ต้องออกตัวก่อนว่าพี่แท็บ รวิศ หาญอุตสาหะ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เป็นผู้มีอุปการคุณต่อบล็อก Anontawong’s Musings
เพราะหนังสือ คิดจะไปดวงจันทร์ อย่าหยุดแค่ปากซอย ของพี่แท็บ และหนังสือ มองไกลบนไหล่ยักษ์ ของพี่บอย วิสูตร แสงอรุณเลิศ ทำให้ผมลุกขึ้นมาเขียนบล็อกอย่างจริงจังในวันขึ้นปีใหม่ 2015
ไม่มีหนังสือคิดจะไปดวงจันทร์ฯ ก็คงไม่มีบล็อก Anontawong’s Musings
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของงานเขียนพี่แท็บคือเขาจะมีเรื่องราวจากเมืองนอกมาให้ฟังเยอะมาก
ชุดความรู้ใหม่ๆ คำศัพท์แปลกๆ หรือคำที่กำลังอินเทรนด์ในหมู่ฝรั่ง ล้วนถูกกล่าวถึงในหนังสือทั้ง 6 เล่มของพี่แท็บมาหมดแล้ว
ในหนังสือ Super Productive ก็เช่นกัน มีการอ้างอิงถึงบทความใน Harvard Business Review อยู่หลายบท หลายเรื่องจึงเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยได้อ่านจากที่อื่นมาก่อน
หนังสือเล่มเล็กกว่าที่คาด อ่านจบได้เร็วกว่าที่คิด เนื้อหาอาจจะไม่ได้ตรงปกขนาดนั้น เพราะพอเห็นคำว่า Super Productive ก็ย่อมนึกว่าหนังสือจะพูดถึงการทำยังไงถึงจะขยัน สร้างสรรค์ และทำอะไรเสร็จได้อย่างมากมาย ซึ่งหนังสือไม่ได้กล่าวถึงวิธีการเหล่านี้เท่าไหร่ แต่มุ่งเน้นไปที่ “ภาพใหญ่” และ “กรอบความคิด” มากกว่า
หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะกับผู้บริหารที่ต้องขบคิดว่าจะนำพาองค์กรไปอย่างไร มากกว่าเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงาน
และนี่คือเนื้อหาบางส่วนจาก Super Productive ครับ
ว่าด้วยเรื่อง รู้อะไรให้กระจ่างแต่อย่างเดียว
เราควรจะรู้ลึก (specialist) หรือ รู้รอบ (generalist) ดี?
หนังสือบอกว่า ในธุรกิจที่ชุดความรู้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่นไบโอเมทริกซ์ ถ้าเราเป็น generalist อาจจะตามไม่ทันเพราะพื้นฐานความรู้ของเราไม่แน่นพอ ดังนั้นเราควรจะเป็น specialist มากกว่า
แต่สำหรับธุรกิจที่การเปลี่ยนแปลงไม่รุนแรงนัก หรือธุรกิจที่ผ่านจุดสูงสุดมาแล้วอย่างน้ำมันหรือเหมืองแร่ การ “รู้รอบ” หรือ generalist นั้นน่าจะมีประโยชน์กว่า เพราะต้องอาศัยความรู้จากศาสตร์แขนงอื่นๆ มาพลิกแพลงให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้
ว่าด้วยเรื่อง ความเป็นผู้นำ
มีคนกล่าวไว้ว่า Leaders are surrounded by walls, mirrors and liars ผู้นำนั้นมักจะถูกรายล้อมไปด้วยกำแพง กระจก และคนประจบสอพลอ ดังนั้นเราต้องฟังให้มาก โดยระลึกเสมอว่าฟีดแบ็คคือของขวัญที่ห่อด้วยกระดาษที่มีหนาม
ว่าด้วยเรื่อง Burnout
แยกให้ออกว่าเรากำลัง burnout จริงกับ burnout ปลอม!
