14 เคล็ดลับสำหรับการเป็นนักอ่านที่ดีขึ้น

ผมเองเป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะประมาณหนึ่ง โดยเฉพาะหนังสือแนว non-fiction สมัยช่วงที่ยังไม่มีครอบครัวผมน่าจะอ่านหนังสือเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 เล่ม เวลามีงานสัปดาห์หนังสือทีไรก็หมดตังค์หลายพันทุกครั้ง

วันนี้เลยอยากจะมาแชร์เคล็ดลับที่เรียนรู้มา เผื่อว่ามันจะช่วยให้เราเป็นนักอ่านที่ดีขึ้นได้ โดยเคล็ดลับส่วนใหญ่นั้นเหมาะกับหนังสือที่ไม่ได้เป็นนิยายนะครับ

  1. หา “Aha” moment ก่อนตัดสินใจซื้อ
    เวลาผมไปเดินร้านหนังสือ ผมจะพลิกอ่านหนังสือ และใช้เวลาอย่างน้อย 5 นาทีไปกับมัน ถ้าอ่านแล้วไม่เจอ “Aha” moment ซึ่งคือความรู้สึกแบบ “โห ไม่เคยรู้มาก่อนเลย” หรือ “เฮ่ย เจ๋งดีว่ะ” ผมก็จะวางหนังสือเล่มนั้นลง ต่อให้มันเป็นเล่มที่ติด bestseller ก็ตาม
  2. อย่าอ่านรีวิวใน Amazon
    ถ้าเจอหนังสือที่ต้องตาแต่ยังไม่แน่ใจ ผมจะเข้าไปอ่านรีวิวใน Goodreads ก่อน ผมไม่อ่านรีวิวใน Amazaon เพราะส่วนใหญ่มันลำเอียงมาทางบวกมากเกินไป (เพราะเขาอยากขายหนังสือไง!)

รีวิวที่เป็นกลางกว่าคือของ Goodreads ซึ่งแม้จะโดน Amazon ซื้อไปแล้วแต่ก็ยังได้มุมมองที่ครบถ้วน แนะนำให้ลองอ่านรีวิว 5 ดาวและรีวิว 1 ดาวเพื่อจะได้รู้ว่าจุดแข็งและจุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้คืออะไร

วิธีดูของผมคือถ้ามีอย่างน้อย 500 รีวิวและได้คะแนนเฉลี่ยเกิน 4 ดาว ก็ถือว่าหนังสือเล่มนั้นน่าจะใช้ได้ ถ้าเกิน 4.2 ดาวถือว่าคะแนนดีมาก (Why We Sleep / Sapiens / Atomic Habits) ถ้าไม่ถึง 4 ดาวให้ระวังนิดนึง และถ้าต่ำกว่า 3.8 ดาวก็ไม่ควรซื้อ (เช่นหนังสือ Do Less Get More)

  1. ได้หนังสือมาแล้วให้เปิดอ่านวันนั้นเลย
    เคล็ดลับนี้ได้มาจากรุ่นน้องในบริษัทคนหนึ่งที่เคยเขียนเล่าลงบล็อกของเธอเอาไว้ ซึ่งมันช่วยตอบ pain point ของคนที่บ้าหนังสือได้เป็นอย่างดี

เวลาเราซื้อหนังสือ เรามักจะซื้อมาทีละหลายๆ เล่ม และเราก็มักจะไม่ได้อ่านในทันทีเพราะเรากำลังอ่านเล่มอื่นอยู่ สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือเราจะเก็บหนังสือขึ้นชั้น พอนานวันเข้าหนังสือก็เก่าลงเรื่อยๆ และเราก็ลืมถึงการมีตัวตนของมันไป พอได้เจอหน้ากันอีกทีเราก็ไม่ได้รู้สึกอยากอ่านมันอีกต่อไปแล้ว

