมองเห็นอนาคตร่วมกันได้ให้กับลูกหลาน ซึ่งก็คือทุกท่านที่นั่งอยู่ตรงนี้ แล้วลูกหลานจะไม่มีคำถามย้อนกลับมาที่เรา

ผมว่าคนรุ่นผมต้องทำความผิดพลาดอะไรบางอย่าง หรือไม่ได้ทำบางอย่างให้ดี มันจึงไม่ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น นั่นคือเหตุผลที่เราต้องละวางอดีต ละวางคนรุ่นเก่าไว้ เพราะว่ามีอำนาจ แต่ไม่สามารถสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะให้คนรุ่นใหม่อยู่อาศัยและเดินทางต่อไปสู่อนาคตได้

คำถามคือ แล้วถ้าผมอยู่ตรงกลาง ผมควรที่จะไปยึดอดีต แล้วโปรคนมีอำนาจล้นฟ้าอยู่แล้ว มีทรัพยากรล้นฟ้าอยู่แล้ว หรือผมควรจะหันหน้ากลับมาสนทนากับคนรุ่นใหม่แล้วบอกว่านี่คือปัญหาที่คนรุ่นผมสร้างมา หรือว่าไม่ได้สร้างมาแต่เราล้มเหลว เราทำไม่สำเร็จ

ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ผมขอฝากอนาคตไว้กับคนรุ่นใหม่ แล้วทำสิ่งที่มันดีขึ้นให้กับประเทศนี้ ไม่งั้นผมจะอยู่ในสังคมแบบนี้ต่อไปได้อย่างไร

คนรุ่นผมเหลือเวลาไม่มากในการมีชีวิตอยู่ ความหวังก็คือหวังว่าคนรุ่นใหม่จะสร้างสังคมที่ดีขึ้น กำลังเราเหลือน้อย ปัญญาเราเหลือน้อย เราจำเป็นต้องฝากชีวิตเราไว้อยู่ในมือคนรุ่นใหม่ทุกท่าน

เราต้องให้ปัญญา ให้กำลัง ให้ทรัพยากร และให้กำลังใจคนรุ่นใหม่ที่จะร่วมสร้างสังคมที่ดี เราจำเป็นต้องอยู่อาศัยในสังคมนี้ ถ้าคนรุ่นใหม่ทำไม่สำเร็จ เราจะไม่เหลือใครที่มีกำลังพอที่จะแบกรับอนาคตของประเทศชาตินี้ไว้ได้เลย…ซึ่งนี่จะเป็นเรื่องที่น่าขมขื่นมาก…พูดแล้วน้ำตาจะไหลนึกออกไหมครับ…

…ไหลมาเอง ไม่ได้ตั้งใจ…ขออภัย…

นี่คืออารมณ์ของสังคมตอนนี้ ผมว่ามันเป็นอารมณ์ที่อัดอั้นอยู่ในหัวใจคนไทย ที่ผมพูดอย่างนี้น้ำตามันไหลออกมาเอง ไม่ได้ตั้งใจจะดราม่า แต่คำถามมันโดนใจ

ถ้าเราไม่ฝากความหวังกับคนรุ่นใหม่ ใครจะสร้างอนาคตให้ประเทศไทย ผมดีใจมากที่มีโอกาสได้มาพูดกับทุกท่านในวันนี้ ขอบพระคุณที่ให้เกียรติ อยากมาพูดกับคนรุ่นใหม่มากกว่าคนรุ่นเก่า อยากมาพูดกับ startup ที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวมากกว่าพูดกับบริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ต้องปรับตัวอะไรอีกแล้ว เพราะทุกท่านคือความหวังของคนรุ่นผม

ผมจึงพยายามกำลังสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ว่า ช่วยมีความมั่นใจและสร้างอนาคต เดินทางต่อไปเถอะ แม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก คนรุ่นผมฝ่าฟันกันมาเยอะ ทำสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง ล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ สำเร็จบ้างก็มี ผลงานไม่ได้มากมายนัก แต่ประเทศนี้จะเดินทางต่อไปสู่อนาคตท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ความยากลำบากขนาดนี้ได้ ไม่มีใครที่จะฟันฝ่าไปได้นอกจากคนรุ่นใหม่ที่จะร่วมมือร่วมใจกันเพื่อที่จะฟันฝ่าไปให้ได้

คนรุ่นใหม่คือบริษัทเหล่านี้ที่เกิดขึ้นมา คือวงในและอื่นๆ อีก 500 บริษัท นี่ผมใช้คำเปรียบเปรย ห้าร้อยไม่ได้หมายถึงตัวเลข 500 นะ ห้าร้อยมาจากทหารพระเจ้าตาก ทหารเสือที่ฟันฝ่าและสร้างธนบุรีให้ประเทศไทยเดินต่อไปได้

วันนี้เราต้องการ 500 ธุรกิจต้องการ 500 ชีวิตต้องการ 500 ผู้มีวิสัยทัศน์เพื่อที่จะสร้างอนาคตให้มันเดินต่อไปได้ ไม่งั้นเราจะอยู่อย่างไร เราจะส่งมอบอนาคตแบบไหนให้กับสังคมไทย คนรุ่นเก่าต้องเข้าใจว่าประเทศมันต้องสร้างด้วยคนรุ่นใหม่ หน้าที่ของคนรุ่นเก่าคือให้ทรัพยากร ให้เวลา ให้ปัญญา ให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่ที่จะสร้างอนาคตให้กับประเทศนี้ในทุกๆ ภาคส่วน เศรษฐกิจ สังคม การเงิน วัฒนธรรม ศิลปะ ต้องให้เขาสร้าง ต้องเปิดโอกาส อย่ากดสังคมนี้ไว้อีกต่อไป มันเดินต่อไปไม่ไหวแล้ว

อย่าใช้อำนาจเป็นตัวนำสังคม ให้ใช้ปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ ให้เขาได้มีโอกาสสร้างอนาคตให้กับประเทศในวันที่มันพอจะสร้างได้ เพราะในวันที่มันสร้างไม่ได้ เราเหลือกลยุทธ์เดียวคือเราต้องหนี อย่าให้คนรุ่นใหม่ อย่าให้เยาวชนต้องหนีจากประเทศนี้ไป

ให้ประเทศนี้เป็นดินแดนแห่งความหวัง ให้ประเทศนี้เป็นดินแดนแห่งอนาคต ไม่ใช่เป็นดินแดนที่ถูกอดีตกดทับ แล้วเราต้องอยู่กับความทรงจำกับความรุ่งเรืองในอดีตที่จางหายไปแล้วแต่คุณยังไม่ตระหนัก

นี่คือทำไมผมต้องคุยกับคนรุ่นใหม่ ผมจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในอนาคตที่คนรุ่นใหม่สร้าง ฉะนั้นไม่มีทางที่ผมจะปฏิเสธกำลัง ความคิด ความฝันของคนรุ่นใหม่ ผมมีหน้าที่ต้องให้เวลา พลังงาน ปัญญากับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เขาทำหน้าที่อย่างดีที่สุด เพื่อให้พวกคุณทุกท่านทำหน้าที่อย่างดีที่สุด แล้วผมจำเป็นต้องฝากชีวิตน้อยๆ ของผมอยู่ในสังคมที่สร้างโดยคนรุ่นใหม่ นี่คือเหตุผลว่าทำไมต้องสื่อสารกับคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจนที่สุด แล้วจำเป็นต้องเปิดโอกาสทางสังคม ต้องทำให้สังคมตระหนักรู้ได้ว่า เราคนรุ่นเก่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ในทุกมิติได้แล้ว หยุดการครอบงำสังคมด้วยอคติและความทรงจำเดิมๆ และความสำเร็จในอดีตของเราเสียที

(เสียงปรบมือยาวนาน)

[ถาม]: คราวนี้จะทำยังไงดี ในเมื่อคนรุ่นเก่าเขาไม่เห็นความจำเป็นต้องหลีกทาง ต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนตัวเล็กๆ 500 คน

[ตอบ]: เรื่องแบบนี้ตอบง่ายที่สุดและสั้นที่สุด ท่านท่องไว้หนึ่งคำ 3 ครั้ง disruption, disruption, disruption

สวดมนต์ไว้ disruption, disruption, disruption

คุณไม่มีทางไปร้องขออำนาจหรือความเปลี่ยนแปลงจากคนที่หวงอำนาจและไม่อยากเปลี่ยนแปลง คุณขอสิ่งที่เขาไม่อยากให้มากที่สุดได้อย่างไร สิ่งที่คนรุ่นเก่าหวงมากที่สุดก็คืออำนาจ สิ่งที่คนรุ่นเก่ากลัวมากที่สุดคือความเปลี่ยนแปลง คืออยากจะรักษาอำนาจและไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพราะการเปลี่ยนแปลงคือการสูญเสียอำนาจในทุกๆ มิติ

ฉะนั้นสิ่งเดียวที่คุณจะทำได้คือการ disruption สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจากจุดเล็กๆ โดยไม่ต้องร้องขออำนาจ เมื่อคุณ disruption ไปทีละจุด ทีละจุด ทีละจุด 500 จุดหรือมากกว่าไปเรื่อยๆ สังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นเอง โดยที่คนรุ่นเก่าก็ได้แต่มองตาปริบๆ แล้วค่อยๆ ถอยออกจากบทบาทที่ตัวเองยืนอยู่

คลื่นลูกใหม่ย่อมเข้ามาแทนที่คลื่นลูกเก่า คลื่นลูกใหม่ไม่เคยขอร้องให้คลื่นลูกเก่าหลีกทางให้ แต่คลื่นลูกใหม่สร้างตัวเองเข้าสู่ชายหาดเรื่อยๆ เราเป็นต้นไม้เล็กๆ ต้องหาทางที่จะหลบร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ เพื่อเตรียมตัวเข้าไปหาแสงแล้วเติบโตขึ้นมา แม้ว่ามันจะบิดงอไปตามทิศทางของแสง แต่ในเมื่อมันเติบใหญ่ขึ้นมาได้ แม้ว่าจะบิดงอ ยากที่จะเหยียดยืนหยัดตรงเป็นต้นไม้เหมือนรุ่นเก่า แต่มันก็จะเติบโตขึ้นมาได้แล้วกลายเป็นป่าแห่งใหม่

อย่าร้องขอ อย่ากลัวที่จะเปลี่ยนแปลง แต่จงเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองอยากเป็นด้วยตัวของคุณเอง แล้วใช้พลังของการ disruption สร้างมันขึ้นมาทุกจุดในสังคม แล้วสังคมจะเปลี่ยน อยากทำงานธุรกิจสร้างธุรกิจ อยากทำงานวัฒนธรรมสร้างวัฒนธรรมใหม่ อยากทำงานสังคมสร้างสังคม อยากทำงานการเมืองสร้างการเมือง อยากเขียนหนังสือเขียนหนังสือ อยากทำอะไรทำ ใช้พลังแห่งความเชื่อมั่น disrupt มันไปทีละส่วน แล้วสังคมจะเปลี่ยนแปลงจากความเปลี่ยนแปลงมวลรวมของปัจเจกชนขึ้นมาได้

ยากที่เราจะหา platform และฉันทามติร่วมกันในเวลานี้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งหมด รอไปถึงชาติหนึ่งก็อาจจะไม่เปลี่ยน แต่ง่ายกว่าที่ปัจเจกชนจะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างแล้วเปลี่ยนแปลงทีละจุด เปลี่ยนแปลงตัวเองแล้วจึงเปลี่ยนแปลงผู้อื่น เปลี่ยนแปลงธุรกิจแล้วก็เปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงสังคมแล้วค่อยไปเปลี่ยนแปลงโลก อย่าคิดเปลี่ยนแปลงโลกแล้วย้อนกลับมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง

ฉะนั้นง่ายสุดคือลงมือทำในสิ่งที่เราเชื่อมั่น อย่าสูญเสียความเชื่อมั่นที่มีต่อตนเอง อย่าสูญเสียศรัทธาที่มีต่อตนเอง อย่าหมดหวังกับตนเอง อย่าหมดหวังกับประเทศ ถ้ามีความหวังกับตัวเอง มีความหวังกับสังคม เราจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตนเอง เปลี่ยนแปลงสังคมแล้วเปลี่ยนแปลงประเทศได้ เราไม่มีโอกาสหมดหวังกับประเทศนี้ เราไม่มีโอกาสหมดหวังกับสังคม เพราะเราจะไม่มีประเทศและไม่มีสังคมให้เราเดินต่อไปได้

คนรุ่นผมอาจจะต้องขออภัยที่ไม่สามารถส่งมอบสังคมในอุดมคติให้กับคนรุ่นใหม่ได้ แต่ผมหวังว่าคนรุ่นคุณจะสามารถแผ้วถางทางสร้างธุรกิจ สร้างสังคมวัฒนธรรมใหม่ที่ดีกว่าเพื่อสร้างสังคมให้คนรุ่นลูกหลานของคุณใน 20 ปีข้างหน้า แล้วคุณคือคนที่จะมานั่งคุยอยู่ตรงนี้ในอนาคต แล้วบอกกับคนรุ่นหลังว่า เราได้พยายามเต็มที่แล้ว”

เหตุผลที่บริษัทไม่ควรบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศทุกวัน

  • ตอนนี้ชีวิตเริ่มกลับมาเป็นปกติแล้ว บางคนเลิกใส่หน้ากากในที่สาธารณะ และบางบริษัทก็เริ่มออกนโยบายให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศ
  • หัวหน้าผมเคยตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทที่บังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศ มักจะมี CEO ที่ค่อนข้างมีอายุหน่อย เป็นคนรุ่น Baby boomers / Gen X ไม่น้อย
  • บริษัทที่ผมอยู่ยังไม่ได้มีนโยบายบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศ ให้เป็นสิทธิ์ของแต่ละทีมว่าอยากจะเข้ามาเจอกันบ่อยแค่ไหน
  • รู้มั้ยครับว่าทำไมเราต้องพักเที่ยงกันตอน 12.00? – เรื่องนี้มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่พนักงานเกือบทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสายพานการผลิต จึงต้องเข้างานเวลาเดียวกัน พักเวลาเดียวกัน เลิกงานเวลาเดียวกัน เพื่อจะได้เปิดและปิดเครื่องจักรตามเวลาได้
  • การพักเที่ยงจึงเป็นมรดกตกทอดนับร้อยปี มาเดี๋ยวนี้พนักงานกินเงินเดือนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในโรงงาน แต่ทำงานออฟฟิศ จึงไม่มีความจำเป็นอันใดที่ต้องพักเที่ยงตอนเที่ยงตรง หรือเริ่มงานตอนแปดโมงพร้อมๆ กันหมด
  • การเข้าออฟฟิศก็เป็นมรดกตกทอดนับร้อยปีเหมือนกัน เพราะแต่ก่อนจะทำงานได้ เราต้องอยู่ที่ออฟฟิศเท่านั้น เพราะเครื่องพิมพ์ดีดก็อยู่ที่ออฟฟิศ ห้องประชุมก็อยู่ที่ออฟฟิศ จดหมายเวียนหรือเซ็นเอกสารก็ต้องทำกันที่ออฟฟิศ
  • Yuval Noah Harrari ผู้เขียน Sapiens เคยกล่าวไว้ว่า “เราไม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อจะทำนายอนาคต เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อจะเป็นอิสระจากมัน” เมื่อเรารู้ที่มาที่ไปของ status quo เราก็ไม่จำเป็นต้องถูกกักขังจากอดีตอีกต่อไป
  • เคยมีนิทานคลาสสิคเรื่องหนึ่งที่ผมเคยนำมาเล่าไว้ในบล็อกนี้ ชื่อว่านิทานหมูแฮม

วันหนึ่งเด็กสาวมองดูแม่กำลังเตรียมหมูแฮมสำหรับทำอาหาร

“แม่คะ ทำไมแม่ต้องหั่นด้านข้างๆ ของหมูแฮมออกด้วยล่ะคะ?”

“เพราะว่าแม่ของแม่ทำอย่างนั้นมาตลอดน่ะสิ”

“แต่ทำไมต้องทำอย่างนั้นด้วยล่ะคะ?”

“แม่ก็ไม่รู้เหมือนกัน เราไปถามคุณยายกันดูดีกว่า”

ลูกและแม่จึงไปหาคุณยาย

“คุณยายคะ ตอนคุณยายเตรียมอาหาร ทำไมคุณยายต้องหั่นด้านข้างๆ ของหมูแฮมออกด้วยล่ะคะ?”

“เพราะว่าแม่ของยายทำอย่างนั้นน่ะสิ”

“แต่ทำไมต้องหั่นด้วยล่ะคะ”

“ยายก็ไม่รู้เหมือนกัน ลองไปถามยายทวดกันดีกว่า”

ลูก แม่ และยายเลยไปหายายทวด

“ยายทวดคะ ตอนยายทวดเตรียมอาหาร ทำไมยายทวดต้องหั่นด้านข้างๆ ของหมูแฮมออกด้วยล่ะคะ?”

