
เพราะถ้าคนในองค์กรไม่เชื่อใจกันมากพอ เราจะพบเห็นสถานการณ์เหล่านี้
- ในที่ประชุมไม่มีใครถาม ไม่มีใครเห็นแย้ง แต่พอออกมานอกห้องก็บ่นกันอุบอิบ
- ในที่ประชุมรับปากกันดิบดี แต่พอถึงเวลาก็ไม่ได้ทำตามที่ตกลงกันไว้
- เวลาเห็นข้อผิดพลาดหรือความบกพร่องของเพื่อนร่วมทีม เราไม่กล้าบอก กลัวทำให้เสียความรู้สึก กลัวเกิดปัญหา เลยเก็บสะสมเอาไว้ พอทนไม่ไหวก็ไปบอกหัวหน้าให้แก้ปัญหาให้หน่อย
- หัวหน้าไม่กล้าไปกินข้าวกับลูกน้อง กลัวถูกหาว่าจะลำเอียง
- เมื่อผลงานของลูกน้องไม่เป็นไปตามความคาดหวัง หัวหน้าไม่กล้าเรียกไปคุยเพื่อให้ปรับปรุงตัว
แล้วเราก็พยายามไปแก้ปัญหาเหล่านี้ที่ปลายเหตุ สร้าง process เพิ่ม ให้ทำรายงานเพิ่ม ให้ทำพรีเซนต์เพิ่ม ซึ่งนอกจากจะไม่สร้างคุณค่าอะไรให้กับลูกค้าและผู้ใช้งานแล้ว ยังเป็นการบั่นทอนศักยภาพและกำลังใจคนทำงานอีกด้วย
หากอยากให้คนในองค์กรเชื่อใจกันมากพอ ต้องเริ่มที่ข้างบนก่อน ผู้บริหารต้องวางตัวและทำตัวให้น่าเชื่อใจ สื่อสารอย่างโปร่งใส ตัดสินใจอย่างมีหลักการ ไม่จำเป็นต้องทำให้ทุกคนแฮปปี้กับการตัดสินใจแต่อย่างน้อยทุกการตัดสินใจต้องมีเหตุผลรองรับที่ดี
เมื่อคนในองค์กรมีความเชื่อใจกันมากพอ เราจะกล้าเถียงกันตรงๆ ปัญหาจะไม่ถูกซุกไว้ใต้พรมแต่จะถูกแก้ที่ต้นเหตุ
และเราทุกคนจะได้ใช้แรงและเวลาไปทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ให้สมน้ำสมเนื้อกับสติปัญญาของเราครับ