สิ่งที่คิดได้และได้คิดในวันที่ชีวิตขึ้นเลขสี่

20200712

ผมเพิ่งจะอายุ 40 ปีไปหมาดๆ จึงอยากจดบันทึกความคิดบางอย่าง ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ เผื่อจะกลับมาอ่านได้ในวันข้างหน้า และเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อบางคนครับ

งาน

รู้สึกว่าการทำงานให้ดีมันมีเคล็ดลับอยู่ไม่กี่อย่าง

หนึ่งคือเราต้องมีความกล้า กล้าที่จะเริ่มลงมือทำ กล้าที่จะถาม กล้าที่จะยอมรับว่าเราไม่รู้ กล้าที่จะยอมรับผิด กล้าที่จะตักเตือนลูกน้อง กล้าที่จะเสนอความคิดเห็นที่ต่างจากหัวหน้าหรือคนอื่นๆ ในห้อง

สองคือเราต้องสื่อสารให้มากๆ สื่อสารว่าเรากำลังทำอะไร เพราะอะไร จะเสร็จเมื่อไหร่ สื่อสารกับทั้งข้างบน ข้างข้าง และข้างล่าง เค้าจะได้ไม่ต้องมาคอยเดาใจเรา และเราจะได้ลดโอกาสหัวเสียที่เขาทำงานไม่ได้ดั่งใจ เพราะส่วนใหญ่ปัญหามันเกิดจากการสื่อสารระหว่างทางไม่ดีเท่านั้นเอง

สามคือลด distractions ให้ได้มากที่สุด ไม่อย่างนั้นเราจะทำงานใหญ่ไม่ได้เลย

เงิน

การมีเงินอาจไม่สามารถซื้อความสุขได้เสมอไป แต่การไม่มีเงินนั้นซื้อความทุกข์ได้แน่นอน

ดังนั้นการมีเงินเป็นเรื่องดี ยิ่งถ้าเรามีเงินเยอะและความต้องการของเราน้อย เราจะสามารถเอาเงินไปทำประโยชน์ได้อีกมากเพราะเราไม่เห็นความจำเป็นต้องสะสม ใครขอความช่วยเหลืออะไรเราก็ให้ได้โดยไม่รู้สึกเสียดายและไม่เบียดเบียนตัวเราเองด้วย

โยงไปที่เรื่องการซื้อของ ราคาของของที่เราซื้อมันไม่ใช่แค่ราคาที่อยู่บนป้ายเท่านั้น แต่มันยังมีราคาของ “ที่ว่าง” ในบ้านของเราด้วย ยิ่งเราซื้อของเข้าบ้าน ที่ว่างในบ้านยิ่งน้อยลง และเมื่อไม่มีที่ว่าง ของหลายอย่างก็จะถูกกองรวมกันไว้ไม่ต่างอะไรกับกองขยะ

สร้างความสัมพันธ์กับเงินให้ถูกต้องแล้วเงินจะเป็นข้ารับใช้ที่ดี ถ้าความสัมพันธ์กลับหัวกลับหางเมื่อไหร่ เราจะเอาสิ่งที่มีค่าที่สุดไปแลกกับสิ่งที่มีคุณค่าน้อยกว่า นั่นคือการเอา “เวลาในชีวิตของเรา” ไปแลกกับเงิน ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นแค่สิ่งสมมติ เป็นแค่เรื่องราวที่เราเอาไว้เล่าให้ตัวเองและคนอื่นๆ ฟังว่าเรามีตัวเลขในบัญชีเท่านั้นเท่านี้ แต่จริงๆ มันแทบไม่ได้มีผลอะไรต่อคุณภาพชีวิตเราโดยรวมเลย

ลูกๆ

พอครอบครัวมีฐานะ ลูกได้เรียนโรงเรียนเอกชน สิ่งที่เป็นห่วงที่สุดตอนนี้คือกลัวลูกจะไม่รู้จักความลำบาก ตอนนี้เขาอยากซื้ออะไรเราก็ซื้อให้ได้ ร้อนก็เปิดแอร์ได้ อยากทำอะไรก็มีพี่เลี้ยงช่วยทำให้ ในฐานะพ่อแม่เราต้องคอยหักห้ามใจตัวเองไม่ตามใจลูกจนเกินไป และต้องหากิจกรรมที่ทำให้เขาได้สร้างความคุ้นเคยกับความยากลำบากเสียบ้าง

ส่วนเรื่องการเลือกโรงเรียนให้ลูกตอนนี้ก็เน้นใกล้บ้านไว้ก่อน พอถึงวัยประถมปลายหรือมัธยมค่อยดูกันอีกที แต่หวังว่าเมื่อถึงตอนนั้นผมกับแฟนจะมีเวลามากพอที่จะสอนการบ้านและนั่งคุยกับลูก ซึ่งสำคัญกว่าการเลือกโรงเรียนเสียอีก

