ปริศนาธรรมในภาพวาดของ Rembrandt

แรมบรันต์ ฟาน ไรน์ (Rembrandt Harmensz van Rijn) เป็นจิตกรชาวดัทช์ที่ได้รับการยกย่องในฐานะหนึ่งในศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

ภาพอย่าง Portraits of Maerten Soolmans and Oopjen ที่แรมบรันต์วาดไว้ในปี 1634 ถูกประมูลขายในราคาสูงถึง 180 ล้านเหรียญสหรัฐ

อีกภาพหนึ่งที่โด่งดังมาก คือภาพที่ชื่อว่า The Man with the Golden Helmet ที่ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Bode Museum ในเมืองเบอร์ลิน

มันเป็นภาพของชายวัยสูงอายุ มีหนวดเคราขาว สวมหมวกนักรบสีทองที่ประดับไปด้วยขนนก สายตามองต่ำเหมือนกำลังครุ่นคิดอะไรบางอย่าง

นี่คือภาพที่โด่งดังที่สุดในพิพิธภัณฑ์ ผู้คนแห่แหนเพื่อจะได้เข้ามาชมภาพนี้ ส่วนโปสต์การ์ด The Man with the Golden Helmet ก็ขายดิบขายดีเป็นอย่างยิ่ง

แต่หลังจากนักวิชาการได้ประกาศว่า จริงๆ แล้วศิลปินที่วาดภาพนี้ไม่ใช่แรมบรันต์ แต่เป็นศิลปินชาวดัทช์คนหนึ่งที่อยู่ในแวดวงของแรมบรันต์เท่านั้น ผู้คนที่เคยล้นหลามก็หายวับไปชั่วข้ามคืน

ภาพวาดยังเหมือนเดิม หมวกนักรบยังคงสีทอง สายตายังคงมองต่ำ สิ่งที่ต่างออกไปคือ perception หรือความรับรู้ที่ผู้คนมีต่อภาพวาดนี้เท่านั้นเอง


ในปี 2005 กลุ่มดีลเลอร์ซื้อภาพวาดของพระเยซูมาในราคาไม่ถึง $10,000 โดยเชื่อกันว่าเป็นภาพที่วาดโดยลูกศิษย์ลูกหาของ Leonardo Da Vinci

แต่เมื่อมีการพิสูจน์ว่า จริงๆ แล้วภาพนี้ไม่ได้วาดโดยลูกศิษย์ แต่วาดโดยดาวินชี่เองกับมือ ความสนใจและมูลค่าก็พุ่งทะยาน ในปี 2017 ภาพพระเยซูภาพนี้ก็ถูกขายไปในราคา $450 ล้านเหรียญ

ภาพวาดยังเหมือนเดิมไม่ผิดเพี้ยน ที่เปลี่ยนไปคือบริบท


เมื่อ “มูลค่า” หรือแม้กระทั่ง “คุณค่า” ไม่ได้ผูกติดกับตัวเนื้องาน แต่ผูกติดกับค่านิยมที่คนหมู่มากมีร่วมกัน (inter-subjective) เราจึงควรทดความจริงข้อนี้เอาไว้ในใจเสมอ

ผลงานยอดเยี่ยมที่รังสรรค์โดยคนไม่มีชื่อเสียง อาจไม่ได้รับการสรรเสริญเท่ากับผลงานกลางๆ ที่มาจากคนที่มีชื่อเสียงก็ได้

แน่นอนว่ามันดูไม่แฟร์ แต่มนุษย์และโลกก็ทำงานแบบนี้ – This is how the world works

หน้าที่ของเราจึงคือการทำสิ่งที่เราเชื่อมั่นและยึดถือ

ตราบใดที่เรายังภูมิใจในผลงานของตัวเอง แค่นั้นก็มีความหมายและคุณค่ามากพอที่เราจะทำต่อไปครับ


ขอบคุณเนื้อหาส่วนแรกจากหนังสือ The Formula by Albert-László Barabási