“อ๋อ สมัยนั้นถาดที่ยายทวดมีมันเล็กไปน่ะ”

  • การเข้าออฟฟิศก็เหมือนกับการหั่นหมูแฮมที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยยายทวดโดยไม่เคยหยุดตั้งคำถามว่ามันยังจำเป็นต้องหั่นอยู่มั้ย
  • แน่นอนว่าการเข้าออฟฟิศนั้นมีประโยชน์ เพราะสร้างความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ง่ายกว่า คนที่เพิ่งมาเริ่มงานใหม่ๆ จึงควรเข้าออฟฟิศทุกวัน และเพื่อนร่วมงานที่อยู่มาก่อนก็ควรเข้าไปเจอหน้าเด็กใหม่ด้วยเช่นกัน
  • อีกประโยชน์หนึ่งของการเข้าออฟฟิศก็คือ เรื่องบางเรื่องมันสอนด้วยคำพูดไม่ได้ เป็นสิ่งที่ “พี่ด้วง” ดวงฤทธิ์ บุนนาค เรียกว่า silent knowledge เพราะเวลาเราเรียนรู้จากคนเก่งๆ หลายครั้งเขาไม่ได้เอ่ยปากด้วยซ้ำ แต่เราเรียนรู้ได้เองจากการสังเกตสีหน้า ท่าทาง การควบคุมอารมณ์ ความตั้งใจ ความเข้มข้นในการทำงาน เราจึงควรมีเวลา face to face กับคนเก๋าๆ ที่เขาสอนเราด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
  • ตอนอยู่ที่ทำงานเก่า เคยมีหัวหน้าบางคนห้ามไม่ให้ลูกน้องเข้าเฟซบุ๊คเวลางาน ส่วนหัวหน้าผมไม่ห้าม เขาบอกผมว่า “คนจะอู้ ยังไงมันก็หาทางอู้ได้อยู่แล้ว”
  • ฉันใดฉันนั้น การบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศก็ไม่ได้แปลว่าจะได้งานมากกว่าเดิม คนที่ตั้งใจทำงานจะอยู่ที่ไหนก็ตั้งใจทำงาน คนขี้เกียจจะอยู่บ้านหรือที่ทำงานก็ยังขี้เกียจ แต่พวกนี้เป็นคนส่วนน้อย เราไม่ควรเขียนกฎขึ้นมากำกับคนส่วนน้อยที่ทำให้คนส่วนใหญ่ลำบากไปด้วย
  • ในทศวรรษ 1960’s Douglas McGregor ได้พูดถึง Theory X / Theory Y. ถ้าคุณเชื่อใน Theory X คุณจะรู้สึกว่ามนุษย์นั้นขี้เกียจ ต้องใช้รางวัลหรือการทำโทษเท่านั้นคนถึงจะยอมทำงาน ถ้าเราไม่คอยสำรวจตรวจสอบ เขาก็จะเอาเปรียบเราทันที
  • แต่ถ้าคุณเชื่อใน Theory Y คุณจะเชื่อว่ามนุษย์นั้นมีศักดิ์ศรี อยากทำอะไรให้ตัวเองภาคภูมิใจ ดังนั้นเขาจึงเป็นคนมีความรับผิดชอบและอยากทำให้งานออกมาดี แม้จะไม่มีใครมาคอยเฝ้าดูอยู่ก็ตาม
  • ผู้บริหารที่บังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศ และห้ามไม่ให้พนักงานเล่น Facebook อาจเป็นเพราะเขาเชื่อใน Theory X ซึ่งเมื่อคุณ treat คนแบบไหน ก็จะได้แรงสะท้อนในแบบเดียวกัน
  • กรุงเทพไม่ใช่เมืองที่เหมาะแก่การเดินทางเข้าเมืองทุกวัน คนที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงานไม่ได้มีบ้านอยู่ในเมือง เมื่อต้องหมดพลังก้อนใหญ่ไปกับการเดินทาง ความ productive ย่อมลดลง
  • อีกหนึ่งเคล็ดลับที่สำคัญที่สุดของความ productive คือการได้นอนหลับมาอย่างเพียงพอ เมื่อเรานอนมาพอ เราจะอารมณ์ดีและเห็นทุกปัญหาเป็นเรื่องที่รับมือได้ แต่ถ้าเรานอนมาไม่พอ เจออะไรนิดหน่อยเราก็ถอยหรืองอแงแล้ว
  • หากต้องตื่นแต่เช้าเพื่อหนีรถติดมาเข้าออฟฟิศให้ทันเวลา นั่นยอมหมายความว่าเราจะนอนมาไม่พอ ซึ่งประสิทธิภาพการทำงานย่อมลดลงไปอย่างฮวบฮาบ
  • การให้พนักงานได้ทำงานที่บ้าน หรือเข้าออฟฟิศแบบ flexible นั้นมีความหมายต่อคนเป็นพ่อเป็นแม่มาก เพราะจะไปรับส่งลูกได้ทุกวัน ลูกที่มีพ่อแม่ WFH ได้ก็น่าจะรู้สึกอบอุ่นกว่าลูกที่วันๆ แทบไม่ได้เจอหน้าพ่อแม่เพราะออกจากบ้านแต่เช้าและกลับถึงบ้านดึกดื่น การบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศจึงเป็นการบ่อนเซาะสถาบันครอบครัวได้เช่นกัน
  • การได้ใช้เวลากับคนในครอบครัวคือการชาร์จแบตอย่างหนึ่ง เมื่อสบายใจเรื่องที่บ้าน ย่อมมีสมาธิในการทำงาน เมื่อทำงานได้ดี เรื่องที่บ้านก็ดีตามเช่นกัน
  • อยากมีสมาธิให้ทำงานที่บ้าน อยากมีความคิดสร้างสรรค์ให้เข้าออฟฟิศ งานที่เราทำก็ต้องการทั้งสองแบบ
  • ส่วนความคิดที่ว่าถ้าพนักงานไม่ได้เข้าออฟฟิศจะไม่สนิทกัน ก็อาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป น้องใหม่ๆ ในทีมผมอาจจะเข้าออฟฟิศแค่สัปดาห์ละ 1 หรือ 2 วัน แต่ก็เห็นไปกินไปเที่ยวด้วยกันตลอด ที่รู้เพราะเขาลงใน IG Story