คู่ครอง

ความหนุ่มสาวอยู่กับเราได้ไม่นาน ต่อให้ภรรยาสวยแค่ไหน สุดท้ายก็จะเคยชินหรือโรยราอยู่ดี

ดังนั้นคู่ครองที่ดีคือคนที่เราสามารถคุยได้โดยไม่เบื่อ คุยได้ทุกเรื่อง แต่ก็ปล่อยให้ต่างฝ่ายต่างมีพื้นที่ส่วนตัวด้วยเช่นกัน เราควรมีแนวทางคล้ายๆ กัน เช่นการหาเงินและการจ่ายเงิน การทำงาน การเลี้ยงลูก เรื่องพวกนี้ถ้าเห็นไม่ตรงกันจะสร้างความกังวลได้ไม่น้อย

พ่อแม่

หากมีพ่อแม่ที่ยังแข็งแรงดีอยู่ถือเป็นพรอันประเสริฐ

พ่อกับแม่ผมยัง active ยังมีงานให้ทำ ยังมีกิจกรรมให้ไปร่วมอยู่เรื่อยๆ ก็เลยไม่แก่

การที่ผมกับน้องชายตัดสินใจซื้อบ้านให้พ่อกับแม่มาอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันเป็นการตัดสินใจที่ดี เพราะพ่อแม่ได้แวะเวียนมาเจอหน้าหลานๆ แทบทุกวัน แต่พวกเขาก็ยังมีพื้นที่ส่วนตัวที่บ้านของตัวเองได้ ซึ่งพื้นที่ส่วนตัวที่ว่านี้มันหายไปตั้งแต่ตอนผมเกิด และเพิ่งได้กลับมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

ครอบครัว

การมีคนในครอบครัวอยู่ใกล้ๆ กันนั้นสร้างความอุ่นใจที่มีเงินเท่าไหร่ก็ซื้อไม่ได้

น้องชายกับน้องสะใภ้ก็อยู่หมู่บ้านเดียวกัน ลูกๆ ของพวกเราอยู่โรงเรียนเดียวกันก็เลยผลัดกันรับส่งกันได้ พี่ชายของภรรยาผมก็ขึ้นมาพักกับเราที่กรุงเทพอยู่เรื่อยๆ เป็นอีกคนที่ให้คำปรึกษาได้เสมอ

การอ่านหนังสือ

ปีนี้ทดลองเปลี่ยนยุทธศาสตร์การอ่านหนังสือเล็กน้อย คืออ่านหนังสือจากคนๆ เดียวกัน 3 เล่มติดกัน โดยหวังว่าจะได้ “อ่านระหว่างหนังสือ” ซึ่งเป็นขั้นกว่าของการ “อ่านระหว่างบรรทัด” จะได้เข้าใจความมุ่งหมายของนักเขียนคนนั้น

ตอนต้นปีผมอ่านหนังสือชุดมูซาชิของอาจารย์สุวินัย ภรณวลัย

ช่วงปิดโควิดผมอ่าน Fooled by Randomness, The Black Swan และ Antifragile ของ Nassim Nicholas Taleb

ตอนนี้กำลังอ่านงานของ Robert Greene – 48 Laws of Power, Mastery, และ The Laws of Human Nature

ช่วงที่อ่านหนังสือของคนไหน ผมก็จะอ่านและฟังคำสัมภาษณ์ของคนๆ นั้นด้วย เพื่อให้เข้าใจตัวตนของเขาในบริบทอื่นๆ มากขึ้น

ขับรถเดี๋ยวนี้สิ่งที่ฟังเยอะที่สุดคือ Youtube Premium ค่าสมัครรายปีนั้นถูกมากเมื่อเทียบกับ content มากมายมหาศาลที่มีที่เราสามารถโหลดมาฟัง offline ได้เลยแถมยังเปิดไปหน้าจออื่นโดยที่วีดีโอไม่หยุดเล่นอีกด้วย

เคยพยายามฟังหนังสือเสียงของ Storytel ซึ่งย่อมเยาว์กว่า Audible แต่รู้สึกว่ามันไม่เข้าหัว ไม่สามารถรักษาสมาธิได้ตลอดรอดฝั่งได้

เคยลองใช้ book summary services อย่าง Blinkist, Headway และ 12min แต่ก็ค้นพบว่าไม่อาจทดแทนหนังสือจริงได้ ตอนนี้เลยเลิกใช้ไปแล้ว

