
ตัวตนของเราบางอย่าง ทิ้งมันไปบ้างก็ได้
หลายท่านอาจเคยได้ยินได้ฟังเรื่องเรือสำเภาของธีเซียส หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่าปฏิทรรศน์ธีเซียส (Theseus’ paradox)
“สำเภาที่นำธีเซียสและคนหนุ่มสาวจากเอเธนส์กลับมาจากครีต มีไม้พาย 30 ไม้ ซึ่งได้รับการดูแลรักษาจากชาวเอเธนส์เป็นอย่างดี โดยผู้ดูแลจะรื้อไม้ที่ผุพังออก เปลี่ยนเป็นลำไม้ที่ใหม่และแข็งแรงกว่า จนทำให้เรือลำนี้เป็นตัวอย่างสำคัญในบรรดาเหล่านักปรัชญาเกี่ยวกับคำถามเชิงตรรกะเรื่องการเติบโต ฝ่ายหนึ่งยืนยันว่าเรือนั้นยังคงเป็นเรือลำเดิม ขณะที่อีกฝ่ายโต้ว่าเรือได้เปลี่ยนไปแล้ว”
— พลูทาร์ก, Theseus
พลูทาร์กจึงได้ตั้งคำถามว่า สำเภายังคงเป็นลำเดิมหรือไม่หากทุกชิ้นส่วนของเรือค่อยๆ ถูกแทนที่ไปจนหมดสิ้น
บทความแรกอย่างเป็นทางการของบล็อก Anontawong’s Musings คือบทความที่ชื่อว่า “เกิดใหม่” เขียนไว้เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2015:
“นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาร่างกายมนุษย์ และพบว่า 98% ของอะตอมในร่างกาย เป็นคนละอะตอมกับเมื่อหนึ่งปีที่แล้ว
ทุกๆ ครั้งที่เราหายใจ เราสูดอากาศที่มีอะตอมจำนวนสิบยกกำลังยี่สิบสอง หรือ 10,000,000,000,000,000,000,000 อะตอมเข้าสู่ร่างกาย และเมื่อเราหายใจออก เราก็มีการปลดปล่อยอะตอมในจำนวนเท่ากันออกจากร่างกายด้วย
การกินอาหารและการขับถ่ายก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเปลี่ยนถ่ายอะตอมในร่างกายเราเช่นกัน อาหารเหล่านี้ถูกร่างกายเผาผลาญเพื่อให้พลังงานและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายตามที่เราเคยเรียนเมื่อชั้นประถม
ดังนั้นเซลล์ทุกเซลล์จึงมีการสร้างขึ้นใหม่ตลอดเวลา โดยอวัยวะแต่ละส่วนในร่างกายของเราก็มีการสร้างเซลล์ใหม่ในอัตราที่แตกต่างกัน
ในทางเทคนิค เราจึงมีตับใหม่ทุก 6 สัปดาห์ ผิวพรรณที่ห่อหุ้มร่างกายเราก็เปลี่ยนใหม่ทุกเดือน
เรามีโครงกระดูกใหม่ทุก 3 เดือน และมีสมองใหม่ทุกหนึ่งปี
หรือแม้กระทั่ง DNA ที่เก็บข้อมูลวิวัฒนาการนับล้านปีของเซลล์มนุษย์ ก็ถูกเปลี่ยนถ่ายทุก 6 สัปดาห์เช่นกัน
เพราะฉะนั้น ในเชิงกายภาพแล้ว คุณ “เกิดใหม่” อยู่ตลอดเวลา”
เมื่อเราใช้ชีวิตมาถึงวัยกลางคน เราจะรู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างในตัวเรานั้นถูกแช่แข็งและแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว เข้าทำนองไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก
“ผมเป็นคนอารมณ์ร้อน”
“ฉันเป็นคนขี้อาย”
“ผมเป็นคนไม่ยอมใคร”
“ฉันเป็นคนบูชาความรัก”
แล้วเราก็จะย้ำเตือนว่า ฉันก็เป็นของฉันอย่างนี้ อย่าพยายามมาเปลี่ยนอะไรฉันเลย
เมื่อเรานิยามตัวเองว่าเป็นคนแบบไหน เราก็จะยึดติดกับภาพลักษณ์นั้น ยิ่งเรายึดมั่น “ความเป็นตัวเรา” มากเท่าไหร่ ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ก็ยิ่งถูกปิดกั้น
ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องไปภูมิใจหรือกระทั่งหวงแหน “ตัวตน” ของเราที่ถูกสร้างเอาไว้ตั้งนานแล้ว มันอาจเคยมีประโยชน์ในอดีต แต่ไม่ตอบโจทย์เราอีกต่อไป
มนุษย์มีศักยภาพที่จะดีกว่าเดิมได้ และชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง ชีวิตที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ต่างอะไรกับชีวิตที่ตายไปแล้ว
อะตอมในร่างกายของเราเปลี่ยนถ่ายอยู่ทุกลมหายใจ และภายในไม่กี่เดือนร่างกายของเราก็เปรียบเหมือนเรือสำเภาของธีเซียสที่ไม่เหลือลำไม้เดิมสักลำเดียว
อุปนิสัยและจิตใจเราก็เช่นกัน เมื่อชีวิตยังต้องดำเนินไป เราต้องพร้อมถอดไม้ที่ผุๆ ออก และเพิ่มไม้ท่อนใหม่เข้ามาแทน
ตัวตนของเราบางอย่าง ทิ้งมันไปบ้างก็ได้นะครับ