วันอาทิตย์ที่แล้วผมวิ่งงาน Bangsaen21 มาครับ
งาน Bangsaen21 คืองานฮาล์ฟมาราธอน (21.1 ก.ม.) ที่ดีที่สุดในประเทศไทย ผมกับเพื่อนที่ออฟฟิศวิ่งติดต่อกันมาเป็นปีที่สี่แล้ว
เสียดายที่ปีนี้ไม่ได้ไปวิ่งที่บางแสน เพราะสถานการณ์โควิดยังดูไม่น่าไว้ใจ เลยตัดสินใจเปลี่ยนเป็นวิ่งแบบ virtual run คือวิ่งที่ไหนก็ได้แล้วค่อยส่งหลักฐานไปให้ทีมงานเพื่อส่งเหรียญ-ส่งเสื้อมาให้ทีหลัง
ผมเริ่มซ้อมตั้งแต่เนิ่นๆ ประมาณเดือนพฤศจิกายนก็วิ่ง 10 กิโลเมตรได้แบบชิวๆ คิดว่าถ้าเพิ่มระยะซ้อมสัปดาห์ละ 2 กิโลเมตรก็น่าจะพร้อมภายในกลางเดือนมกราคม
แต่แล้วเดือนธันวาคมผมข้อเท้าพลิกอย่างหนัก ต้องหยุดซ้อมไปหลายสัปดาห์ กว่าจะกลับมาวิ่งได้ใหม่ก็เข้าเดือนมกราคมแล้ว สุดท้ายเลยซ้อมถึงแค่ 18 กิโลเมตรก่อนที่จะถึงงานวิ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม
วันนั้นผมตื่นมาก่อนตีสี่นิดหน่อย แต่งตัวและออกมาวอร์มหน้าบ้าน ประมาณตีสี่ครึ่งก็เริ่มวิ่ง
ช่วง 2-3 กิโลเมตรทำเวลาได้ดีจนตัวเองแปลกใจ แต่แล้วเพซก็ช้าลงเรื่อยๆ ยิ่งตอนหยุดดื่มน้ำก็เผลอโอ้เอ้ สุดท้ายจึงจบด้วยเวลา 2:09 ชั่วโมง กับระยะทาง 21.5 ก.ม. (ผมวิ่งเกินเพื่อให้สอดคล้องกับระยะที่จะได้วิ่งในสนามจริง)
ผมแคปหน้าจอแอป Garmin ส่งให้เพื่อนในกลุ่มที่วิ่ง Bangsaen21 ด้วยกัน แต่ปีนี้เป็นปีแรกในรอบสี่ปีที่ผมไม่ได้อัพรูปขึ้นเฟซบุ๊ค
อาจจะเพราะว่าไม่ได้มีรูปสวยๆ ให้โพสต์ แถมวิ่งคนเดียวรอบหมู่บ้าน เสื้อก็ไม่ใช่เสื้องาน Bangsaen21 (เพราะเขายังไม่ได้ส่งมาให้) ก็เลยไม่รู้จะอวดอะไร
แต่ถ้าจะให้ซื่อตรงกับตัวเอง เหตุผลหลักที่ไม่ได้โพสต์ขึ้นเฟซก็เพราะว่าผมใช้เวลาเยอะกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งวิ่งได้ sub-2 (จบเร็วกว่าสองชั่วโมง) ทุกครั้ง
เช้าวันนั้นไถเฟซบุ๊คก็เห็นคนอัปรูปของตัวเองเต็มไปหมด แถมส่วนใหญ่ก็ได้ sub-2 กันเสียด้วย เร็วสุดที่เห็นเป็นเพื่อนผู้หญิง วิ่งจบที่ 1 ชั่วโมง 52 นาที ทั้งยินดี ทั้งอิจฉา และบอกกับตัวเองว่า เราจะต้องกลับมาซ้อมให้หนักกว่าเดิม
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็คือตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมไม่ได้กลับไปซ้อมอีกเลย ที่เคยตื่นตีห้า ก็กลายเป็นตื่นหกโมงกว่าตลอด เพิ่งจะได้กลับมาวิ่งเบาๆ เมื่อเช้านี้เอง
ใจคนเรามันก็ซับซ้อนย้อนแย้งแบบนี้
Social Media นั้นมีข้อดีมากมาย เหตุผลที่ผมได้เขียนบทความให้คุณอ่านก็เพราะว่ามีโซเชียลมีเดียนี่แหละ
