ความฝันของหัวหน้าคือการมีลูกทีมที่เขาพึ่งพาได้

ความฝันของหัวหน้าคือการมีลูกทีมที่เขาพึ่งพาได้

เคยมีคนสัมภาษณ์ “พี่อ้น” วรรณิภา ภักดีบุตร CEO ของโอสภสภา ว่า Leadership คืออะไร

พี่อ้นตอบว่ามันคือการ “Getting things done through others and with others.”

คนที่ทำงานเสร็จได้ด้วยตัวคนเดียว เราจะเรียกว่า “IC” หรือ Individual Contributor

แต่เมื่อได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้าแล้ว เราไม่อาจจบงานได้ด้วยตัวคนเดียว เราต้องพึ่งคนอื่นเพื่อให้งานทั้งหลายสำเร็จลุล่วง

หนึ่งในความทุกข์ใจที่สุดของหัวหน้า ก็คือเมื่อเรามอบหมายงานไปแล้วเราไม่รู้ว่ามันจะออกมาอย่างที่เราหวังไว้รึเปล่า

  • ลูกน้องเห็นข้อความของเรารึยัง
  • ถ้าเห็นแล้ว ได้อ่านละเอียดรึเปล่า
  • ถ้าอ่านแล้ว เข้าใจอย่างที่เราอยากให้เขาเข้าใจรึเปล่า
  • เขาให้ความสำคัญกับงานนี้เท่ากับเรามั้ย
  • เขาเริ่มทำงานที่เรามอบหมายแล้วหรือยัง หรือว่าลืมไปแล้ว
  • เขาติดปัญหาตรงไหนรึเปล่า และถ้าติดเขาจะกล้ามาถามเรามั้ย
  • งานที่ผลิตออกมาจะตอบโจทย์และตรงใจเรารึเปล่า

นี่คือความกังวลที่หัวหน้าทุกคนมี เป็นเหมือน infinite loops ที่วนอยู่ในหัว ยิ่งสั่งงานเยอะ loops ก็ยิ่งเยอะ ผมจึงเคยเขียนเอาไว้ว่าลูกน้องที่ดีต้องช่วย close the loop ให้หัวหน้า

เพราะถ้าหัวหน้าสั่งงานแล้วลูกน้องหายไปเลย หรือเคยส่งงานมาแล้วต้องแก้เยอะมาก ลูกน้องแบบนี้จะทำให้หัวหน้ากังวลได้ไม่มีที่สิ้นสุด

ในมุมกลับกัน ลูกน้องที่หัวหน้าโปรดปราน คือลูกน้องที่สั่งงานไปแล้วหัวหน้าแน่ใจว่าจะได้งานออกมาดีแน่นอน

ในฐานะหัวหน้าคนหนึ่ง สิ่งที่จะประเมินได้ว่าเราสร้างทีมได้ดีพอหรือยัง ก็คือการดูว่าเรามีลูกทีมที่พึ่งพาได้มากน้อยเพียงใด

ถ้ายังมีลูกทีมที่พึ่งพาไม่ค่อยได้อยู่หลายคน หัวหน้าก็จะเหนื่อย ก็จะกังวล ก็ยังต้องลงไปทำงานเองอยู่บ่อยๆ

แต่ถ้าทั้งทีมเต็มไปด้วยคนที่พึ่งพาได้ ชีวิตของหัวหน้าจะดีมาก เพราะเขาจะได้เอาเวลาไปทำในสิ่งที่มีคุณค่าสูงขึ้น เช่นการคิดเป้าหมายและ strategy ให้กับทีม รวมถึงเรื่องการแก้ไขเรื่องพื้นฐานเพื่อให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ใครที่รู้ตัวว่าเราเป็นคนที่พึ่งพาได้ ขอให้รู้ไว้ว่าหัวหน้ากำลังรู้สึกขอบคุณเราอยู่ – แม้จะไม่ได้บอกเราตรงๆ ก็ตาม

เพราะความฝันของหัวหน้าคือการมีลูกทีมที่เขาพึ่งพาได้ครับ

สะสมความล้มเหลว

มีใครคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า อัตราส่วนระหว่างความล้มเหลวกับความสำเร็จนั้นมักจะคงที่ไปตลอด ดังนั้นวิธีเพิ่มความสำเร็จคือเราต้องเพิ่มความล้มเหลว

แม้จะไม่ใช่หลักการที่เพอร์เฟ็กต์ แต่ผมก็คิดว่าเป็นแนวคิดที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะกับคนที่กล้าๆ กลัวๆ ไม่กล้าพาเรือออกจากฝั่ง

ผมอยู่ที่ทำงานแรกของผมเกือบ 14 ปี ที่อยู่ได้นานขนาดนี้เพราะมีอะไรให้เรียนรู้ และมีโอกาสได้เปลี่ยนสายงาน โดยผมเปลี่ยนสายงานสองครั้ง จาก software development ไปสู่ technical support ก่อนกระโดดไปสู่งานสื่อสารองค์กร

ที่บริษัทแรกของผมนี้จะมีประกาศ internal job opportunities อยู่ตลอด ผมเห็นตำแหน่งไหนน่าสนใจก็มักจะลองสมัครดู และหลังจากได้สัมภาษณ์ตำแหน่งภายในมาไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ผมก็ได้สูตรของตัวเองว่า “สัมภาษณ์ 3 ครั้ง ได้งาน 1 ครั้ง”

