“เมื่อนกไซตัวน้อยสร้างรังในป่าลึก ก็ไม่ต้องการกิ่งไม้มากไปกว่าหนึ่งกิ่ง เมื่อตัวตุ่นดื่มน้ำจากท้องธาร ก็ไม่ต้องการน้ำมากไปกว่าหนึ่งอิ่มท้อง”
– จาก “หนังสือจวงจื่อ”
ข้าวหนึ่งจานทำให้ยาจกและเศรษฐีอิ่มท้องได้เท่ากัน
แต่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวที่จินตนาการถึงอนาคตได้ แถมระบอบทุนนิยมก็ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่า “พรุ่งนี้จะโตกว่าวันนี้” เราจึงใช้ความเจริญเติบโตในอนาคตมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของวันนี้ และสร้างโลกที่มีเงินล้นโลกในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งยังไม่มีจะกิน (อ่านเพิ่มได้ใน Sapiens ตอนที่ 16 สวัสดีทุนนิยม)
แต่ไม่มีสิ่งใดจะโตได้ตลอดไป แถมวิมานที่เราเคยวาดไว้อาจเป็นเพียงปราสาททรายที่ทรุดพังได้ง่ายกว่าที่คิด
จึงไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะกลับมาศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ว่าด้วยการทำอะไรที่พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน โดยมีคุณธรรมและความรู้กำกับ
เพราะที่ผ่านมาเราอาจใช้แต่เพียงความรู้เป็นตัวนำ แต่ขาดไปซึ่งความพอดีและความมีเหตุผล แถมภูมิคุ้มกันที่ตัวเองคิดว่ามีกลับเป็นภูมิคุ้มกันหลอกๆ โดนไวรัสสายพันธุ์ใหม่สะกิดนิดเดียวก็แทบล้มทั้งยืน
อยากเติบโตไม่ว่ากัน แต่ก็ต้องมองให้เห็นว่าการเติบโตมีหลายมิติ และในบางมิติมันก็วัดเป็นตัวเลขไม่ได้
สุดท้ายแล้ว ตัวตุ่นก็ไม่ได้ต้องการน้ำมากไปกว่าหนึ่งอิ่มท้อง เราไม่ได้ต้องการข้าวมากไปกว่ามื้อละจาน ปัจจัยสี่ และการพักผ่อนที่เพียงพอ
เกินกว่านั้นคือความหรูหราและความสะดวกสบายที่เราอาจใช้เวลามากเกินไปเพื่อให้ได้มาครับ
—–
“ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมวางแผงแล้วนะครับ ถ้าช่วงนี้ไม่สะดวกไปร้านหนังสือ ก็ซื้อได้ที่ whatisitpress.com ครับ
ติดตาม Anontawong’s Musings ทาง LINE: https://lin.ee/2VZMu59