ดังนั้น เราควรตีเหล็กตอนที่ยังร้อน ได้หนังสือมาแล้วควรจะเปิดอ่านวันนั้นเลย

  1. อ่านบทสุดท้ายก่อน
    เคล็ดลับนี้ได้มาจากหนังสือ How to read a book ที่แนะนำให้อ่านปกหน้า ปกหลัง ปกใน สารบัญ และบทสรุป เพื่อที่เราจะได้มีภาพคร่าวๆ ว่าหนังสือเล่มนี้พยายามจะบอกอะไรเรา ไม่ต้องกลัวว่ามันจะเป็นการสปอยล์ เพราะนี่ไม่ใช่นิยาย เราจึงไม่จำเป็นต้องเก็บ “ทีเด็ด” เอาไว้อ่านหลังสุด
  2. อ่านหนังสือคราวละหลายๆ เล่ม
    แต่ก่อนผมจะพยายามจำกัดให้อ่านหนังสือไม่เกินคราวละ 2 เล่ม แต่สิ่งที่พบก็คือเวลาหนังสือเข้าสู่ช่วงตอนที่น่าเบื่อหรือยากที่จะเข้าใจ (ซึ่งแทบทุกเล่มมักจะมีช่วงน่าเบื่อ โดยเฉพาะตรงกลาง) ผมก็จะเริ่มหลีกเลี่ยงหนังสือแล้วไปเล่นมือถือแทน

ดังนั้น การอ่านพร้อมกันทีละ 4-5 เล่ม จะช่วยเปิดโอกาสให้เราได้อ่านหนังสือมากขึ้น เพราะพอเจอตอนที่น่าเบื่อในสองเล่ม ก็ยังมีอีกสามเล่มที่เรายังอ่านต่อได้อย่างสนุกและไม่ฝืนเกินไป พอช่วงไหนมีแรงค่อยกลับไปอ่านเล่มเดิมๆ ต่อ

“The trick is to be bored with a specific book, rather than with the act of reading.”
-Nassim Taleb

  1. อ่านจบแล้วจำเนื้อหาไม่ได้ก็ไม่ต้องกังวล

“I cannot remember the books I have read any more than the meals I have eaten; even so, they have made me.”
— Ralph Waldo Emerson

เราจำไม่ได้หรอกว่าเรากินอะไรไปบ้าง แต่มันก็กลายเป็นเลือดเนื้อของเรา

เราจำไม่ได้หรอกว่าเราอ่านอะไรไปบ้าง แต่บางถ้อยคำ มุมมอง และวิธีคิดก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวเราไปโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน

  1. อ่านจบหนึ่งบทแล้วเขียนสรุป
    แต่ถ้าใครอยากจะให้แน่ใจว่าเราจำเนื้อหาได้มากขึ้น ก็ลองเขียนสรุปเนื้อหาเมื่ออ่านจบแต่ละบทดู ไม่จำเป็นต้องสรุปทุกเรื่องที่ผ่านตา เอาแค่เรื่องที่สำคัญๆ ที่เรารู้สึกว่าเป็นประโยชน์และน่าจดจำก็พอ
  2. อ่านหนังสือเป็นอย่างแรกๆ ของวัน
    ของที่สำคัญให้หยิบขึ้นมาทำก่อน ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีโอกาสได้ทำเลย การอ่านหนังสือก็เป็นหนึ่งในนั้น ตอนเช้าพอเดินจากห้องนอนมา ผมจะอ่านหนังสือเป็นอย่างแรก เพราะถ้าปล่อยให้จับคอมหรือจับมือถือก่อนก็รับรองเลยว่าไม่ได้อ่าน
  3. วางหนังสือไว้ทั่วบ้าน
    ผมจะมีหนังสือวางไว้สามจุด คือตรงโซฟาในห้องทำงาน ในห้องน้ำ และแถวๆ ห้องนั่งเล่น ซึ่งมีประโยชน์มากในวันหยุด พอว่างๆ แล้วกวาดสายตาไปเห็นหนังสือก็จะหยิบมันขึ้นมาอ่านโดยอัตโนมัติ
  4. ไม่ต้องสนใจเรื่อง speed reading
    ผมเคยฝึก speed reading อยู่พักหนึ่งเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ล้มเลิกไป จริงๆ แล้วหนังสือที่ดีควรจะอ่านช้าๆ ส่วนหนังสือที่ไม่ค่อยมีเนื้อหาก็อ่านผ่านๆ ก็พอ ถ้าหนังสือมันดีและเหมาะสมกับเรา เราก็จะอ่านได้เยอะโดยไม่ต้องพยายาม