แต่หนึ่งในข้อเสียที่สำคัญที่สุดของ Social Media ก็คือมันได้สร้างความรู้สึกว่า “เรายังดีไม่พอ” ให้กับคนทุกคน
สมัยก่อน ถ้าเราเป็นคนที่เล่นกีตาร์เก่งที่สุดในชั้นเรียน หรือสวยที่สุดในหมู่บ้าน เราก็จะมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองนี่ก็ใช้ได้เหมือนกัน
แต่เป็นสมัยนี้ ไม่ว่าเราจะสวยแค่ไหน เล่นกีตาร์เก่งแค่ไหน มันจะมีคนที่สวยที่เก่งกว่าเราโผล่ขึ้นมาในฟีดเสมอ
แถมสมองของมนุษย์ก็ถูก wired ให้คอยเปรียบเทียบกับคนอื่นตลอดเวลาเสียด้วย ต่อให้ปากจะบอกว่าแข่งกับตัวเอง แต่ลึกๆ แล้วเราก็ยังอดเปรียบเทียบกับคนอื่นไม่ได้อยู่ดี
เมื่อพบเจอคนที่ดีกว่าแบบ 24×7 ความรู้สึกว่าเรายังดีไม่พอจึงยิ่งฝังแน่นลงไปในจิตใต้สำนึก และอาจขับเคลื่อนให้เรามีพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- เข้าศูนย์เลเซอร์ ฉีดโบท็อกซ์
- สมัครฟิตเนส จ้าง personal coach กิน whey protein
- ว่างแล้วอ่านมือถือตลอด ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะอ่านอะไร แต่ก็แอบหวังว่าเราจะเจอบทความที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้
- เสพสื่อด้าน self-improvement จนล้นเกิน หมกมุ่นจนเข้าข่าย productivity porn
- ซื้อหนังสือมามากมายเพื่อฝังมันไว้ในกองดอง
- ใช้ชีวิตโดยรู้สึกว่า “มีอะไรต้องทำ” และต้อง “มุ่งไปข้างหน้า” ใจจดจ่อกับอนาคตจนไม่เหลือพื้นที่ว่างให้วันนี้หายใจ
ความจี๊ด (insidious) ของมันก็คือเรื่องเหล่านี้ดันเป็นสิ่งที่สังคมให้ค่าเสียด้วย พอเราโพสต์ความ smarter faster better ของตัวเองลงในโซเชียล ก็จะมีคนมากดไลค์และคอมเมนท์ชื่นชม ซึ่งก็จะยิ่งผลักดันให้เราทำมันต่อไปอีก
โลกโซเชียลและทุนนิยมคือเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ผลักดันให้มนุษย์วิ่งเข้าหาความสมบูรณ์แบบ
แต่การวิ่งตลอดเวลานั้นเหนื่อยไม่ต่างอะไรกับการวิ่ง sub-2 และมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบนั้นไม่เคยมีอยู่จริง มันเป็นเพียงมโนภาพที่เราสร้างขึ้นมา แล้วเราก็แบกมโนภาพนี้เอาไว้ตลอดเวลา
เมื่อแบก ชีวิตจึงหนัก ชีวิตจึงเหนื่อย
ไม่ได้จะบอกว่าให้นั่งอยู่เฉยๆ อย่างเฉาๆ แค่จะบอกว่าเราควรแยกแยะให้ออกระหว่างสิ่งที่เราคิดว่าเราต้องการ กับสิ่งที่เราต้องการจริงๆ
ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่ต้องเป็นคนเก่งตลอดเวลา
ตัวจะเบาเมื่อหยุดคิดว่าเรายังดีไม่พอครับ