อีกสองไอเดียเกี่ยวกับการอ่านหนังสือผมได้มาจาก Nassim Taleb

ไอเดียแรกคือให้จดเอาไว้ว่าวันนี้อ่านหนังสือไปได้กี่นาที สัปดาห์นึงอยากอ่านหนังสือให้ได้สัก 5 ชั่วโมง (Taleb อ่านหนังสือสัปดาห์ละ 20-30 ชั่วโมงมาหลายสิบปีแล้ว)

ส่วนไอเดียที่สอง คืออ่านเฉพาะหนังสือเก่าเกิน 10 ปีเท่านั้น เพราะหนังสือใหม่ๆ มีความเสี่ยงที่มันจะไม่ได้ดีขนาดนั้น แต่หนังสือเล่มไหนที่อยู่มาเป็นสิบหรือเป็นร้อยปีแล้วยังมีคนอ่านอยู่ แสดงว่าคุณค่าของมันได้รับการรับรองจากวันเวลาแล้ว

การนอนหลับ

การนอนหลับให้เพียงพอคือ productivity hack ที่หลายคนละเลย เมื่อเรานอนเพียงพอ เราจะรู้สึกว่าอะไรก็สู้ไหว เมื่อเรานอนไม่พอ เจออะไรหน่อยเดียวก็ท้อแล้ว

แนะนำให้อ่านหนังสือ Why We Sleep ของ Matthew Walker ที่มีแปลเป็นไทยแล้วโดยสำนักพิมพ์ Bookscape อ่านแล้วจะไม่อยากอดนอนอีกเลย

การกินอาหาร

อาหารคือสิ่งที่จะกลายมาเป็นเลือดเนื้อของเรา เราจึงควรทานของที่มีประโยชน์ และไม่ควรทานเยอะเกินไป พออายุมากขึ้น เราไม่ได้ต้องการปริมาณอาหารเท่ากับตอนเป็นวัยรุ่นแล้ว ดังนั้นต้องยกเลิกความเคยชินข้อนี้ ทานให้เกือบอิ่ม พอผ่านไปซัก 10 นาทีมันจะอิ่มพอดี

การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายเป็นมิติที่สำคัญน้อยที่สุดต่อสุขภาพเมื่อเทียบกับการนอนหลับและการกินอาหาร

ช่วงนี้ออกกำลังกายด้วยการวิ่งเป็นหลัก สัปดาห์ละ 3 ครั้ง

วันอังคารวิ่งระยะทาง D ที่เพซ P

วันพฤหัสบดีวิ่งระยะทาง D/2 ที่เพซ P-30

วันเสาร์วิ่งระยะทาง 2D ที่เพซ P+30

ยกตัวอย่างเช่น

วันอังคารวิ่ง 8 กิโล เพซ 6
วันพฤหัสบดีวิ่ง 4 กิโล เพซ 5’30
วันเสาร์วิ่ง 16 กิโล เพซ 6’30

วันอื่นๆ ก็ให้ร่างกายได้พัก เก่งขึ้นช้าหน่อยดีกว่าหักโหมจนเจ็บยาว

ตัวผมเองอยากรักษาวินัยให้สามารถจบมาราธอนได้ปีละครั้ง และถ้าโชคดีไม่บาดเจ็บและไม่เบื่อไปเสียก่อน ก็หวังว่าจะจบมาราธอนแบบ sub-4 ได้สักครั้งก่อนอายุ 45

การจดบันทึก

การจดไดอารี่ทำให้เรามีเวลาอยู่กับตัวเอง และได้จดสิ่งที่เราจะลืมในอีกไม่ช้า เพราะความจำเราแย่มาก มื้อเที่ยงเมื่อวันจันทร์ที่แล้วกินอะไรยังจำไม่ได้เลย ดังนั้นเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้วหลายเดือนหรือหลายปีเราจะลืมมันไป 90% แต่ถ้าจดเอาไว้ แม้จะไม่ต้องยาวมาก แต่ก็จะช่วยให้เราเห็นว่าช่วงเวลานั้นเรากำลังคิดอะไรและทำอะไรอยู่

ผมเขียนไดอารี่ลงโปรแกรม notepad พยายามทำเป็นสิ่งแรกตอนเปิดคอมขึ้นมา โดยจะใส่ไว้ด้วยว่าเขียนจากที่ไหน ใช้เวลาเขียน 1-3 นาทีเท่านั้นเอง