(- สำหรับพี่ๆ ที่ยังเล่นแต่ Facebook อยู่ หัดเล่น IG บ้างก็ดีเพราะเด็กรุ่นใหม่เค้าไม่ค่อยโพสต์อะไรลงเฟซแล้ว)

  • มีน้องหลายคนที่ต้องเข้าออฟฟิศก่อนเวลานั้นเวลานี้ หลายครั้งก็โพสต์ IG Story เป็นภาพรถติดยาวเหยียด
  • วันไหนที่ผมจะเข้าออฟฟิศ ผมจะทำงานที่บ้านช่วง 9-11 โมง จากนั้นก็เข้าออฟฟิศไปกินข้าวเที่ยงกับทีม และออกจากออฟฟิศก่อนห้าโมง กลับมามีเวลาสอนการบ้านลูก พอตอนเย็นๆ ค่ำๆ ก็ค่อยทำงานต่ออีกนิดหน่อย
  • สังคมยุคนี้มีความลื่นไหลทางเพศฉันใด มนุษย์เงินเดือนก็ควรมีความลื่นไหลในการเป็นคนทำงานฉันนั้น คุณค่าของคนวัดกันที่ผลของงาน ไม่ใช่เวลาเริ่ม/เลิกงาน จำนวนชั่วโมงทำงาน หรือจำนวนวันที่อยู่ในออฟฟิศ (แต่ก็ไม่ได้แปลว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญ)
  • หากบริษัทยอมให้คนเข้าออฟฟิศแค่สัปดาห์ละ 1-2 วันได้ กรุงเทพจะไม่ได้น่าอยู่แค่ช่วงสงกรานต์กับปีใหม่อีกต่อไป
  • แน่นอนว่างานบางอย่างก็ทำที่บ้านไม่ได้ และงานบางอย่างเจอหน้ากันก็ดีกว่า นี่จึงไม่ใช่การหลับหูหลับตาจะทำงานที่บ้านท่าเดียว แต่คือการพิจารณาให้ดีว่าเราจะดำเนินนโยบายอย่างไรต่อไปเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจมากที่สุด – ซึ่งการทำให้คนทำงานมีความสุขและ productive ย่อมสร้างประโยชน์ให้ธุรกิจได้แน่นอน