เคล็ดลับการตัดสินใจอายุ 500 ปี

เราอาจเคยต้องตัดสินใจเรื่องใหญ่ เช่นจะเลือกซื้อรถรุ่นไหน หรือซื้อบ้านหลังไหน โดยเราอาจคัดกรองมาจนเหลือแค่ช้อยส์ A กับช้อยส์ B ซึ่งมีข้อดีข้อเสียหักลบแล้วใกล้เคียงกันมากจนเราเลือกไม่ถูก และเนื่องจากเป็นการตัดสินใจที่อาจส่งผลตามมามากมายเราจึงอยากเมคชัวร์ว่าเราจะตัดสินใจไม่ผิด

มีเคล็ดลับอย่างหนึ่งที่ถูกคิดค้นโดยนักบุญอิกนาเชียสแห่งโลโยลา (St. Ignatius of Loyola) อดีตทหารสเปนซึ่งหันหน้าเข้าสู่ศาสนาและเป็นผู้ก่อตั้งคณะเยซูอิต (Jesuit Order) เมื่อเดือนกันยายนปีค.ศ. 1540

วิธีการนั้นเรียบง่ายมาก โดยให้ทำราวกับว่าเราเลือกช้อยส์ A ไปเรียบร้อยแล้ว และใช้เวลา 3 วันต่อจากนั้นจดความคิด ความกังวล ความรู้สึกทุกอย่างลงไปในสมุด

เมื่อครบสามวัน คราวนี้ให้ทำเหมือนกับว่าเราเลือกช้อยส์ B ไปเรียบร้อยแล้ว และก็ทำอย่างเดียวกันคือจดความคิดทุกอย่างลงสมุด

จากนั้นก็นำสิ่งที่เราจดไว้มาอ่านทบทวน แล้วจึงตัดสินใจ


เทคนิคเก่าแก่ของนักบุญท่านนี้ จะว่าไปแล้วก็มีส่วนคล้ายคลึงกับอีกสองเทคนิคที่ผมเคยเขียนถึง

1.ก่อนตัดสินใจอะไรให้ sleep on it:

เมื่อมีเรื่องสำคัญให้ต้องตัดสินใจ อย่ารีบ อย่าให้คนขายมาหลอกกดดันเราด้วยเทคนิคต่างๆ แต่เราควรให้เวลาตัวเองได้กลับไปนอนคิดอย่างน้อยหนึ่งคืน (หรือมากกว่านั้น) เพราะในช่วงที่เรานอนหลับสมองจะทำการคัดกรองประเด็นที่ไม่สำคัญออกไป และจัดการข้อมูลที่สำคัญไปเก็บไว้ในอีกส่วนหนึ่งของสมองแทน เมื่อตื่นขึ้นมาเราก็จะมองเห็นอะไรชัดขึ้นว่ามันดีจริงรึเปล่า เราอยากได้จริงรึเปล่า

2.เมื่อเลือกไม่ถูกให้เสี่ยงเหรียญ:

ถ้าแฟนเลือกไม่ถูกว่าจะใส่ชุดสีฟ้าหรือชุดครีมไปงานแต่งงานคืนนี้ดี ให้เราหยิบเหรียญขึ้นมาแล้วบอกว่า เอางี้แล้วกัน ใช้วิธีโยนหัวก้อยเอา ถ้าออกหัวใส่สีฟ้า ถ้าออกก้อยใส่สีครีม

จากนั้นเราก็ดีดเหรียญขึ้นไป แล้วพอเหรียญตกลงบนโต๊ะก็เอามือปิดเอาไว้ไม่ให้เห็นว่าออกหัวหรือออกก้อย

จากนั้นเราก็ถามแฟนว่า “อยากให้ออกหัวหรือก้อย”?

ถ้าเขาตอบว่าอยากให้ออกหัวก็ใส่สีฟ้า แต่ถ้าเขาอยากให้ออกก้อย ก็ใส่สีครีม

แล้วเราก็เก็บเหรียญไปโดยไม่ต้องเปิดดูด้วยซ้ำว่าจริงๆ แล้วมันออกหัวหรือออกก้อย


การเสี่ยงเหรียญเป็นการบังคับให้เราได้ใช้สัญชาตญาณที่อาจจะรู้อยู่แล้วก็ได้ว่าส่วนลึกเราต้องการอะไร ส่วนการ sleep on it ก็เป็นการพึ่งพากลไกการนอนหลับที่ช่วยให้เราเหลือแต่ข้อมูลที่สำคัญจริงๆ

อีกอย่างหนึ่งที่เราต้องพึงระลึกไว้ก็คือ ถ้าเราคิดไม่ออกว่าจะเป็นช้อยส์ A หรือ B ดี แสดงว่ามันอาจจะดีพอๆ กันในระดับที่ว่าจะเลือกช้อยส์ไหนก็ไม่ต่างกันหรอก

แต่ถ้าคิดว่าเทคนิคทั้งสามที่กล่าวไปน่าจะมีประโยชน์ ก็ลองเอาไปปรับใช้ดูนะครับ