เคยมีคนทำการศึกษานักเทนนิสมืออาชีพ ว่าความแตกต่างระหว่างมือวางอันดับต้นๆ กับมือวางอันดับท้ายๆ นั้นคืออะไร
ตอนแรกนักวิจัยก็ไม่เข้าใจ เพราะนักเทนนิสทั้งสองกลุ่มนี้ต่างก็มีพรสวรรค์และฝึกซ้อมหนักพอกัน
จนวันหนึ่งนักวิจัยก็สังเกตเห็นสิ่งแปลกประหลาด นั่นคือเขาเห็นว่านักเทนนิสตัวท็อปนั้นเข้าสู่ “สภาวะสงบ” หลายครั้งในระหว่างเกม
วันถัดมาเขาจึงติดเครื่องตรวจชีพจรนักเทนนิส และพบว่าระหว่างแต้มแต่ละแต้ม นักเทนนิสตัวท็อปมี ritual หรือวิธีการอะไรบางอย่างที่ทำให้พวกเขาเข้าสู่สภาวะสงบได้ และความเร็วการเต้นของหัวใจลดลงไปประมาณ 20 ครั้งต่อนาที
ขณะที่นักเทนนิสกลุ่มรั้งท้ายนั้นหัวใจเต้นเร็วตลอด ไม่เคยมีช่วงที่ชีพจรดร็อปลงเลย พอเข้าสู่ครึ่งหลังของเกม นักเทนนิสกลุ่มนี้มักจะทำพลาดบ่อยขึ้นและพ่ายแพ้ไปในที่สุด
นักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งทำการศึกษานักไวโอลินที่เรียนในโรงเรียนฝึกสอนดนตรีระดับโลก เพื่อจะทำความเข้าใจว่าทำไมบางคนเรียนจบไปแล้วถึงเป็นนักไวโอลินชั้นนำของวงการ บางคนได้เป็นนักไวโอลินในวงดนตรี และบางคนได้เป็นเพียงครูสอนไวโอลิน ทั้งๆ ที่คนทั้งสามกลุ่มนี้ก็เริ่มต้นจากคนที่มีแววเหมือนกัน แถมยังเรียนหลักสูตรเดียวกัน
สิ่งหนึ่งที่พวกเขาค้นพบก็คือ นักไวโอลินชั้นนำของวงการนั้นนอนเยอะกว่าคนอื่น คือนอนวันละ 8 ชั่วโมงครึ่ง โดยรวมไปถึงเวลาที่พวกเขางีบหลับกลางวันด้วย
แม้ว่าบริบทในการวิจัยจะเป็นวงการกีฬาและวงการดนตรี แต่ผมก็เชื่อว่าการพักผ่อนก็จำเป็นสำหรับคนทำงานเช่นกัน
ยิ่งช่วงที่เรา Work from Home เรามีแนวโน้มที่จะทำงานจนไม่ได้มีเวลาหยุดพักเลย ซึ่งร่างกายและจิตใจของเราไม่ได้ถูกออกแบบให้มาใช้งานต่อเนื่องยาวนานเหมือนเครื่องจักรแบบนี้
เราควรทำงานแบบเข้มข้นเป็นช่วงๆ แล้วมีจังหวะหยุดพักเพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้ชาร์จแบตจริงๆ สลับกันแบบนี้ไปทั้งวัน
ถ้าอยากเป็น top performer จริงๆ เราต้องนอนให้หลับและพักให้เป็นครับ
ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ The Power of Full Engagement by Jim Loehr & Tony Schwartz และ Peak by Anders Ericsson