11.อย่าสมัคร App สรุปหนังสือ
เรามักจะเห็นโฆษณาตามฟีดโซเชียลที่พาดหัวประมาณว่า “Get smarter”, “Read a book every day” ฯลฯ ซึ่งมันก็คือ app สรุปหนังสือที่เราสามารถอ่านหรือให้มันอ่านให้เราฟังก็ได้ สำหรับคนที่ชอบอ่านหนังสือแต่ไม่ค่อยมีเวลา เรามักจะคิดว่าแอปเหล่านี้จะช่วยประหยัดเวลาได้ สามารถฉลาดขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ผมเคยสมัคร app สรุปหนังสือมาหลายตัวมาก ไม่ว่าจะเป็น Blinkist, 12Min หรือ Headway แอปทั้งสามตัวนี้ราคาตกปีละเกือบ 3,000 บาท แต่ผมฟังแล้วไม่ค่อยเกิด “Aha” moment เท่าไหร่

เหตุผลหนึ่งคงเป็นเพราะคนที่ทำหน้าที่สรุปหนังสือน่าจะอายุไม่ได้เยอะนัก ถ้าผมเป็นเจ้าของแอปเหล่านี้และมีหนังสือเป็นพันเล่มที่ต้องสรุป ผมก็คงจะจ้างเด็กมหาวิทยาลัยหรือเด็กจบใหม่เป็นจ๊อบๆ ในราคาไม่แพง ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้มีความเก๋ามากพอที่จะถ่ายทอดเนื้อหาออกมาได้อย่างที่ควรจะเป็น การฟังหรืออ่านสรุปจากแอปเหล่านี้จึงไม่ค่อยได้อะไรเท่าไหร่

สุดท้ายผมควักตังค์สมัคร getAbstract ซึ่งราคาปีละเกือบหมื่นบาท เพราะเห็นบริษัทเก่าที่เป็นองค์กรข้ามชาติเคยซื้อ และแม้เนื้อหาจะมีความเข้มข้นมากขึ้น แต่วิธีการสรุปก็ดูน่าเบื่อหรือวิชาการเกินไปอีก คิดว่าปลายปีนี้คงจะไม่ต่ออายุ

12.ตามไปฟังนักเขียนที่ชอบใน podcast และ Youtube
ถ้าชอบนักเขียนคนไหน แนะนำให้ตามไปฟังเขาพูดในที่ต่างๆ ทั้งในพอดแคสต์และยูทูบ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจตัวตนของเขามากขึ้น เข้าใจสารที่เขาต้องการจะสื่อได้ลึกซึ้งขึ้นเช่นกัน

แทนที่จะเอาเงินไปสมัครแอปสรุปหนังสือ ผมแนะนำให้สมัคร Youtube Premium เพื่อจะได้ดาวน์โหลดบทสัมภาษณ์ของคนเหล่านี้ไว้ฟังที่ไหนก็ได้

  1. อย่าไปเห่อหนังสือใหม่
    Nassim Taleb ผู้เขียน The Black Swan บอกว่า เราควรจะอ่านหนังสือที่มีอายุ 10 ปีเป็นอย่างน้อย เพราะถ้าผ่านไป 10 ปีแล้วยังมีคนพูดถึงหนังสือเล่มนี้อยู่ แสดงว่ามันเป็นหนังสือที่ใช้ได้จริงๆ

เวลาคือตัวกรองที่ดีที่สุด ถ้าหนังสือที่เก่าแก่เป็นร้อยเป็นพันปีแล้วยังอยู่ยงคงกระพันมาได้ แสดงว่ามันได้รับการพิสูจน์จากกาลเวลามาแล้ว ดังนั้นเราควรให้เวลากับการอ่านหนังสือเก่าๆ เหล่านี้ให้มากกว่าการอ่านหนังสือใหม่ที่กำลังอินเทรนด์

  1. ไม่ต้องอ่านหนังสือให้จบ
    Life is too short to finish a bad book เราไม่ได้มีเวลามากพอที่จะทนอ่านหนังสือแย่ๆ จนจบเล่ม ถ้าเล่มไหนเราอ่านไปได้สักพักแล้วรู้สึกว่าไม่ค่อยได้อะไร ก็อย่ารู้สึกผิดที่จะทิ้งมันไว้อย่างนั้น อย่าไปเสียดายตังค์ แต่ให้เสียดายเวลาชีวิตและพื้นที่สมองครับ