- แต่ก่อนเราอาจเคยเป็น “พี่ชาย/พี่สาว” ของน้องในทีม เราจะเป็นที่พึ่งที่คอยให้คำปรึกษาและดูแลจิตใจ แต่พอเราขึ้นมาเป็นหัวหน้า บทบาทของเราจะแตกต่างออกไป จงแยกแยะความแตกต่างระหว่างการเป็นพี่และการเป็นหัวหน้าให้ออก
- เวลาสั่งงาน ให้แน่ใจว่าเขาเข้าใจว่าเราต้องการอะไรด้วย ถ้าน้องเข้าใจผิด นั่นถือเป็นความผิดของเรา ไม่ใช่ของน้อง
- หนึ่งในเรื่องที่ยากที่สุดของการเป็นหัวหน้า คือการฟีดแบ็คลูกน้องที่ยังทำงานไม่ได้ตามมาตรฐานในใจเรา แต่การไม่จัดการ low performer คือการทำร้ายคนทั้งทีม
- การให้ฟีดแบ็คลูกน้อง บางทีก็ไม่ต่างกับการจีบสาว แค่พูดไปตามที่เรารู้สึก ไม่ต้องใช้เทคนิค ไม่ต้องมีลีลาเยอะ คิดอย่างไรบอกอย่างนั้น ดีกว่ากลัวไปเองว่าพูดไปแล้วเขาจะไม่ชอบเรา
- การพูดตรงไม่ได้แปลว่าให้พูดแรง อย่าใช้คำพูดเชือดเฉือนเพราะนอกจากจะทำให้ลูกน้อง defensive แล้วยังทำให้เขาเก็บเรื่องนี้ไว้ในใจไปอีกนานเลยด้วย
- ความผิดพลาดที่เห็นบ่อยที่สุดของหัวหน้า คืออมงานเอาไว้ ไม่ยอมแจกจ่ายงาน เพราะกลัวน้องจะเหนื่อย หรือกลัวน้องจะทำได้ไม่ดี สุดท้ายเราเลยกลายเป็นคอขวดเสียเอง
- เมื่อยอมรับได้ว่าลูกน้องเก่งกว่าเราในบางเรื่อง เราจะเหนื่อยน้อยลงไปเยอะ
- วิธีจัดการลูกน้องเก่งๆ คือให้งานที่ท้าทายความสามารถ เอ่ยชื่อของเขาให้คนอื่นได้ยินเวลาเราเอาผลงานของน้องมาใช้ อย่าให้งานน้อยเกินไปจนฟุ้งซ่าน แต่ก็ไม่ให้เขาทำงานเยอะเกินไปจน burn out ก่อนวัยอันควร
- การเคลมเครดิตที่ควรเป็นของลูกน้องคือสิ่งที่จะทำให้หัวหน้าเสียเครดิตมากที่สุด (ความลับไม่มีในโลก)
- อย่าใช้เวลากับ low performer หรือ high performer มากเกินไป ควรมีเวลาให้ลูกน้องทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยการจัดเวลาให้มีการคุย 1:1 อย่างน้อยเดือนละครั้ง
- ให้ระลึกว่าเรื่องที่คุยใน 1:1 ควรเป็นเรื่องที่คุยในที่ประชุมไม่ได้ หรือคุยได้ไม่เต็มที่ ทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว เรื่องปัญหากับเพื่อนร่วมงาน เรื่องที่เขาอยากให้เราปรับปรุง
- สำคัญยิ่งกว่า manage ลูกน้อง คือ manage หัวหน้าของเรา โดยเฉพาะเรื่องความคาดหวังและ timeline ในการส่งงาน
- การคัดสรรคนเป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่หัวหน้ามือใหม่มักละเลยหรือเตรียมตัวน้อยเกินไป ขอให้รู้ว่าไว้ว่าพลาดคนที่ใช่นั้นยังดีกว่าได้คนที่ไม่ใช่ การได้ปลาผิดน้ำมานั้นมีต้นทุนมหาศาลแต่เราไม่ค่อยใส่ใจกัน
- อย่าให้การคัดคนเป็นเพียงการมาอ่านเรซูเม่ในห้องสัมภาษณ์แล้วถาม-ตอบ แต่ควรให้ผู้สมัครทำแบบทดสอบที่จะวัดว่าเขามีความสามารถในตำแหน่งนี้หรือไม่ เราควรอ่านเรซูเม่มาก่อน เตรียมคำถามไว้ในใจ และควรเข้าห้องสัมภาษณ์ให้ตรงเวลา หรือก่อนเวลา 1 นาทีได้ยิ่งดีในกรณีที่สัมภาษณ์ออนไลน์
- อย่าลืมว่าเราไม่ได้สัมภาษณ์เขาอย่างเดียว เขาก็สัมภาษณ์เราด้วยเช่นกัน ยิ่งผู้สมัครเป็นคนเก่งและมีความสามารถเขาย่อมมีตัวเลือกเยอะแยะ เราจะทำยังไงให้ตัวเรา ทีมเรา และองค์กรของเรามีเสน่ห์ดึงดูดเขาได้มากพอ
- อย่ากลัวที่จะรับคนเก่งเข้าทีม อย่ากลัวว่าน้องจะโดดเด่นเกินหน้า ยิ่งได้คนเก่งและนิสัยดีเข้ามาเรายิ่งสบาย A Player จะจ้าง A Player แต่ B Player จะจ้าง C Player และ C Player จะจ้าง D Player สุดท้ายองค์กรจะไม่มี talent density และทุกคนจะเหนื่อยกันหมด
- หัวหน้าไม่ใช่เจ้าชีวิตของลูกน้อง เราต่างก็เป็นลูกจ้าง แค่มีหน้าที่แตกต่างกันเท่านั้นเอง