ดังนั้นหากมีตำแหน่งที่ผมอยากทำ แม้ว่าจะยังไม่พร้อมหรือไม่มี background ผมก็จะลองสมัครดูก่อน ถึงสัมภาษณ์ไม่ผ่านอย่างน้อยเราจะได้รู้ว่าเขาถามอะไรบ้าง อนาคตหากมีตำแหน่งนี้เปิดอีกครั้งเราก็จะพร้อมกว่าคนอื่นๆ

หรือถ้าแย่กว่านั้นคือเขาไม่เรียกเราสัมภาษณ์เราเลยก็ไม่เป็นไร – เป็นเรื่องปกติที่จะโดนคนอื่นปฏิเสธ แต่เราไม่ควรชิงปฏิเสธตัวเองตั้งแต่อยู่ในมุ้ง

มองทุกอย่างเป็นการเรียนรู้และการทดลอง ถ้าสำเร็จก็ดีใจ ถ้าไม่สำเร็จก็ถือเป็นการสะสมความล้มเหลว

เมื่อสะสมความล้มเหลวได้ครบตามจำนวนที่(ฟ้า)กำหนด ความสำเร็จย่อมตามมาครับ

การมอบหมายงานคือด่านแรกของการเป็นหัวหน้า

สิ่งหนึ่งที่หัวหน้ามือใหม่ – หรือแม้กระทั่งมือเก่าบางคน – ต้องเรียนรู้และออกแรงเยอะเป็นพิเศษ คือการมอบหมายงานให้ลูกทีม

การมอบหมายงานนั้นทำได้ยากด้วยเหตุผลหลายประการ

หนึ่ง การมอบหมายงาน การสอนน้อง การตามงาน และการให้ฟีดแบ็ค เป็นสิ่งที่หัวหน้ามือใหม่ยังทำได้ไม่ดี จิตใต้สำนึกเลยพยายามหลีกเลี่ยง

สอง การทำงานบางชิ้นด้วยตัวเอง นอกจากเสร็จเร็วกว่าแล้วยังช่วยสร้างความรู้สึกว่า “ทำอะไรสำเร็จ” (fulfilled) อีกด้วย ซึ่งเป็นความรู้สึกที่จะไม่ได้รับหากหัวหน้ามอบหมายงานชิ้นนั้นให้คนอื่นทำ

สาม หัวหน้ายังไม่ไว้ใจลูกทีมมากพอว่าจะทำงานออกมาได้ดีและตรงตามเวลา ยิ่งถ้าน้องไม่มาอัพเดตสถานการณ์ (close the loop) ก็ยิ่งกังวล สู้เก็บไว้ทำเองดีกว่า

สี่ หัวหน้าหลายคนมักเกรงใจลูกทีม รู้สึกว่าน้องงานเยอะแล้ว เลยถืองานเอาไว้เอง

ห้า หัวหน้าบางคนกลัวน้องเก่งกว่า/เด่นกว่า แล้วตัวเองจะกลายเป็นคนที่ไม่จำเป็นต่อทีมอีกต่อไป

แค่ห้าข้อนี้ ก็มากเพียงพอที่จะทำให้หัวหน้ากลายเป็นคน “อมงาน” จนกระทั่งกลายร่างเป็น “รองประธานฝ่ายคอขวด” ไปในที่สุด

ส่วนทางออกนั้นก็แก้เป็นข้อๆ ได้ดังนี้

หนึ่ง การเป็นหัวหน้าคือการ scale your impact ดังนั้นการมอบหมายงานจึงเป็นสิ่งที่ยังไงเราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ จงศึกษาศาสตร์การมอบหมายและการตามงานทาง YouTube

สอง หาคุณค่าใหม่ของตัวเองให้เจอ – แต่ก่อนคุณค่าหรือความรู้สึก fulfilled คือการทำงานของเราให้สำเร็จ แต่คุณค่าใหม่ของการเป็นหัวหน้าคือการให้ทีมทำงานสำเร็จและการได้เห็นลูกทีมเติบโตขึ้นทั้งในทางความคิดและฝีมือ

สาม ถ้ายังไม่กล้าไว้ใจมากนัก ให้มอบหมายงานง่ายๆ ที่เขาทำได้แน่ๆ ก่อน และถ้าเราเป็นคนขี้กังวล ก็ขอให้น้องอัพเดตสถานการณ์ให้เราฟังเรื่อยๆ

สี่ อย่าคิดไปเองว่าน้องยุ่งเกินไป ลองให้คนในทีมพิมพ์มาก็ได้ว่าความยุ่งสัปดาห์นี้เต็มสิบให้กี่คะแนน บางคนอาจจะไม่ได้ยุ่งอย่างที่เราคิด และให้ระลึกเสมอว่าการให้งานน้องคือการให้โอกาสเขาได้แสดงฝีมือและเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยทำ

ห้า ท่องเอาไว้ว่า ยิ่งน้องเก่งเรายิ่งสบาย และถ้าทีมเก่งจนไม่ต้องมีเราก็ได้ เราก็มีโอกาสขยับขยายไปทำงานอื่นที่ท้าทายกว่านี้

การมอบหมายงานคือด่านแรกของการเป็นหัวหน้า

ถ้าผ่านด่านนี้ไม่ได้ ก็ยากที่จะเป็นหัวหน้าที่ดีครับ