เมื่อช่วงต้นเดือน a day BULLETIN มาชวนผมคุยเรื่อง Quiet Quitting ที่เป็นเทรนด์อยู่ใน TikTok
ผมเองแม้จะทำงานสาย HR แต่ไม่ได้เล่น TikTok ก็เลยไม่ได้รู้มาก่อนว่ามันกำลัง in trend พอไปอ่านดูจึงได้รู้ว่า Quiet Quitting คือการทำงานตามหน้าที่ แต่จะไม่ทำเกินหน้าที่หรือทุ่มเทมากไปกว่านี้
เขาวิเคราะห์กันว่า ที่เทรนด์นี้ถูกใจคนทำงานรุ่นใหม่ ก็เพราะว่าสองปีที่ผ่านมาการ work from home ทำให้เส้นแบ่งระหว่างงานกับเรื่องส่วนตัวมันหายไป ชีวิตเลยมีแต่งานกับงาน เมื่อรู้สึกว่าโดนเอาเปรียบมานาน การทำ Quiet Quitting จึงเป็นเหมือนการเอาคืน เป็นการเรียกร้องความยุติธรรมกลับมาโดยที่ตัวเองยังมีงานทำ
ผมตอบ a day BULLETIN ไปว่า โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่า Quiet Quitting จะเป็นเทรนด์ที่มาแล้วก็ไป เพราะสุดท้ายแล้วมันไม่ได้ส่งผลดีต่อใครเลย
เนื่องจากคำแต่ละคำถูกตีความด้วยคนแต่ละคนแตกต่างกันไป มันก็มีความเป็นไปได้ที่พนักงานบางคนจะตีความคำว่า Quiet Quitting เป็นการทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม เข้าเกียร์ว่าง ออกแรงให้น้อยที่สุดโดยที่ยังเอาตัวรอดไปได้
ซึ่งนั่นย่อมส่งผลเสียในระยะยาวกับตัวพนักงานเอง
ไม่ใช่ทุกคนอยากเติบใหญ่เป็นผู้บริหาร แต่ก็คงไม่มีใครอยากมีชีวิตที่ย่ำอยู่กับที่เช่นกัน
ผมมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า สุดท้ายแล้วเราจะได้เงินเดือนที่เหมาะสมกับตัวเองเสมอ ถ้าไม่ใช่กับนายจ้างปัจจุบันก็กับนายจ้างในอนาคต
และสำหรับประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นคนทำงาน เงินเดือนมักจะสะท้อนคุณค่าที่เราสร้างได้ และคุณค่าที่เราสร้างได้ก็ขึ้นอยู่กับทักษะ ทัศนคติ และวิธีการทำงานของเรา
Quiet Quitting จึงเป็นเหมือนการกดปุ่มหยุดสำหรับการพัฒนาทุกอย่างที่กล่าวมา ซึ่งก็เท่ากับการกดปุ่มหยุดในเรื่องค่าตอบแทนเช่นกัน
ผมเพิ่งได้อ่านบทความของ Inc. Magazine: Google Secretly Uses the ‘Quiet Hiring’ Method.
เนื้อหาไม่ได้มีอะไรเพราะเป็นสิ่งที่องค์กรส่วนใหญ่ทำกันอยู่แล้ว นั่นก็คือการโปรโมตคนข้างในขึ้นมาทำตำแหน่งที่สำคัญ แทนที่จะไปรับคนใหม่จากข้างนอก
การโปรโมตคนข้างในนั้นมีข้อดีหลายอย่าง หนึ่งคือเขาได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเป็นคนทำงานดี สองคือเขาเข้าใจองค์กรดีอยู่แล้วในหลายๆ ด้าน ไม่ต้องเสียเวลามาสอนกันใหม่ และสามคือมันเป็นวิธีที่ดีที่จะรักษาคนเก่งๆ ไว้กับองค์กร
คนที่ทำงานดี ทำงานเกินหน้าที่ ผลงานมีคุณภาพ ผู้บริหารก็จะแอบนิยมชมชอบอยู่ในใจ และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม มีตำแหน่งที่คู่ควรกับเขาพอดี เขาก็จะเป็นคนแรกๆ ที่ผู้บริหารนึกถึงและเสนอให้เข้ามาทำตำแหน่งนี้
ส่วนคนที่ Quiet Quitting ก็จะโดนมองข้ามไปอย่างช่วยไม่ได้
แน่นอนว่างานไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า Quiet Quitting คือทางออก เพราะถ้าคิดกันยาวๆ แล้วมันเป็นเกมที่มีแต่คนแพ้
ตึงเกินไปก็ไม่ดี หย่อนเกินไปก็ไม่เหมาะ
ทักษะที่คนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้ คือจะทำงานให้ดีได้อย่างไรโดยที่ไม่ถูกความโหดร้ายของโลกทุนนิยมบดขยี้ไปเสียก่อน จะเป็น good performer ที่สนุกกับงานและสนุกกับชีวิตด้วยได้อย่างไร
นี่คือโจทย์ที่เราแต่ละคนต้องหาจุดพอดีให้เจอด้วยตัวเองครับ