การเขียนบล็อก

เป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่ดีที่สุด ตอนนี้ก็ลุ้นอยู่ว่าตัวเองจะเขียนเรื่องที่ลึกซึ้งมากขึ้นให้สมกับอายุอานามรึเปล่า อยากให้บล็อกนี้มีความคิดที่เติบโตทันผู้อ่านด้วย ส่วนเรื่องตัวเลขคนไลค์เพจนั้นเลิกให้ความสำคัญไปนานแล้ว เรื่องการบู๊สต์โพสต์ก็เลิกทำไปนานแล้วเหมือนกัน เพราะรู้แล้วว่าไม่ได้เปิดเพจมาเพื่อบรรลุหรือพิชิตตัวเลขใดๆ ก็แค่อยากเขียนให้คนที่เลือกจะติดตามเราเท่านั้นเอง

การอ่านข่าว

ผมแทบไม่อ่านข่าวเลย ยิ่งได้อ่านหนังสือของ Nassim Taleb ก็ยิ่งตอกย้ำความเชื่อว่าการรู้ข่าวสารมากไปจะทำให้เราหลงทางเสียเปล่าๆ เพราะหนังสือพิมพ์ต้องพยายามสร้าง “story” เพื่อมาเติมเนื้อหาให้เต็มหน้ากระดาษ ส่วนสื่อออนไลน์ก็จำเป็นต้องสร้าง traffic

ข่าวส่วนใหญ่จึงเป็น noise ถ้าเราเสพข่าวเยอะ signal to noise ratio ของเราจะต่ำมาก แถมเราจะคิดว่าเราเข้าใจอะไรได้ดีทั้งๆ ที่จริงๆ เราอาจไม่ได้เข้าใจมันหรอก หรือถ้าเข้าใจจริงๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องที่สลักสำคัญอะไร มีอย่างอื่นที่น่าอ่านมากกว่านี้เยอะ เช่นหนังสือที่เก่ากว่า 10 ปีและการอ่านใจตนเอง

การศึกษาตนเอง

คุณพศิน อินทรวงค์กล่าวไว้ว่าคนเราเติบโตได้สามมิติ คือทางกาย ทางความคิด และทางจิตวิญญาณ คนส่วนใหญ่ละเลยการเจริญเติบโตทางจิตวิญญาณทั้งๆ ที่มันเป็นทางตรงที่สุดในการเข้าถึงความสุขที่ทุกๆ คนก็ใฝ่หากัน

ตั้งแต่มีลูก ผมพร่องเรื่องการเจริญสติไปไม่น้อย แต่เมื่ออายุครบ 40 ขวบปี ก็ตั้งปณิธานไว้ว่าจะกลับมาจริงจังกับเรื่องนี้อีกครั้ง กลับมาเท่าทันความคิดตนเอง มีสติอยู่กับลมหายใจ กับการเคลื่อนไหวร่างกาย

40 คือการเริ่มต้นสู่วัยชรา ดังนั้นการอยู่กับตัวเอง การเห็นความคิดของตัวเอง การมีเมตตาต่อตนเองและผู้อื่น เป็นทักษะที่จะจำเป็นอย่างยิ่งในอนาคตอันไม่ไกล ในวันที่เราถอดหัวโขน ในวันที่เราเป็น nobody ในวันที่เราเจ็บป่วย การเข้าใจตัวเองและเข้าใจธรรมชาติของชีวิตจะเป็นเกราะคุ้มครองให้เราผ่านมันไปได้

ความมุ่งหวังต่อจากนี้

หวังว่าจะทำงานได้เต็มที่โดยไม่ต้องพยายาม อยากให้การทำงานด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาเป็นธรรมชาติของตัวเอง

หวังว่าจะมีวิชาตัวเบา มีศักยภาพสูงแต่ภาระน้อย เหมือนหงอคงกับคุริลินที่ถอดกระดองเต่าออกไปแล้ว

หวังว่าจะมีส่วนร่วมในการสร้างองค์กรที่เราอยู่ให้เป็นองค์กรที่ครบเครื่องทั้งในแง่ผลประกอบการและความสุขของคนทำงาน

หวังว่าจะผลิตงานใหม่ๆ ที่สร้างประโยชน์และสร้างความสุขให้กับคนที่เสพ

หวังว่าจะมีเงินพอที่จะดูแลคนที่เรารักและทำสิ่งที่เรารัก

หวังว่าจะมีเวลาพอที่จะนั่งคุยกับลูก นั่งคุยกับภรรยา นั่งคุยกับพ่อแม่ นั่งคุยกับปราชญ์

หวังว่าจะมีสติพอที่จะคอยเตือนตัวเองให้ไม่ลืมว่าเรามาทำอะไรที่นี่

—–

บทความอื่นๆ ที่เขียนตอนวันเกิด

ครึ่งทาง https://anontawong.com/2015/07/10/half-way/

50 บทเรียน https://anontawong.com/2017/07/10/50-lessons/