“เก่งมาก”: คำที่พ่อแม่พูดกับลูกบ่อยที่สุด

ใครที่มีลูกเล็กๆ วัยไม่เกิน 6 ขวบ น่าจะได้ใช้คำว่า “เก่งมาก” อยู่บ่อยๆ

แม้ว่าคนจะเตือนว่าชมแบบนี้จะทำให้ลูกมี fixed mindset เราก็ยังไม่วายที่จะพูดอยู่ดี

เพราะในภาษาไทย การชื่นชมลูกว่า “พยายามได้ดีมาก” เพื่อให้เกิด growth mindset นั้นมันไม่เข้าปากเท่าไหร่ ส่วนฝรั่งใช้คำว่า “Good effort!” เป็นประจำอยู่แล้ว

อีกสถานการณ์หนึ่งที่เราชอบใช้คำว่า “เก่งมาก” ก็คือตอนที่ลูกเรียกให้เราดูผลงานของเขา แต่เราไม่ค่อยสนใจหรือให้ความสำคัญ

“พ่อๆ หนูวาดรูปสวยมั้ย”

(เงยหน้าจากมือถือ กวาดสายตาดูรูปนิดนึง) “เก่งมากจ้ะ” (แล้วก้มดูมือถือต่อ)

“แม่ๆ หนูต่อเลโก้เป็นรูปยานอวกาศด้วยนะ”

“เก่งมากจ้ะ”

“เก่งมาก” จึงเป็นเหมือนไพ่โจ๊กเกอร์ ไม่ว่าลูกจะเปิดไพ่อะไรมา เราก็จะตีกลับไปด้วยคำว่า “เก่งมาก” เสมอเพื่อที่เราจะได้กลับไปทำธุระของเราต่อ

ในหนังสือ “ชมลูกให้ถูก ติลูกให้เป็น” ของ Shimamura Hanako บอกว่าการชมเชยลูกนั้นมีอยู่ 3 ประเภทใหญ่ๆ

1.ชมเชยแค่ผิวเผิน (perfunctory)

2.ชมเชยโดยเน้นที่ตัวบุคคล (person focus)

3.ชมเชยโดยเน้นที่กระบวนการ (process focus)

การชมว่า “เก่งมาก” นั้นเป็นทั้งการชมแบบผิวเผิน และเป็นการเน้นที่ตัวบุคคล

ตัวอย่างของคำชมแบบเน้นตัวบุคคลก็เช่น

“ลายมือสวยมากเลยนะเนี่ย” หรือ “สมแล้วที่เป็นพี่คนโต”

ซึ่งการชมสองแบบผิวเผินหรือเน้นตัวบุคคลนั้นจะทำให้เด็กยึดติดคำชมและอาจมีอาการดังต่อไปนี้

-เด็กจะเน้นทำแต่พฤติกรรมที่ได้รับคำชม หากไม่ได้รับคำชมก็จะไม่ทำ
-เด็กจะคิดว่าตัวเองทำได้ดีแล้ว ไม่ต้องฝึกเพิ่ม (เช่นเราไปชมว่าเขาวาดรูปเก่งมาก ทั้งที่จริงแล้วยังปรับปรุงได้อีกเยอะ)
-เด็กจะกล้าทำสิ่งที่ท้าทายน้อยลง เพราะกลัวจะทำได้ไม่ดี

วิธีการชมเชยที่จะลดความเสี่ยงดังกล่าว สามารถทำได้ดังนี้

1.ชมเชยที่กระบวนการมากกว่าผลลัพธ์

เราไม่ควรชมเรื่องความสามารถหรือบุคลิกภาพ แต่ควรชมท่าทีที่มีความพยายาม

สมมติว่าเด็กสอบได้ 100 คะแนน แทนที่จะบอกว่า “ลูกแม่นี่เก่งสุดๆ ไปเลย” ก็ควรชมว่า “ตั้งใจจนสอบได้คะแนนเต็มเลยนะ” หรือ “หลังจากลองมาหลายวิธี ในที่สุดครั้งนี้ก็ได้ 100 คะแนน!”

หากครั้งต่อไปเขาสอบได้คะแนนต่ำกว่าเดิม เขาก็จะไม่คิดว่าตัวเองไร้ความสามารถ แต่จะเปิดใจลองหาวิธีอื่นๆ ที่จะทำให้สอบได้คะแนนดีกว่าเดิม

  1. ชมเชยให้เป็นรูปธรรม

แทนที่จะชมแค่ “สุดยอด” หรือ “ใช้ได้!” เราควรจะบอกรายละเอียดให้มากขึ้น

เช่นเวลาลูกต่อเลโก้มาโชว์เรา เราก็ควรจะใส่ใจผลงานของลูก และเอ่ยคำชมที่ทำให้ลูกรู้ว่าเขาทำดีเรื่องอะไร

“ใช้สีหลายสีเลย สวยจัง”

“ตรงนี้ตั้งใจเลือกสีให้ต่างจากจุดอื่นๆ สินะ”

  1. ตั้งคำถามให้มากขึ้น

บางทีเราก็ลืมนึกไปว่า เราสามารถพลิกคำชมเป็นคำถามแทนก็ได้

สิ่งสำคัญคือถามว่าเขารู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร และคำถามควรเป็นคำถามปลายเปิด เพื่อให้เกิดบทสนทนาโต้ตอบระหว่างกัน

เช่นเวลาลูกต่อเลโก้มาโชว์ เราอาจตั้งคำถามว่า

“ทำเป็นรูปอะไร ไหนลองบอกหน่อยได้มั้ย”

หรือเวลาลูกคัดลายมือ แทนที่จะชมว่า “ลายมือสวยนะเนี่ย!” ก็อาจจะถามว่า

“ลองเขียนเองแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง”

หรือเวลาที่ลูกเลือกชุดเอง แทนที่จะชมว่า “น่ารักมาก” ก็อาจจะถามว่า

“ชอบสัตว์ตัวไหนบนเสื้อมากที่สุดหรือคะ?”


ถ้าให้สรุปรวบยอด ถ้าอยากจะให้คำชมของเรามีประโยชน์กับลูกจริงๆ เราต้องใส่ใจสิ่งมหัศจรรย์ที่อยู่ตรงหน้า ก้มมองมือถือให้น้อย เงยหน้าดูลูกให้เยอะ

เวลาชมก็อย่าชมแค่ผิวเผินหรือชมที่ตัวบุคคล แต่ให้ชมความพยายามหรือกระบวนการ

และสุดท้าย เราไม่จำเป็นต้องชมลูกทุกครั้ง เพราะเราสามารถตั้งคำถามเพื่อชวนลูกคุย ซึ่งจะทำให้เขาเข้าอกเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้นครับ