แม้กระทั่ง Rawit ที่ super productive ก็ burnout กับการเขียนหนังสือเล่มนี้ แต่มารู้ทีหลังว่าเป็น burnout ปลอมเพราะเลือกเขียนหนังสือตอนเย็นๆ ในช่วงที่ร่างกายแบตหมด พอวันรุ่งขึ้นมานั่งเขียนใหม่มันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น
สิ่งที่ต้องระวังคือคนที่เจอ burnout ปลอมแล้วดันเปลี่ยนชีวิตตัวเองแบบสุดขั้ว เช่นเบื่องานเลยลาออกไปเดินทางรอบโลก ซึ่งอาจจะทำให้ปัญหาแย่กว่าเดิม
เราจะไม่ burnout กับงานที่ทำแล้วสนุก ดังนั้นจงหาวิธีทำให้งานปัจจุบันสนุกขึ้นดูก่อน เช่นเจ้าของร้านอาหารคนนึงเกิดหมดไฟอยากจะปิดร้าน แต่โชคดีแฟนช่วยดึงสติ และเสนอว่าลองหาทางทำให้ลูกค้าชมว่า “อร่อยมากๆ” ให้ได้วันละ 10 คน ถ้าทำ 6 เดือนแล้วยังรู้สึกหมดไฟจะปิดร้านก็ไม่ว่ากัน สุดท้ายเจ้าของร้านก็กลับมามีไฟอีกครั้งเพราะสนุกกับการ “เก็บแต้ม” (ภาษาฝรั่งเรียกวิธีการนี้ว่า gamification คือการเปลี่ยนงานหรือกระบวนการให้มีความคล้ายเกมมากขึ้น)
ว่าด้วยเรื่อง การคิดนอกกรอบ
ธุรกิจทั่วไป จะทำของออกมาก่อน แล้วบวก margin ว่าต้องการกำไรเท่าไหร่เพื่อตั้งเป็นราคาขาย
แต่ Ikea ตั้งต้นจากราคาที่คนอยากจะซื้อ แล้วค่อยหาทางทำสินค้าในต้นทุนที่จะมีกำไรได้
ครั้งหนึ่งทีมงานได้รับโจทย์ให้ผลิตโต๊ะที่สามารถขายได้ในราคา 5 ยูโร (200 บาท) แล้วยังต้องมีกำไร ซึ่งพวกเขาก็ดั้นด้นหาวิธีการจนได้ แถมยังเป็นวิธีการที่นึกไม่ถึงเสียด้วย
ว่าด้วยเรื่อง Transformation
(Tranformation เป็น buzzword ที่เราได้ยินมาสัก 5 ปีแล้ว หลายองค์กรตั้งทีม tranformation ขึ้นมา ซึ่งเราบอกเจาะจงไม่ได้หรอกว่าทำอะไรบ้าง รู้แค่ว่าต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น)
แต่ tranformation นั้นเป็นเรื่องการเมืองมากกว่าที่คิด เพราะในห้องประชุมไม่มีใครหรอกที่จะบอกว่าตัวเองต่อต้านการเปลี่ยนแปลง แต่ลับหลังพวกเขาจะไปหาวิธีต่อต้านไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
เราจึงต้องระบุให้ได้ว่าใครที่ต่อต้าน ใครที่สนับสนุน จะทำยังไงให้คนต่อต้านอ่อนแรง และให้คนที่สนับสนุนมีแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยหนึ่งในวิธีการคือเปลี่ยนแปลงจาก “ทีมชายขอบ” ก่อน ธุรกิจหลักยังคงดำเนินไปตามเดิม แต่ทีมชายขอบค่อยๆ แข็งแรงขึ้นจนกลายมาเป็นธุรกิจหลักได้ในที่สุด
ว่าด้วยเรื่อง monopoly
องค์กรที่ประสบความสำเร็จมากๆ ต้องมีความผูกขาดตลาดประมาณหนึ่ง ไม่ใช่ผูกขาดด้วยสัมปทานหรืออำนาจรัฐ แต่ผูกขาดเพราะว่าเขาดีกว่าคู่แข่งชนิดทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่น ตัวอย่างเช่น Google ที่ผูกขาดเรื่อง search หรือ Lego ที่ผูกขาดของเล่นประเภทตัวต่อ
การที่เราจะผูกขาดได้ ต้องเริ่มจากตลาดเล็กๆ ก่อน หา niche ของตัวเองให้เจอ ยึดครองตลาดเล็กนั้นให้ได้ แล้วค่อยขยายไปยึดตลาดอื่นๆ ต่อ
ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ เช่น
- ความหมายที่แท้จริงของ workalholic
- การสร้าง”เรื่องเล่า” ให้กับเพชร ซึ่งโดยแท้จริงแล้วไม่ใช่อัญมณีที่มีค่าขนาดนั้น จนเพชรกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของรักนิรันดร์ที่มีราคาสูงลิบลิ่ว
- ความแตกต่างระหว่าง owed respect กับ earned respect และเหตุใดองค์กรต้องบาลานซ์สองอย่างนี้ให้ดี
- คำถามเด็ดๆ ในการสัมภาษณ์คนที่มาสมัครงานกับเรา
ขอบคุณพี่แท็บและสำนักพิมพ์ Koob ที่คลอดหนังสือเล่มนี้ออกมา
รออ่านเล่มต่อไปอยู่นะครับ!