เมื่อวานนี้ผมได้มีโอกาสไปพูดในงานประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ จัดโดยกรมสุขภาพจิต ในหัวข้อเรื่อง บริหารอย่างไรให้ได้ใจและได้งาน
หนึ่งในประเด็นในการพูดคุยกัน คือเราจะสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานได้อย่างไร ผมแนะนำไปว่ามี 4 เรื่องคือ autonomy, mastery, meaning และ relationship
Autonomy คือพนักงานควรจะมีอิสรภาพประมาณหนึ่ง เช่นอาจจะไม่กะเกณฑ์เวลาเข้างาน อาจจะเลือกได้ว่าจะทำงานนี้ด้วยวิธีไหน ฯลฯ
Mastery คือคนทำงานแล้วต้องรู้สึกว่าตัวเองเก่งขึ้น
Meaning คือเขาต้องรู้สึกว่างานนั้นมีคุณค่าและมีความหมาย
Relationship คือเขาควรจะมีความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้า รู้สึกได้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่
และผมย้ำว่าทั้ง 4 เรื่องนี้ไม่ต้องใช้เงิน แต่ต้องใช้ความกล้า ความเคารพ และการสื่อสาร
อย่างเรื่อง meaning อาจจะเป็นการยากที่พนักงานจะเห็นว่างานที่เขาทำอยู่มันไปเชื่อมโยงกับภาพใหญ่อย่างไรบ้าง ในฐานะหัวหน้าเราต้องพยายามชี้ให้เขาเห็นให้ได้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมีความหมายและมีประโยชน์ต่อชีวิตผู้คนอย่างไร
พอเขาเข้าใจและค้นพบความหมายของงานชิ้นนั้น เขาจะยอมทุกข์ยอมเหนื่อยไปกับมัน เพราะมันเป็นความทุกข์ที่เข้าใจได้
แต่อย่าให้เขาทำงานที่มันไม่เมคเซ้นส์ หรืออย่าให้เขาทำงานโดยไม่สื่อสารว่าทำไปเพื่ออะไร ไม่อย่างนั้นมันจะเกิดคำถามตลอดเวลาว่าทำไปทำไม ทำไปทำไม ทำไปทำไม – กลายเป็นความทุกข์ที่เข้าใจไม่ได้
อย่างผมเองก็มีความทุกข์ในฐานะพ่อลูกอ่อน ไม่เคยนอนเต็มอิ่มมาหลายปีแล้ว แต่มันเป็นความทุกข์ที่เข้าใจได้ ไม่เคยมีคำถามว่าทำไมต้องตื่นมาตอนกลางดึกบ่อยๆ
คนเราวิ่งหนีความทุกข์ก็จริง แต่หากมันมีความทุกข์ที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างน้อยก็ขอให้มันเป็นความทุกข์ที่เข้าใจได้ เราจะได้อยู่กับมันอย่างสันติ
แต่ถ้าเราปล่อยให้ลูกน้องต้องอยู่กับความทุกข์ที่เข้าใจไม่ได้ หรือแม้กระทั่งเราเองก็เข้าใจไม่ได้ นั่นแสดงว่ามีใครซักคนไม่ได้ใช้ความคิดเท่าที่ควรแล้วล่ะครับ
รับบทความทางไลน์ได้ทุกวันที่ bit.ly/tgimline