เกิดเป็นคนทำงานต้องเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเอง

งานที่ผมทำอยู่เปิดโอกาสให้ได้พบปะพูดคุยกับพนักงานหลายคน ส่วนใหญ่จะอายุน้อยกว่า และแม้จะสนุกกับการทำงาน แต่หลายๆ คนก็มี pain points เดียวกันคือรู้สึกว่างานกินพลังชีวิตมากเกินไป

ยิ่งช่วง WFH ที่มีประชุมเกือบทั้งวัน จะหาเวลากินข้าวยังแทบไม่มี

เทคโนโลยีมันทำให้เราทำงานได้ง่ายดายขึ้นก็จริง แต่ยิ่งเราคุยกันได้เร็วเท่าไหร่ ทำงานเสร็จได้เร็วเท่าไหร่ ความคาดหวังก็สูงขึ้นตามมามากเท่านั้น

จึงไม่ใช่เรื่องผิดคาดที่หลายคนจะประสบกับสภาวะ burnout ซึ่งผมเคยเขียนเล่าไว้ว่ามันไม่ใช่อาการทางกาย แต่เป็นอาการทางใจ เป็นความรู้สึกโกรธและขุ่นข้องหมองใจที่มีต่อองค์กรเพราะงานมากินเวลามากไปเสียจนเขาไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งอื่นๆ ที่หล่อเลี้ยงหัวใจ

ผมมักจะบอกกับน้องๆ เสมอว่านี่คือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ คุณรู้สึกว่าทำงานตรงนี้กดดัน แต่หัวหน้าแบกความกดดันมากกว่าคุณ 5 เท่า ผู้จัดการแบกความกดดันมากกว่าคุณ 20 เท่า และ CEO แบกความกดดันมากกว่าคุณ 100 เท่า

CEO ไม่ได้เก่งกว่าเรา 100 เท่าหรือทำงานหนักกว่าเรา 100 เท่า เขาแค่เข้าถึงศาสตร์ในการจัดการชีวิตและการงานได้ดีกว่าเราเท่านั้นเอง

ความจริงข้อหนึ่งที่คนทำงานต้องรู้ก็คือ หน้าที่ดูแลสารทุกข์สุกดิบและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานเป็นหน้าที่ของตัวพนักงานเอง

ใช่ครับ เรานี่แหละที่ต้องดูแลชีวิตเราเอง – you are on your own.

ฟังดูเหมือนใจร้าย แต่ความเป็นจริงก็คือหัวหน้า HR และบริษัทก็ทำหน้าที่ตรงนี้ได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น สุดท้ายแล้วเราจะจัดการชีวิตตัวเองอย่างไรมันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของเราล้วนๆ

ถ้ายอมรับความจริงข้อนี้ได้ เราจะเลิกคาดหวังและหยุดเรียกร้องให้บริษัทมาดูแลเราให้ดีกว่านี้

จริงๆ แล้ว “บริษัท” ไม่มีตัวตนอยู่จริงด้วยซ้ำ มันเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างในจินตนาการของมนุษย์ เป็นเพียงนิทานที่นักกฎหมายแต่งขึ้นมาและเรียกมันว่านิติบุคคล เพื่อใช้มันเป็นเครื่องมือให้คนกลุ่มหนึ่งมาร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง

ดังนั้นบริษัทจึงดูแลเราไม่ได้ มันไม่ได้มีชีวิตจิตใจและไม่มีความสามารถมาดูแลมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ

แน่นอนว่าหัวหน้าและผู้บริหารก็มีหน้าที่ต้องช่วยสอดส่องดูแล แต่อย่าลืมว่าพวกเขาก็เป็นพนักงานคนหนึ่งเหมือนกัน – they have their own battles to fight too.

ดังนั้นเราควรมองเสียว่ามันเป็นอีกด่านหนึ่งในเกม มันคือศาสตร์และศิลป์ที่รอให้เราเรียนรู้และฝึกฝนจนชำนาญ

เพราะเมื่อเกิดเป็นคนทำงาน ก็ต้องหัดเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองครับ